คลังชงครม.ออก “ซอฟต์โลนออมสิน” 1 แสนล้าน สัปดาห์หน้า

12 ก.ค. 2567 | 09:56 น.
อัพเดตล่าสุด :12 ก.ค. 2567 | 09:56 น.

คลังชงครม.ออก “ซอฟต์โลนออมสิน” 1 แสนล้าน สัปดาห์หน้า เร่งคลอดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แก้หนี้ประชาชน-เกษตรกร

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์หน้า จะมีการเสนอโครงการสินเชื่อซอฟต์โลน วงเงิน 1 แสนล้านบาท ที่ดำเนินการโดยธนาคารออมสิน เข้าพิจารณา หลังเลื่อนการพิจารณามา

ทั้งนี้ เนื่องจากต้องขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันจะเสนอโครงการสลากเกษียณให้พิจารณาด้วย หากดำเนินการเสร็จทัน

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วนนั้น จะมีการพิจารณามาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชน และการช่วยเหลือภาคการเกษตร  ซึ่งเป็นสองในหลายๆ มาตรการที่คาดว่าจะออกมาช่วยเหลือประชาชนในช่วงนี้ 

ทั้งนี้ ในวันที่ 15 ก.ค.นี้ จะมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ ที่มี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการ ซึ่งหากมาตรการใดสามารถมีข้อสรุป ก็จะนำเสนอให้ครม.พิจารณาได้เลย 

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

“เราดูหลายกลไกที่จะเข้าไปช่วยเหลือประชาชน รวมถึงมาตรการที่จะเข้าไปช่วยในแต่ละกลุ่ม อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องรอผลสรุปจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง“

ส่วนมาตรการช่วยเหลือประชาชน จะนำออกมาใช้ในช่วงเวลาใดนั้น ขึ้นอยู่กับจังหวะและความเหมาะสม ซึ่งบางมาตรการอาจมีข้อจำกัด บางมาตรการเป็นอำนาจของรัฐมนตรีสั่งการ หรือบางมาตรการอาจจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมาย 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้แก่ มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่มีทั้งมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง โดยลดค่าโอนจากร้อยละ 2 เหลือ 0.01 และลดค่าจำนองจากร้อยละ 1 เหลือ 0.01

และมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นเวลา 3 ปี สำหรับผู้ประกอบการที่สร้างที่อยู่อาศัยในราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท รวมถึงมาตรการสินเชื่อจาก ธอส. ซึ่งจากเดือนเมษายนที่ครม.ได้อนุมัติมาตรการนี้จนถึงปัจจุบัน สามารถสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแล้ว 6.5 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ครม.ที่ผ่านมายังได้อนุมัติโครงการปุ๋ยคนละครึ่ง เพื่อช่วยเหลือชาวนา โดยออกค่าซื้อปุ๋ยให้ชาวนาไร่ละ 500 บาท ไม่เกินรายละ 20 ไร่ สำหรับฤดูการผลิต 2024/2025ซึ่งต้องใช้งบประมาณเกือบ 3 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ชาวนาในประเทศไทยมีราว 4 ล้านครัวเรือน