นายสราวุธ สราญวงศ์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า สำหรับความคืบหน้ากรณีที่สหภาพฯคัดค้านแก้ไขลงนามสัญญารถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ปัจจุบันทางสหภาพฯ ยังไม่ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการแก้ไขสัญญาดังกล่าวต่อองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT และหน่วยงานอื่นๆ
ทั้งนี้ในปัจจุบันสหภาพฯอยู่ระหว่างรอความชัดเจนและเงื่อนไขการพิจารณาของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในการลงนามแก้ไขสัญญาฯ ตลอดจนประเด็นที่เอกชนยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนรอบ 2 จากคณะกรรมการส่งเสริมด้านการลงทุน (บีโอไอ) ก่อน
นายสราวุธ กล่าวต่อว่า ตามสัญญาเดิมโครงการนี้ได้ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อปี 2562 แต่ปัจจุบันโครงการฯกลับล่าช้าเพียงเพราะเอกชนไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผน เป็นเหตุให้โครงการดีเลย์มา 5 ปี ถือเป็นการเสียโอกาส หากมีการลงนามแก้สัญญาในครั้งนี้เชื่อว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชน
“ทางสหภาพฯ มองว่ารฟท.ควรเป็นผู้ดำเนินการเอง ซึ่งสามารถก่อสร้างโครงการในรูปแบบรถไฟทางคู่เชื่อมสนามบินอู่ตะเภาได้โดยไม่จำเป็นต้องก่อสร้างในรูปแบบรถไฟไฮสปีด”
ที่ผ่านมาทางสหภาพฯได้หารือร่วมกับสมาพันธ์คนงานรถไฟถึง 2 ประเด็นในสัญญา ดังนี้
1.การแก้ไขสัญญา ผ่อนผัน จ่ายค่าโอนสิทธิบริหารโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จำนวน 7 งวด พร้อมดอกเบี้ย จากเดิมที่ต้องชำระเป็นเงินก้อนเดียว 10,671 ล้านบาท
2.การส่งมอบพื้นที่และเวนคืนที่ดินของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน