วันที่ 23 กรกฎาคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติการใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เนื้อที่รวมประมาณ 1,537-3-04 ไร่ และโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม เนื้อที่รวมประมาณ 1,917-3-75 ไร่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
น.ส.เกณิกากล่าวว่า คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) รายงานว่าการดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ของรฟท. ทั้ง 2 โครงการ เป็นโครงการที่ครม.ได้เคยมีมติอนุมัติให้ดำเนินการแล้ว โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
1.โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เป็นโครงการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่สายใหม่ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด 17 อำเภอ 59 ตำบล แบ่งเป็นทางรถไฟระยะทาง 323.10 กิโลเมตร อุโมงค์รถไฟจำนวน 4 แห่ง รวม 14.415 กิโลเมตร
คันทางคู่สูงเฉลี่ย 4 เมตร ป้ายหยุดรถไฟจำนวน 13 แห่ง สถานีรถไฟขนาดเล็ก จำนวน 9 แห่ง และสถานีรถไฟขนาดใหญ่ จำนวน 4 แห่ง รวมทั้งทั้งสิ้น 6 สถานี ลานบรรทุกตู้สินค้าจำนวน 5 แห่ง ถนนยกข้ามทางรถไฟ จำนวน 39 แห่ง ถนนลอดใต้ทางรถไฟจำนวน 103 แห่ง พร้อมการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม และสร้างรั้วสองแนวข้างทางตลอดเส้นแนวทางรถไฟ
ต่อมา รฟท. ได้ลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการดังกล่าวจำนวน 3 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย และสัญญาที่ 3 เชียงราย-เชียงของ พื้นที่ของโครงการที่ต้องขอความยินยอมหรือขออนุญาตใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน 1,537-3-04 ไร่
2.โครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม เป็นโครงการก่อสร้างทางรถไฟใหม่จำนวน 2 เส้นทาง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด 19 อำเภอ 70 ตำบล โดยแบ่งเป็น 1. ทางรถไฟระดับดินระยะทาง 346 กิโลเมตร คันทางรถไฟสูงเฉลี่ย 4 เมตรและ 2. เป็นโครงสร้างทางรถไฟยกระดับ 9 กิโลเมตร ก่อสร้างป้ายหยุดรถไฟจำนวน 12 แห่ง สถานีรถไฟขนาดเล็ก จำนวน 9 แห่ง สถานีรถไฟขนาดกลาง จำนวน 5 แห่ง และสถานีรถไฟขนาดใหญ่ จำนวน 4 แห่ง รวมทั้งทั้งสิ้น 18 สถานี
มีลานบรรทุกตู้สินค้า จำนวน 3 แห่ง มีย่านกองเก็บตู้สินค้า จำนวน 3 แห่ง ถนนยกข้ามทางรถไฟ จำนวน 81 แห่ง ถนนลอดใต้ทางรถไฟ จำนวน 245 แห่ง พร้อมการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมมนาคม และสร้างรั้วสองแนวข้างทางตลอดเส้นแนวทางรถไฟ ซึ่งต่อมา รฟท.ได้ลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการดังกล่าวจำนวน 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 บ้านไผ่-หนองพอก และสัญญาที่ 2 หนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3 พื้นที่ของโครงการที่ต้องขอความยินยอมหรือขออนุญาตใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน 1,917-3-75 ไร่
น.ส.เกณิกากล่าวว่า การดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟของ รฟท. ทั้ง 2 เส้นทางจะต้องเข้าดำเนินการในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเนื้อที่รวมประมาณ 3,455-2-79 ไร่ โดย รฟท.ซึ่งเป็นผู้ประสงค์จะใช้ที่ดินจะต้องยื่นคำขอรับความยินยอมหรือขออนุญาตใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินต่อ คปก.ก่อนส่งมอบพื้นที่ให้แก่ผู้รับจ้างเข้าดำเนินการก่อสร้าง
ทั้งนี้ ก่อนที่ คปก. จะพิจารณาให้ความยินยอมหรืออนุญาตให้ใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะต้องดำเนินการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อมีมติอนุมัติให้ใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อดำเนินโครงการดังกล่าวก่อน เพื่อให้ คปก.สามารถพิจารณาให้ความยินยอมหรืออนุญาตให้ รฟท.ใช้ที่ดินตามที่กฎหมายกำหนดให้ดำเนินโครงการดังกล่าวสัมฤทธิ์ผลและเป็นไปตามแนวนโยบายของรัฐต่อไป
น.ส.เกณิกากล่าวว่า จากการดำเนินโครงการดังกล่าวส่งผลให้รัฐต้องสูญเสียที่ดินเพื่อการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมบางส่วน และส่งผลต่อเกษตรกรผู้ได้รับการจัดที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม แต่ในขณะเดียวกัน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จะให้ รฟท. ซึ่งเป็นผู้ขอใช้ประโยชน์ที่ดิน เยียวยาหรือจ่ายค่าชดเชยการสูญเสียโอกาสจากการใช้ที่ดินเพื่อก่อสร้างทางรถไฟให้แก่เกษตรกรที่ได้รับการจัดสรรที่ดินจาก ส.ป.ก.ตามข้อตกลงระหว่าง รฟท.กับเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบ
น.ส.เกณิกากล่าวว่า ซึ่งกำหนดเป็นจำนวนเงินหรือประโยชน์อย่างอื่นเพื่อค่าทดแทนความเสียหายจากการรอนสิทธิเกษตรกร หรือการสูญเสียโอกาสในการใช้ที่ดินของเกษตรกรบรรดาผู้มีสิทธิในที่ดินนั้น และเมื่อได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินตามกฎหมายแล้ว รฟท. จะต้องนำส่งค่าตอบแทนใช้ประโยชน์ที่ดินให้กับ ส.ป.ก. เพื่อนำเข้ากองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฏหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
น.ส.เกณิกากล่าวว่า โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ตามระเบียบ คปก. ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการใช้และค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินพ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดย ส.ป.ก. จะนำค่าตอบแทนดังกล่าวมาใช้เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและประชาชนในเขตปฏิรูปที่ดินต่อไป