ผ่าบอร์ดปราบโกงเงินดิจิทัล เปิดเช็กลิสต์ทุจริตโครงการรัฐยุควิกฤตโควิด

24 ก.ค. 2567 | 08:16 น.
อัพเดตล่าสุด :24 ก.ค. 2567 | 08:46 น.

ผ่าบอร์ดปราบโกงเงินดิจิทัล 10000 บาท รอง ผบ.ตร. - ผู้ช่วย ผบ.ตร.นั่งหัวโต๊ะ ผู้บัญชาการตำรวจไซเบอร์-ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง มาครบทีม สกัดเงิน 4.5 แสนล้านรั่วไหล เปิดเช็กลิตส์-บัญชีดำ คดีทุจริตโครงการรัฐยุควิกฤตโควิด-19

หนึ่งในเงื่อนไข-คุณสมบัติของผู้มีสิทธิรับแจกเงินดิจิทัล10000 บาท จำนวน 45-50 ล้านคน คือ ต้องไม่เป็นผู้ที่ถูกระงับสิทธิหรือเรียกเงินคืนในมาตรการ/โครงการอื่น ๆ ของรัฐ และไม่เป็นผู้ฝ่าฝืนเงื่อนไขของมาตรการ/โครงการอื่น ๆ ของรัฐ

โดยโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่ประชุม “บอร์ดดิจิทัลวอลเล็ต” ได้มีมติตั้ง “คณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการเงินดิจิทัล” ป้องกัน-ป้องปราม ไม่ให้เงินแผ่นดิน 4.5 แสนล้านบาทรั่วไหล-ไม่ให้ก่อคดีซ้ำรอย  

โดย “บอร์ดปราบโกงดิจิทัลวอลเล็ต” มีหน้าที่และอำนาจ เช่น กำหนดแนวทางการตรวจสอบ พิจารณา และวินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการฯ

รวมถึงการกระทำที่อาจฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบกรณีมีการร้องเรียนเกี่ยวกับการดำเนินการตามโครงการฯ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติ เสนอแนะแนวทางการขับเคลื่อนโครงการฯ ต่อ “บอร์ดดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่” 

โดยมีรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานอนุกรรมการ

มีผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ และผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เป็นอนุกรรมการและเลขานุการร่วม  

ในยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องรับมือกับสถานการณ์วิกฤตโรคระบาด หรือ โควิด-19 ส่งผลกระทบให้ต้องปิดประเทศ-ล็อคดาวน์เศรษฐกิจ กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก ทำให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ขณะนั้นต้องออกมาตรการประคองเศรษฐกิจ ผ่านสารพัดโครงการ อาทิ โครงการเราเที่ยวกัน โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ

ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563  

มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบรายงานผลความคืบหน้าการดำเนินคดีอาญากับผู้เกี่ยวข้องกับการทุจริตในการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ ภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 3 ครั้ง

ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 มีการดำเนินคดีทั้งสิ้นรวม 276 คดี ดังนี้ 

  • โครงการเราเที่ยวด้วยกัน 191 คดี 
  • โครงการคนละครึ่ง 85 คดี 

ทั้งนี้ แยกเป็นคดีที่อยู่ระหว่างสอบสวน 249 คดี สอบสวนเสร็จส่งพนักงานอัยการ 21 คดี ศาลมีคำพิพากษาแล้ว 1 คดี และอื่น ๆ เช่น อยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานอื่น ๆ 5 คดี 

ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565 มีการดำเนินคดีทั้งสิ้น 435 คดี ดังนี้ 

  • โครงการเราเที่ยวด้วยกัน 323 คดี 
  • โครงการคนละครึ่ง 110 คดี 
  • โครงการเราชนะ 2 คดี 

ทั้งนี้แยกเป็นคดีที่อยู่ระหว่างการสอบสวน 363 คดี สอบสวนเสร็จส่งพนักงานอัยการ 37 คดี และอื่น ๆ เช่น ชดใช้ค่าเสียหายก่อนร้องทุกข์และถอนคำร้องทุกข์ 35 คดี 

ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2565 มีการดำเนินคดีทั้งสิ้น 639 คดี ดังนี้ 

  • โครงการเราเที่ยวด้วยกัน 529 คดี
  • โครงการคนละครึ่ง 106 คดี 
  • โครงการเราชนะ 4 คดี 

ทั้งนี้ แยกเป็นคดีที่อยู่ระหว่างสอบสวน 541 คดี สอบสวนเสร็จส่งพนักงานอัยการ 55 คดี และอื่น ๆ เช่น ชดใช้ค่าเสียหายก่อนร้องทุกข์และถอนคำร้องทุกข์ 43 คดี