นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) เปิดเผยถึงกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
- อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มูลค่า 139,725 ล้านบาท
- ยานยนต์และชิ้นส่วน มูลค่า 39,883 ล้านบาท
- เกษตรและแปรรูปอาหาร มูลค่า 33,121 ล้านบาท
- ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ มูลค่า 25,344 ล้านบาท
- ดิจิทัล มูลค่า 25,112 ล้านบาท
ส่วนการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีความสำคัญต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ประกอบด้วย
- กิจการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ได้แก่ การผลิต Wafer ,การออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ ,การประกอบและทดสอบเซมิคอนดักเตอร์และวงจรรวม 10 โครงการ เงินลงทุนรวม 19,543 ล้านบาท
- กิจการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board: PCB) 31 โครงการ เงินลงทุนรวม 39,732 ล้านบาท
- กิจการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ 8 โครงการ เงินลงทุนรวม 38,182 ล้านบาท
- กิจการ Data Center 3 โครงการ เงินลงทุนรวม 24,289 ล้านบาท
- กิจการผลิตเครื่องจักร อุปกรณ์ หรือระบบ Automation 69 โครงการ เงินลงทุนรวม 10,271 ล้านบาท
- กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนหรือขยะ 255 โครงการ เงินลงทุนรวม 72,475 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ยังมีบางกิจการที่เงินลงทุนไม่สูง แต่ส่งผลอย่างมากต่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพราะเป็นกิจการฐานความรู้ และเป็นกิจการสนับสนุนการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เช่น
- กิจการพัฒนาซอฟต์แวร์ แพลตฟอร์มเพื่อให้บริการดิจิทัล หรือดิจิทัลคอนเทนต์ 59 โครงการ เงินลงทุนรวม 812 ล้านบาท
- กิจการสนับสนุนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ การวิจัยและพัฒนา การพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ การออกแบบทางวิศวกรรม บริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ และบริการสอบเทียบมาตรฐาน 13 โครงการ เงินลงทุนรวม 805 ล้านบาท
- กิจการ Smart Farming 3 โครงการ เงินลงทุนรวม 56 ล้านบาท
- กิจการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย 11 โครงการ เงินลงทุน 2,327 ล้านบาท
- กิจการศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (IBC) 19 โครงการ เงินลงทุนรวม 274 ล้านบาท
- กิจการศูนย์จัดหาจัดซื้อวัตถุดิบและชิ้นส่วนระหว่างประเทศ (IPO) 16 โครงการ เงินลงทุนรวม 728 ล้านบาท
นายนฤตม์ กล่าวอีกถึงตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วงครึ่งแรกของปี 67 (ม.ค.-มิ.ย.) ด้วยว่า มีจำนวน 1,412 โครงการ เพิ่มขึ้น 64% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าเงินลงทุนรวม 458,359 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35%
ทั้งนี้ สะท้อนถึงศักยภาพและพื้นฐานที่ดีของประเทศไทย ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อนโยบายรัฐบาล รวมทั้งผลจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอและหน่วยงานภาครัฐ
"ทิศทางการลงทุนในไทยมีแนวโน้มที่ดีและเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้การส่งเสริมการลงทุนเพิ่มสูงขึ้นในทุกขั้นตอน ทั้งการขอรับการส่งเสริม การอนุมัติให้การส่งเสริม การออกบัตรส่งเสริม และเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน"