รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ รวม 6 คน เพื่อทดแทนประธานและคณะกรรมการชุดเดิมที่สิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งครบวาระ 4 ปี
ทั้งนี้การแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ รวม 6 คน ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป มีรายชื่อดังนี้
- นายพสุ โลหารชุน ประธานกรรมการ
- นางสาวประชุม ตันติประเสริฐสุข กรรมการผู้แทนสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย)
- นางสาวปนิษฐา บุรี กรรมการผู้แทนสมาคมการแสดงสินค้า (ไทย)
- นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ กรรมการผู้แทนสมาคมโรงแรมไทย
- นายยุทธศักดิ์ สุภสร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
- นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
สำหรับประวัตินายพสุ โลหารชุน ประธานบอร์ด ทีเส็บ คนใหม่ เกิดเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2502 ซึ่งก่อนหน้านี้เคยนั่งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ดทีเส็บชุดเดิม
ประวัติการศึกษา
- ปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต (วิศวกรรมศาสตร์ไฟฟ้า) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ปริญญาโท วิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต (วิศวกรรมศาสตร์อุตสาหการ), Polytechnic Institute of New York, USA.
- ปริญญาเอก วิศวกรรมศาสตร์ดุษฏีบัณฑิต (วิศวกรรมศาสตร์อุตสาหการและการวิจัยการดําเนินงาน), Virginia Polytechnic Institute and State University, USA
ประวัติการทำงาน
- ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
- อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
- รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (ด้านอํานวยการ) กระทรวงอุตสาหกรรม
- รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม
- รองเลขาธิการสํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
ส่วนอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการดำเนินงานของสำนักงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ รวมทั้งกำหนดนโยบายการบริหารงาน และให้ความเห็นชอบแผนการดำเนินงานของสำหนักงาน
รวมถึงมีอำนาจอนุมัติแผนการลงทุนและแผนการเงินของสำนักงาน และสามารถควบคุมการดำเนินงานและการบริหารงานทั่วไป และออกระเบียบข้อบังคับ ประกาศหรือข้อกำหนดเกี่ยวกับสำนักงาน ดังนี้
- การบริหารงานทั่วไปของสำนักงาน การจัดแบ่งส่วนงานของสำนักงานและขอบเขตหน้าที่ของส่วนงานดังกล่าว
- การกำหนดตำแหน่ง คุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง อัตราเงินเดือน ค่าจ้างและเงินอื่นของพนักงานและลูกจ้าง
- การคัดเลือก การบรรจุ การแต่งตั้ง การประเมินผลงาน การถอดถอน วินัยและการลงโทษทางวินัย การออกจากตำแหน่ง การร้องทุกข์และการอุทธรณ์การลงโทษของพนักงานและลูกจ้าง รวมทั้ง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจ้างลูกจ้าง
- การบริหาร และจัดการการเงิน การพัสดุ และทรัพย์สินของสำนักงานรวมทั้งการบัญชีและการจำหน่ายทรัพย์สินจากบัญชีเป็นสูญ
- การจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นแก่พนักงานและลูกจ้าง
- ขอบเขตอำนาจหน้าที่และระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจสอบภายใน
- การกระทำอื่นใดที่จำเป็นหรือต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของสำนักงาน