คำถามที่พบบ่อย แอปทางรัฐ เงินดิจิทัล 10,000 บาท ตอบทุกข้อสงสัยอ่านด่วน

01 ส.ค. 2567 | 01:33 น.

คำถามที่พบบ่อย แอปทางรัฐ เงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ลงทะเบียนวันสุดท้าย คือ วันที่ 15 กันยายน 2567 ตอบทุกข้อสงสัย

วันนี้ 1 สิงหาคม 2567 เป็นวันแรกที่ กระทรวงการคลัง เปิดให้ผู้ที่มีสมาร์ทโฟนลงทะเบียนประชาชนสำหรับเข้าร่วมโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐ Government Super App ลงทะเบียนวันสุดท้าย คือ วันที่ 15 กันยายน 2567

ล่าสุด สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ผู้พัฒนาแอปทางรัฐ ได้ออกมาเปิดเผยเรื่อง ระบบลงทะเบียนประชาชนสำหรับเข้าร่วมโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet

ผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐ Government Super App ดังนี้

ขั้นตอนการลงทะเบียนประชาชนสำหรับเข้าร่วมโครงการฯ ผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐ

คำถาม ประชาชนสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ได้อย่างไร

คำตอบ ประชาชนสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ได้ที่แอปพลิเคชันทางรัฐ โดยสามารถดาวน์โหลดได้ที่ App Store และ Google play

คำถาม ขั้นตอนการ Download (สำหรับประชาชนที่ไม่เคยติดตั้งแอปพลิเคชัน) ทำได้อย่างไร

คำตอบ ผู้ใช้งานที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ iOS

1. เปิดแอปพลิเคชัน “App Store”
2. กดปุ่มแว่นขยายเพื่อค้นหาแอปพลิเคชัน
3. พิมพ์ “ทางรัฐ”
4. กดปุ่ม “ติดตั้ง” หรือ “Install”

ผู้ใช้งานที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android

1. กดปุ่ม “ติดตั้ง” หรือ “Install”
2. เปิดแอปพลิเคชัน “Google play”
3. กดปุ่มแว่นขยายเพื่อค้นหาแอปพลิเคชัน
4. พิมพ์ “ทางรัฐ”

คำถาม สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ผ่านเว็บไซต์ได้หรือไม่

คำตอบ ไม่ได้

คำถาม ประชาชนกลุ่มเปราะบาง เช่น คนชรา ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ ผู้ไม่มีสมาร์ตโฟน สามารถรับสิทธิ์ได้อย่างไร

คำตอบ ในระยะแรก ประชาชนต้องลงทะเบียนโครงการเติมเงิน 10,000 บาทฯ ผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐบนสมาร์ตโฟนเท่านั้น รัฐบาลจะประกาศรายละเอียดเพิ่มเติมสำหรับประชาชนที่ไม่มีสมาร์ตโฟนต่อไป

คำถาม ขั้นตอนการลงทะเบียนประชาชนสำหรับเข้าร่วมโครงการ ดำเนินการได้อย่างไร

คำตอบ ประชาชนสามาถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ผ่าน แอปพลิเคชันทางรัฐ โดยมีขั้นตอนการดำเนินการ หรือ User Journey ดังนี้

คำถามที่พบบ่อย แอปทางรัฐ เงินดิจิทัล 10,000 บาท ตอบทุกข้อสงสัยอ่านด่วน

 

สามารถดำเนินการลงทะเบียนโครงการฯ ผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐโดยมีขั้นตอนดังนี้

1. ดำเนินการพิสูจน์และยืนยันตัวตน (KYC) ผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐโดยดำเนินการตามกระบวนการของแอปพลิเคชันทางรัฐ
โดยก่อนวันที่ 1 สิงหาคม 2567 ประชาชนสามารถดำเนินการพิสูจน์และยืนยันตัวตน (KYC) ได้ตามขั้นตอน

ขั้นตอนสมัครใช้งานแอปฯทางรัฐ

ทั้งนี้หลังจากวันที่ 1 สิงหาคม 2567 ประชาชนสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐได้ดังนี้

1. ขั้นตอนการลงทะเบียนรับสิทธิในกรณที่ท่านยังไม่ได้เป็นสมาชิกของแอปพลิเคชันทางรัฐ

ในกรณีที่ประชาชนที่ยังไม่เคยสมัครสมาชิกแอปพลิเคชันทางรัฐ ท่านสามารถเข้าสู่กระบวนการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯได้ตามขั้นตอนด้านล่าง

1. คลิกปุ่ม “ลงทะเบียนรับสิทธิโครงการฯ”​ ที่หน้าแรกของแอปพลิเคชันทางรัฐ
2. อ่านและยอมรับเงื่อนไขโครงการฯ
3. กรอกข้อมูลส่วนบุคคลให้ตรงตามบัตรประชาชน
4. ดำเนินการตามคำแนะนำเพื่อถ่ายรูปใบหน้าเพื่อใช้ในการยืนยันอัตลักษณ์
5. ระบบจะรับข้อมูลเพื่อตรวจสอบกับฐานข้อมูลทะเบียนราษฏร์ และแจ้งผลการตรวจสอบผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐ (ในขั้นตอนนี้ท่านสามารถปิดหน้าจอ และกลับเข้ามาตรวจสอบสถานะได้ในภายหลัง)
6. กรณีที่ข้อมูลส่วนบุคคล หรือผลการแสกนหน้าไม่ตรงกับฐานข้อมูลทะเบียนราษฏร์ ระบบจะแสดงข้อแนะนำเพื่อให้ท่านปฏิบัติตามแก้ไขและดำเนินการอีกครั้ง
7. เมื่อการตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคล หรือผลการแสกนหน้าถูกต้องสมบูรณ์ ระบบจะแสดงหน้าจอให้ท่านกรอกข้อมูลเพื่อสร้างบัญชีผู้ใช้ (บัญชีผู้ใช้, รหัสผ่าน และ PIN)
8. ถึงขั้นตอนนี้ถือว่าการลงทะเบียนเข้าโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาทเสร็จสิ้น และระบบจะนำข้อมูลส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสิทธิตามเงื่อนไข ท่านสามารถกลับเข้ามาตรวจสอบสถานะได้โดยใช้ข้อมูลบัญชีผู้ใช้ที่ท่านสร้างในขั้นตอนที่ 7

2. ขั้นตอนการลงทะเบียนรับสิทธิในกรณีที่ท่านเป็นสมาชิกของแอปพลิเคชันทางรัฐ

ในกรณีที่ประชาชนเป็นสมัครสมาชิกแอปพลิเคชันทางรัฐอยู่แล้ว ท่านสามารถเข้าสู่ขบวนการลงทะเบียนเข้าโครงการฯได้ตามขั้นตอนด้านล่าง

1. คลิกปุ่ม “ลงทะเบียนรับสิทธิโครงการฯ” ที่หน้าแรกของแอปพลิเคชันทางรัฐ
2. กดอนุญาตให้แอปพลิเคชันเข้าถึงส่วนบุคคล
3. ระบบอาจให้ท่านแสกนหน้าเพื่อยืนยันอัตลักษณ์ หรือกรอกเบอร์โทรศัพท์ในกรณีที่ข้อมูลส่วนบุคคลของสมาชิกยังไม่สมบูรณ์

3. อ่านและยอมรับเงื่อนไขโครงการฯ

4.  ถึงขั้นตอนนี้ถือว่าการลงทะเบียนเข้าโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาทเสร็จสิ้น และระบบจะนำข้อมูลส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสิทธิตามเงื่อนไขของโครงการฯ ท่านสามารถกลับเข้ามาตรวจสอบสถานะได้โดยใช้ข้อมูลบัญชีผู้ใช้ของท่าน

คำถาม ข้อมูลส่วนบุคคลไม่ตรงกับทะเบียนราษฏร์ในขั้นตอนที่ 2 (ตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคล) จะต้องทำอย่างไร

คำตอบ ให้ตรวจสอบข้อมูลให้ตรงกับบัตรประชาชนและกดดำเนินการอีกครั้ง

1. เลขบัตรประชาชน
2. เลขหลังบัตรประชาชน (Laser code)
3. ชื่อจริงภาษาไทย ตามบัตรประชาชน
4. นามสกุลภาษาไทย ตามบัตรประชาชน
5. วันเดือนปีเกิด (พ.ศ.) ตามบัตรประชาชน (หากไม่มีวัน เดือนเกิดให้ระบุ – )

คำถาม กรณีแสกนหน้าเพื่อยืนยันอัตลักษณ์ไม่ผ่านในขั้นตอนที่ 2 (ตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคล) จะต้องทำอย่างไร

คำตอบ ในกรณีระบบแจ้งผลการยืนยันใบหน้าไม่ตรงกับฐานข้อมูลทะเบียนราษฏร์ ให้ท่านทำตามคำแนะนำในการถ่ายรูปอย่างเคร่งครัด

– ให้เห็นใบหน้าชัดเจน
– จัดวางใบหน้าให้อยู่ในกรอบที่กำหนด
– อยู่ในที่ซึ่งมีแสงสว่างเพียงพอ

หากใบหน้าปัจจุบันมีความแตกต่างจากรูปบนบัตรประชาชนค่อนข้างมาก ซึ่งอาจเกิดจาก อ้วนขึ้น หรือ ผอมลง หรือมีการทำศัลยกรรม กรุณาติดต่อหน่วยสำนักงานเขต หรือจุดบริการในการทำบัตรประชาชนใหม่เพื่อปรับปรุงรูปใบหน้าในฐานข้อมูลทะเบียนราษฏร์

คำถาม ไม่ได้รับ OTP หลังจากยืนยันเบอร์มือถือต้องทำอย่างไร

คำตอบ โปรดตรวจสอบเบอร์โทรศัพท์ที่ระบุให้ถูกต้อง และยืนยันเบอร์โทรศัพท์อีกครั้งหนึ่ง หากคุณยังไม่ได้รับรหัส OTP ผ่าน SMS ภายใน 5 นาที กรุณากลับมาทำรายการอีกครั้งในภายหลัง 1-2 ชั่วโมง

คำถาม จะทราบได้อย่างไรว่าการลงทะเบียนเสร็จสมบูรณ์

คำตอบ สถานะการลงทะเบียนโครงการฯ เสร็จสมบูรณ์ต่อเมื่อผู้ใช้ถูกพาเข้าสู่ขั้นตอนที่ 3 ตรวจสอบสิทธิโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

* ความหมายคือทำการตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคล และยืนยันอัตลักษณ์ พร้อมกับการสร้างบัญชีผู้ใช้ (บัญชีผู้ใช้, รหัสผ่าน และ PIN) เสร็จสมบูรณ์

คำถาม ลืมรหัสผ่านต้องทำอย่างไร

คำตอบ ผู้ใช้งานสามารถกดปุ่มลืมรหัสผ่านที่หน้าจอเข้าสู่ระบบของแอปพลิเคชัน และดำเนินการต่อด้วยบัตรประชาชน และการกรอกข้อมูลเลขประจำตัวบัตรประชาชน ตามขั้นตอน และกดไปหน้าถัดไปพร้อมเลือกช่องทางสำหรับตั้งรหัสผ่านใหม่ได้ 2 ช่องทางคือ ตั้งรหัสผ่านใหม่ทางโทรศัพท์มือถือ หรือตั้งรหัสผ่านใหม่ทาง บัตรประชาชน

คำถาม หากทำการลบแอปพลิเคชัน หรือเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือระหว่างการลงทะเบียนโครงการฯ จะสามารถกลับเข้ามาตรวจสอบสถานะการลงทะเบียนได้หรือไม่ อย่างไร

คำตอบ กรณีที่ผู้ใช้งานทำการลบแอปพลิเคชันหรือเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือแล้วต้องการตรวจสอบสถานะการสมัครโครงการฯ สามารถดำเนินการได้ดังนี้

1. ทำการเข้าสู่แอปพลิเคชันทางรัฐ
2. คลิกปุ่ม “ลงทะเบียนรับสิทธิโครงการฯ”​ ที่หน้าแรกของแอปพลิเคชันทางรัฐ
3. ยอมรับเงื่อนไขโครงการฯ
4. กรอกข้อมูลบัตรประชาชน
5. ระบบจะนำผู้ใช้งานเข้าสู่การสร้างบัญชีหรือเข้าสู่ระบบเพื่อตรวจสอบสถานะการลงทะเบียน
6. หลังจากทำการสร้างบัญชีหรือเข้าสู่ระบบทางรัฐเรียบร้อย ท่านสามารถตรวจสอบสถานะการลงทะเบียนของท่านได้อย่างต่อเนื่อง

คำถาม จำเป็นต้องลง ThaiD ก่อนหรือไม่

คำตอบ หากประชาชนมีแอป ThaiD และเคยยืนยันตัวตนกับ ThaiD แล้วสามารถพิสูจน์ยืนยันตัวตน (KYC) ผ่านแอป ThaiD ได้เลย แต่หากยังไม่มีแอป ThaiD ขอแนะนำให้ทำการพิสูจน์ยืนยันตัวตน (KYC) กับแอปทางรัฐเลย

คำถาม ทำไมต้องกรอกข้อมูลส่วนบุคคล และถ่ายภาพใบหน้า

คำตอบ เพื่อให้กระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคลมีความน่าเชื่อถือสูงเทียบเท่าแอปพลิเคชันของธนาคาร ป้องกันการสวมสิทธิ์ของท่านโดยมิจฉาชีพ

คำถาม ทำไมต้องให้ระบุเบอร์โทรศัพท์มือถือ และยืนยันเบอร์โทรศัพท์มือถือด้วย One Time Password (OTP)

