นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า เป้าหมายการจัดเก็บรายได้ตามเอกสารงบประมาณ ปี 2567 ของกรมสรรพากรอยู่ที่ 2.276 ล้านล้านบาท ซึ่งกรมสรรพากรยืนยันว่า ทำได้ตามเป้าหมายแน่นอน โดยล่าสุด ผลการจัดเก็บรายได้ 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566- มิถุนายน 2567) ของกรมสรรพากร เกินเป้าหมาย 0.5% ถือว่าจัดเก็บด้ตามเป้า
“ตอนนี้ยอดการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร 9 เดือนสามารถทำได้ตามเป้าหมาย ส่วนเวลาที่เหลืออีก 3 เดือนก่อนสิ้นสุดปีงบประมาณ 2567 เราก็พยายามอย่างเต็มที่ โดยความท้าทาย คือ ยังมีเรื่องของบางธุรกิจยังมีการชะลอตัว ดังนั้น เราก็พยามยามดูเรื่องของผู้ประกอบการที่ไม่ได้อยู่ในระบบภาษีอย่างถูกต้อง ก็จะพยายามดึงเข้ามาให้ได้มากที่สุด”
ทั้งนี่ ที่ผ่านมากรมสรรพากร ได้ทำการส่งจดหมายแจ้งเตือนไปยังผู้ประกอบการที่มีธุรกรรมมากกว่าปกติ เช่น มีรายได้เกิน 2-3 ล้านบาทต่อปี ไม่ได้ยื่นแบบภาษี และก็ไม่ได้เข้ามาจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็นต้น เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้ามาจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย
สำหรับปี 2567 กรมได้ส่งจดหมายถึงผู้ประกอบการประมาณ 1 แสนราย ซึ่งผู้ประกอบการก็มีคนที่ตอบรับกลับมาประมาณ 50% และได้รายได้เพิ่มขึ้นจากส่วนนี้เฉลี่ยถึงปีละ 2,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่ยังไปได้ดี ทำให้กรมสรรพากรจัดเก็บรายได้ดี คือ เซกเตอร์พลังงาน ธนาคาร และที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว รวมถึงการบริการ ไม่ว่าจะ ธุรกิจโรงแรม หรือร้านอาหาร ส่วนเซกเตอร์ที่ยังไม่ค่อยดี คือภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งหวังว่าจากที่รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาออกมานั้น จะช่วยให้ภาคส่วนนี้ดีขึ้น
ขณะที่ภาพรวมของประเภทภาษีบุคคลธรรมดา ภาษีนิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ก็ยังทำได้ตรงเป้าทั้งหมด นอกจากนี้ แนวโน้มของการนำเข้าที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบการค่าเงินบาทที่อ่อนตัว ทำให้ยอดการจัดเก็บ VAT จากมูลค่าการนำเข้าดีขึ้น
“ในส่วนของการเก็บภาษี VAT ในช่วงต้นปีที่ยังไม่ค่อยดีนั้น ถูกฉุดจากตัว VAT การนำเข้าเป็นสำคัญ และช่วงนี้ VAT จากการนำเข้าก็กลับมาดีขึ้นแล้ว ส่วนVAT การบริโภคภายในประเทศยังดีต่อเนื่อง”
ส่วนกรณีที่ การปรับปรุงแก้ไขกำหนดหลักเกณฑ์กฎหมายจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากสินค้านำเข้าสินค้าราคาไม่เกิน 1,500 บาท จากเดิมที่ยกเว้นนั้น ไม่ได้เป็นการทำเพื่อเพิ่มรายได้ภาษีให้รัฐบาล แต่เพื่อสร้างสมดุล และความเป็นธรรมให้ผู้ประกอบการไทย และผู้ประกอบการต่างประเทศ ทั้งนี้ จากตัวเลขของกรมศุลกากร คาดว่าจะจัดเก็บรายได้ที่ ปีละ 1,500 ล้านบาท
“กระบวนการแก้ไขกฎหมายประมวลรัษฎากร ยืนยันว่าดำเนินการเสร็จทันตามกำหนดแน่นอน คือจะเสนอการแก้ไขประมวลรัษฎากรในปี 2567 และเริ่มใช้ได้ในปี 2568”
นอกจากนี้ ในปีนี้ กรมยังมีแผนที่จะแก้ไขกฎหมายประมวลรัษฎากร เรื่องการเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 41 หรือการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีมีเงินได้จากแหล่งเงินได้นอกประเทศ ว่าหากนำรายได้ดังกล่าวเข้าประเทศจะต้อนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ด้วย