"เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า" ฉุดดึงดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมร่วง 3 เดือนติด

17 ก.ค. 2567 | 05:45 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.ค. 2567 | 05:45 น.

"เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า" ฉุดดึงดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมร่วง 3 เดือนติด ระบุปรับตัวลดลงทุกองค์ประกอบ ทั้งยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2567 ว่า อยู่ที่ระดับ 87.2 ปรับตัวลดลงจาก 88.5 ในเดือนพฤษภาคม 2567 โดยปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของดัชนีฯ พบว่า ปรับตัวลดลงทุกองค์ประกอบ ทั้งยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ โดยมีปัจจัยลบจากเศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวช้า จากอุปสงค์ในประเทศที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึงขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคยังอ่อนแอ จากปัญหาหนี้เสีย (NPL) ที่เร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย รถยนต์ บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล 

ส่งผลให้การบริโภคในประเทศชะลอลง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการ SMEs ประสบปัญหาสภาพคล่อง ขาดเงินหมุนเวียนในกิจการ และเข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้น เนื่องจากสถาบันการเงินมีความระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อ นอกจากนี้ ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเรือขนส่งสินค้ายังเป็นปัญหาต่อเนื่อง ทำให้ค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ความไม่แน่นอนทางการเมือง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ
 

อย่างไรก็ตาม ในเดือนมิถุนายน ยังมีปัจจัยสนับสนุนมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศช่วง Low season และมาตรการฟรีวีซ่าช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่การขยายตัวของอุปสงค์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ อาเซียน อินเดีย และจีนที่เริ่มฟื้นตัว ตลอดจนการอ่อนค่าของเงินบาท ส่งผลดีต่อภาคการส่งออก

"เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า" ฉุดดึงดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมร่วง 3 เดือนติด

จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,341 ราย ครอบคลุม 46 กลุ่มอุตสาหกรรมของส.อ.ท. ในเดือนมิถุนายน 2567 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมัน 62.4% ,เศรษฐกิจในประเทศ 63.4% และสถานการณ์การเมืองในประเทศ 49.4% 

ส่วนปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ เศรษฐกิจโลก 61.9% ,อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 57.1% และอัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ 35.1%  
 

ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 93.4 ปรับตัวลดลง จาก 95.7 ในเดือนพฤษภาคม 2567 ต่ำสุดในรอบ 33 เดือน นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านต้นทุนประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ขณะที่ความไม่แน่นอนของปัญหาทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน และห่วงโซ่การผลิตในตลาดโลก นอกจากนี้ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ – จีน รอบใหม่ จากการที่สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มเติม อาจทำให้สินค้าจากจีนเข้ามาแข่งขันในไทยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ปี 2567 ช่วยหนุนเศรษฐกิจให้เติบโต

นายเกรียงไกร กล่าวต่ออีกว่าข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ประกอบด้วย

  • เสนอให้ภาครัฐหาแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ รวมถึงค่าระวางเรือ (Freight) และค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม (Surcharge) ต่างๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้นในทุกเส้นทาง อาทิ ออกมาตรการอุดหนุนค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งให้กับผู้ประกอบการ SMEs
  • เสนอให้ภาครัฐออกมาตรการป้องกันสินค้าต่างชาติที่เข้ามาทุ่มตลาดในประเทศ เพื่อลดผลกระทบให้กับผู้ประกอบการ ตลอดจนส่งเสริมให้มีการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศ (Made in Thailand หรือ MiT) 
  • เร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐให้ได้ตามเป้าหมาย และให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณากำหนดระยะเวลาการส่งมอบงานให้เร็วขึ้น เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายได้ทันภายในเดือนกันยายน 2567