สภา โหวต อนุมัติ แจก "เงินดิจิทัล" ก้อนแรก 1.22 แสนล้านไม่สะเด็ดน้ำ ทิ้งปม หนี้

31 ก.ค. 2567 | 07:41 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ก.ค. 2567 | 08:13 น.

ก้าวไกลทิ้งปม ลงทะเบียน เงินดิจิทัล เป็นการก่อหนี้ผูกพัน-สัญญา หรือไม่ จุลพันธ์ กาง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ มาตรา 4 เปิดคำนิยาม “หนี้” กดปุ่มใช้สิทธิ แอปทางรัฐ ถือเป็น นิติกรรมร่วมรัฐ-ประชาชน ก่อน สภา โหวต 291 เสียง เห็นด้วย เงินดิจิทัลวอลเล็ต ก้อนแรก 1.22 แสนล้าน

รายงานข่าวจากรัฐสภาแจ้งว่า ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 พ.ศ. .... วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท  (โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต คนละ 10,000 บาท) วาระที่สาม ด้วยคะแนนเห็นด้วย 291 เสียง ต่อ คะแนนไม่เห็นด้วย 161 เสียง ยืนตามร่างฯเดิมของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯพิจารณาเสียงข้างมาก

สภา โหวต อนุมัติ แจก \"เงินดิจิทัล\" ก้อนแรก 1.22 แสนล้านไม่สะเด็ดน้ำ ทิ้งปม หนี้

สำหรับร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 พ.ศ. .... มีทั้งหมด 6 มาตรา ประกอบด้วย

มาตรา 1 พ.ร.บ.นี้เรียกว่า “พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 พ.ศ. ....” 

มาตรา 2 พ.ร.บ.นี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป 

มาตรา 3 งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ให้ตั้งเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 122,000,000,000 บาท จำแนกเป็นรายจ่ายตามที่จะระบุต่อไปในพ.ร.บ.นี้

มาตรา 4 งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมงบกลาง ให้ตั้งเป็นจำนวน 122,000,000,000 บาท จำแนกดังนี้ 

  • ค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ 122,000,000,000 บาท 

มาตรา 5 ให้กระทรวงการคลังมีอำนาจสั่งจ่ายเงินแผ่นดิน ตามรายการและจำนวนเงินที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.นี้ หรือตามที่สำนักงบประมาณจะได้จัดสรร หรือตามที่จะได้มีการโอนเปลี่ยนแปลงตามกฎหมาย 

มาตรา 6 ให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพ.ร.บ.นี้

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 พ.ศ. .... จะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา ก่อนที่จะส่งไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป คาดว่าจะสามารถประกาศใช้ราวกลางเดือนสิงหาคม 2567 

ก่อนหน้านี้นายพิชัย ชุณหวชิร รมว.คลัง ในฐานะประธานกมธ. ฯ ลุกขึ้นอภิปรายเป็นคนแรก ว่า เพื่อส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ต่าง ๆ ลดภาระค่าครองชีพ ยกระดับคุณภาพชีวิต ดำรงชีพและการประกอบอาชีพของประชาชน ควบคู่กับการบริโภคและการลงทุน และความสามารถทางการแข่งขันของประเทศผ่านโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต

นายพิชัยกล่าวว่า โดยร่างกฎหมายดังกล่าว คำนึงถึงกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 แผนนโยบายระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและแผนปฏิบัติราชการของกระทรวง 

นายนพณัฐ มีรักษา ในฐานะกมธ.ฯ สงวนความเห็นอภิปรายมาตรา 3 และขอให้ปรับลดวงเงินจาก 1.22 แสนล้านบาท เหลือ 10,000 ล้านบาท ว่า สิ่งที่ตนกังวลที่สุด คือ ความชอบธรรมด้วยรัฐธรรมนูญ และกฎหมายวินัยการเงินการคลัง ประเด็นเหตุและความจำเป็นของการตรา พ.ร.บ.ฉบับนี้ เนื่องจาก พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังมาตรา 21 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า การออกงบประมาณเพิ่มเติมสามารถกระทำได้ต่อเมื่อมีความจำเป็นใช้เงินระหว่างปีงบประมาณภายในวันที่ 30 กันยายน 2567 

นายนพณัฐกล่าวว่า การที่กระทรวงการคลังอ้างว่าการก่อหนี้ผูกพันสามารถเกิดขึ้นได้ ก็ต้องมีมูลเหตุ “แห่งหนี้” เกิดขึ้นก่อน โดยกระทรวงการคลังพยายามอธิบายว่า การเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนรับสิทธิ เป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ มีคำเสนอ มีคำสนอง เมื่อตรงกันก็เกิดขึ้นเป็นสัญญา เกิดเป็นหนี้ที่ผูกพันงบประมาณขึ้นมา 

นายนพณัฐกล่าวว่า การให้คำอธิบายแบบนี้มีปัญหาอย่างแน่นอน เพราะไม่ใช่สัญญาทุกประเภทจะเป็นบ่อเกิดแห่งหนี้ อีกทั้งเจตนารมณ์ของการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณเพื่อใช้จ่ายข้ามปีตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ มีขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับระบบราชการไทย คือ การจัดซื้อจัดจ้างไปแล้ว การชนะการประมูลไปแล้ว การลงนามในสัญญาไปแล้ว แต่ท้ายที่สุดเบิกจ่ายไม่ทันสิ้นปีงบประมาณ จึงอนุญาตให้มีการผูกพันงบประมาณไปใช้จ่ายหนี้ภายหลัง หรือภายหลังปีงบประมาณได้ เพื่อป้องกันไม่ให้หน่วยงานของรัฐถูกฟ้องจากการผิดนัดชำระหนี้ 

“คำถาม คือ ประชาชนจะฟ้องรัฐบาล ในกรณีผิดนัดชำระหนี้ในสัญญา ไม่แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตได้จริง ๆ หรือไม่ และไปฟ้องได้โดยอาศัยมูลหนี้อะไร”

นายนพณัฐกล่าวว่า ในเรื่องการเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนรับสิทธิและมีการก่อหนี้ผูกพันไม่เคยมีมาก่อน ถ้าหากกระทรวงการคลังจะอ้างว่า การลงทะเบียนรับสิทธิเป็นการทำนิติกรรมสัญญา กระทรวงการคลังต้องตอบให้ได้ชัดเจนว่า เป็น “เอกเทศสัญญา” หรือ เป็นสัญญาที่มีชื่อเรียก ว่า อะไร หากสรุปว่า เป็น “สัญญาให้” เพราะรัฐบาลบอกจะให้เงินประชาชนคนละ 10,000 บาท ไปแบบฟรี ๆ โดยที่ประชาชนไม่ต้องมาใช้เงินคืน ประชาชนไม่ต้องตอบแทนอะไรให้รัฐบาล

“เมื่อเป็น สัญญาให้ ทำให้เกิดปัญหา เพราะ สัญญาให้ เป็นสัญญาที่จะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่จะให้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 523 ดังนั้น ต่อให้รัฐบาลเปิดให้ลงทะเบียน ต่อให้มีการเซ็นชื่อลงในสัญญา แต่ตราบใดที่รัฐบาลยังไม่มีการส่งมอบเงิน ก็ต้องถือว่า สัญญานั้นยังไม่สมบูรณ์ จะไปฟ้องร้องคดีต่อศาลไม่ได้ ซึ่งมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1566/2499 เทียบเคียง”

นายนพณัฐกล่าวว่า ถ้ายืนยันว่าเป็นหนี้จริง ๆ ต้องถามว่า สมมุตรัฐบาลแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตไม่ทัน ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 แปลว่า รัฐบาลผิดนัดชำระหนี้ใช่หรือไม่ แล้วประชาชนผู้มีสิทธิ 50 ล้านคน หรือ ประชาชนที่ไปลงทะเบียน มีสิทธิไปฟ้องร้องบังคับให้รัฐบาลต้องจ่ายเงิน 10,000 บาทใช่หรือไม่

ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะกมธ.ฯ เสียงข้างมาก ใช้สิทธิชี้แจงว่า รัฐบาลมีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลยืนยันความจำเป็นต้องมีเม็ดเงินที่จะเติมลงไปกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลยืนยันว่าดำเนินการด้วยความรอบคอบและยืนยันว่าจะไม่ทำให้มีวิกฤตเกิดขึ้นจากโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต

นายจุลพันธ์กล่าวว่า เรื่องความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ประเด็นการใช้จ่ายงบประมาณเพิ่มเติมซึ่งอาจจะมีการเบิกจ่ายภายในไตรมาสสี่ ปี 67 สอดคล้องกับกฎหมายหรือไม่นั้น พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 21 กำหนดให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ให้กระทำได้เมื่อมีเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องใช้จ่ายเงินระหว่างปีงบประมาณ โดยไม่สามารถรองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไปได้ และให้ระบุที่มาของเงินที่จะใช้จ่ายตามงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมด้วย

นายจุลพันธ์กล่าวว่า ขณะที่ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ มาตรา 4 ได้กำหนดนิยามของคำว่า “หนี้” หมายถึง ข้อผูกพันที่จะต้องจ่ายหรืออาจจะต้องจ่ายเป็นเงิน สิ่งของ หรือบริการ ไม่ว่าจะเป็นข้อผูกพันนั้น จะเกิดจากการกู้ยืม การค้ำประกัน การซื้อหรือการจ้าง โดยใช้เครดิตหรือเกิดจากการใดก็ตาม 

“ดังนั้น การก่อหนี้ผูกพันจึงไม่ได้มุ่งหมายเฉพาะกรณีมีข้อผูกพันที่ต้องจ่ายเป็นที่แน่นอนแล้วเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงข้อผูกพันที่อาจจะต้องจ่ายด้วย ซึ่งการดำเนินการของรัฐ อาจไม่มีการทำสัญญากับประชาชนโดยตรง แต่อาจจะดำเนินการในรูปแบบของแผนงาน โครงการ”

นายจุลพันธ์กล่าวว่า ประกอบกับพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ มาตรา 40 กำหนดให้การจ่ายเงินหรือก่อหนี้ผู้พันของหน่วยงานรับงบประมาณต้องเป็นไปตามแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณที่ได้รับความเห็นชอบจากผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ 

นายจุลพันธ์กล่าวว่า ดังนั้น การที่รัฐบาลทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตและให้ประชาชนลงทะเบียน โดยมีการยืนยันตัวตนของประชาชนกลุ่มเป้าหมายจึงเป็นข้อผูกพันที่ต้องจ่าย หรืออาจจะต้องจ่ายแล้วว่าด้วยกฎหมายเรื่องหนี้ 

“เป็นเรื่องของการเสนอและสนอง เมื่อประชาชนกดปุ่มขอใช้สิทธิในโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท คือ การเสนอให้กับรัฐ เมื่อรัฐยืนยันสิทธิประชาชน คือ การสนองตอบตามข้อสัญญานั้นก็มีนิติกรรมร่วมกันระหว่างประชาชนกับรัฐ เปรียบเทียบกับโครงการอื่น ๆ ในอดีตของรัฐก็เป็นเช่นเดียวกัน คือ การตั้งงบประมาณไว้รอเพื่อทำสัญญากับภาคเอกชนหรือประชาชน”

ขณะที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้แปรญัตติมาตรา 3 ปรับลดเหลือ 10,000 ล้านบาท อภิปรายประเด็นเรื่อง “หนี้” ว่า ตามที่นายจุลพันธ์ ระบุว่า หนี้เกิดขึ้นได้ 4 ประเภท กู้ ค้ำ ซื้อ และจ้างโดยใช้เครดิตหรือจากวิธีการอื่นใด ซึ่งไม่มีข้อไหนที่บอกว่า การลงทะเบียนจะเข้านิยามของหนี้ตามพ.ร.บ.วิธีงบประมาณ มาตรา 4 ยกเว้น “จากการอื่นใด”

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า อย่างไรก็ตามจะเป็นหนี้ได้ก็ต้องมีระเบียบออกมารองรับต่อเนื่องออกไปอีก ซึ่งจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานผิด ๆ ในอนาคต  สรุปแล้วเป็น หนี้ หรือเป็นสัญญาประเภทใด ซึ่งไม่มีหน่วยงานใดที่ตอบได้ว่า เป็นสัญญาเอกเทศประเภทใด 

“ถ้าเป็นสัญญาให้ ไม่ถือว่าเป็นการก่อหนี้ มันฟ้องร้องกันไม่ได้”