จากสถานการณ์ตลาดอสังหา ริมทรัพย์ชะลอตัว กำลังซื้อในประเทศ เปราะบาง สถาบันการเงินเข้มงวดสินเชื่อ โดยมีผลพวงมาจากหนี้ครัวเรือนสูงต่อเนื่อง ส่งผลให้รัฐบาลเร่งยื่นมือเข้ามาแก้ปัญหาแบบรอบด้าน เพื่อพยุงเศรษฐกิจ ให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยในงานสัมมนา “พัฒนาตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย ให้ก้าวไกลอย่างยั่งยืน” ซึ่งจัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี บริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด (EnCo) ถึงสถานการณ์ท้าทายของตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยที่ไทยกำลังเผชิญขณะนี้ พร้อมนำเสนอแผนฟื้นฟูแบบรอบด้าน มุ่งแก้ปัญหาทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ระบุว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญความท้าทาย โดย GDP ลดลงจาก 6% เมื่อ 20 ปีก่อน เหลือเพียง 1.9% ในปี 2566 และคาดการณ์ว่าในปีนี้จะอยู่ที่ 2.5% ซึ่งตลาดอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศและเชื่อมโยงไว้กับหลายภาคส่วน เช่น การก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ และการออกแบบ ซึ่งใช้เงินลงทุนมาก
อย่างไรก็ตาม นายพิชัยยังมองเห็นศักยภาพในการพัฒนาของประเทศไทย โดยชี้ให้เห็นถึงปัจจัยสำคัญสองประการ ได้แก่ พื้นที่กว่า 300 ล้านไร่ที่ยังสามารถพัฒนาได้ในอนาคต และทำเลที่ตั้งของประเทศที่เป็นจุดเชื่อมต่อกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ซึ่งหากได้รับการจัดการที่ดี จะสามารถสร้างโอกาสในการพัฒนาด้านต่างๆ ได้
ทว่า ปัจจุบัน ภาคอสังหาริมทรัพย์กำลังเผชิญกับความท้าทายทั้งฝั่งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ โดยฝั่งผู้บริโภคพบปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลง สะท้อนจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลคงค้างทั่วประเทศที่มีมูลค่าสูงถึง 4.95 ล้านล้านบาท โดยมีสัดส่วนหนี้ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ หรือ Special Mention (SM) ที่ค้างชำระ 1-3 เดือนอยู่ที่ 5% และมีหนี้เสีย หรือ NPL 3.5% ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อนที่มี NPL เพียง 2.3% และ SM อยู่ที่ 1.5%
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการก็กำลังเผชิญปัญหายอดขายที่ลดลง 20-30% ต่อเดือน และสต๊อกคงเหลือกว่า 200,000 หน่วยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องและการดำเนินธุรกิจ
เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว รัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ โดยฝั่งผู้บริโภค ได้ผลักดันให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ขยายระยะเวลาการกู้ถึงอายุ 80-85 ปี เพื่อลดภาระการผ่อนชำระรายเดือน โดยหวังเป็นต้นแบบให้ธนาคารพาณิชย์เป็นแนวทางในการปล่อยสินเชื่อ
อีกทั้งจะมีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อพิจารณาผ่อนปรนมาตรการ LTV (Loan-to-Value) โดยมองว่า ขณะนี้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งมีความแข็งแกร่งทางการเงิน และมีการตั้งสำรองหนี้เป็นศูนย์ ซึ่งรัฐบาลหวังว่าจะได้เห็นความร่วมมือระหว่างธนาคารพาณิชย์และธนาคารแห่งประเทศไทยในการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาสินเชื่อที่อยู่อาศัย
นอกจากนี้ ในส่วนของการกระตุ้นตลาดและช่วยเหลือผู้ประกอบการ รัฐบาลมีแผนดึงชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ไทย โดยพิจารณาขยายระยะเวลาเช่าเป็น 99 ปี ร่วมกับการใช้กฎหมาย “ทรัพย์อิงสิทธิ์” ให้สิทธิใช้ที่ดินแก่ชาวต่างชาติ โดยคนไทยยังคงมีกรรมสิทธิ์ ภายใต้เงื่อนไขการกำหนดราคาและโซน การเพิ่มภาษีค่าโอน และข้อห้ามในการทำเกษตรกรรม ทั้งนี้ยังเป็นการแก้ปัญหาการจดทะเบียนของชาวต่างชาติในการซื้ออสังหา ริมทรัพย์ที่อยู่ใต้ดิน ให้ขึ้นมาบนดินอย่างถูกต้องตามกฎหมายเช่นกัน