คำตอบ เพื่อให้กระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคลมีความน่าเชื่อถือสูงเทียบเท่าแอปพลิเคชันของธนาคาร และให้ระบบสามารถติดต่อท่านได้กรณีที่ท่านลืมรหัสผ่าน (Password) และใช้ยกระดับความปลอดภัยโดยการใช้ 2 Factor Authentication ได้

คำถาม ทำไมเมื่อกรอกข้อมูลเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักแล้ว ระบบแจ้งว่าท่านเคยลงทะเบียนแล้ว

คำตอบ ท่านอาจเคยลงทะเบียนกับระบบบริการภาครัฐที่เชื่อมต่อกับระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนของ สพร. (DGA) หากท่านไม่แน่ใจว่า เคยลงทะเบียนไว้กับระบบใด หรือใช้รหัสผ่านใด ให้กด “ลืมรหัสผ่าน” เพื่อทำการกู้คืนรหัสผ่านของท่าน (Reset Password)

คำถาม จำเป็นต้องเดินทางไปยืนยันตัวตนที่จุดให้บริการของไปรษณีย์ไทย Counter Service หรือตู้บุญเติมหรือไม่

คำตอบ หากท่านสแกนหน้าผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐไม่สำเร็จ และใบหน้าท่านไม่ได้เปลี่ยนจากภาพบนบัตรประจำตัวประชาชน ท่านสามารถไปยืนยันตัวตน ณ จุดให้บริการของไปรษณีย์ไทย Counter Service หรือตู้บุญเติม

คำถาม ผู้ใช้สามารถ Login เข้าใช้งานพร้อมกันได้กี่เครื่อง

คำตอบ ผู้ใช้สามารถทำการ Login ได้ครั้งละ 1 อุปกรณ์เท่านั้น

คำถาม กรณีผู้ใช้เปลี่ยน Username/Password ที่เคยสมัครไว้ สามารถทำอย่างไรได้บ้าง

คำตอบ ผู้ใช้ไม่สามารถทำการเปลี่ยน Username ได้ หากผู้ใช้ลืม Username ที่เคยสมัครไว้ ผู้ใช้สามารถใช้เลขบัตรประชาชน 13 หลักในการ Login แทนได้ และในกรณีที่ลืมรหัสผ่าน (Password) ท่านสามารถไปที่เมนู “ลืมรหัสผ่าน” แล้วทำการเปลี่ยนรหัสผ่าน (Password) ใหม่ตามขั้นตอนในระบบ

คำถาม กรณีลืมรหัสผ่าน (Password) จะดำเนินการอย่างไร

คำตอบ ในกรณีที่ลืมรหัสผ่าน (Password) จากหน้าแรก (“ขั้นตอนการสมัครสมาชิก”) ท่านสามารถกด ที่ปุ่ม “เข้าสู่ระบบ” และไปที่เมนู “ลืมรหัสผ่าน” แล้วปฏิบัติตามขั้นตอนที่แอปพลิเคชันกำหนด

คำถาม กรณีลืมรหัส Pin Code จะดำเนินการอย่างไร

คำตอบ ในกรณีที่ลืมรหัส Pin Code จากหน้าจอที่ให้ระบุ PIN Code ท่านสามารถกดที่ “ลืม Pin Code” แล้วปฏิบัติตามขั้นตอนที่แอปพลิเคชันกำหนด เพื่อกำหนด PIN Code ใหม่ได้

คำถาม หากลงทะเบียนแล้วระบบแจ้งว่าไม่ได้รับสิทธิตามโครงการฯ โดยมีข้อมูลไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขของโครงการฯ ต้องทำอย่างไร

คำตอบ ให้ท่านดำเนินการตรวจสอบข้อมูลกับหน่วยงานเจ้าของข้อมูลตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขต่าง ๆ ของโครงการ ฯ เช่น เงื่อนไขด้านอายุ ติดต่อ กรมการปกครอง หรือสำนักงานเขตใกล้บ้านท่าน หลักเกณฑ์เงื่อนไขของโครงการฯ ด้านเงินได้ ติดต่อที่ กรมสรรพากร ส่วนกรณีข้อมูลเงินฝาก ขอให้ท่านตรวจสอบสมุดบัญชีเงินฝากของท่านด้วยตนเองในแต่ละบัญชีและติดต่อธนาคารเจ้าของข้อมูลเงินฝากนั้นๆ เป็นต้น

คำถาม สามารถสอบถามรายละเอียดต่าง ๆ ของโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ได้ที่ช่องทางใด

คำตอบ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน (Government Contact Center) GCC1111 โทร 1111

คำถามที่พบบ่อยในการใช้งานแอปพลิเคชันทางรัฐ

  • กลุ่มคำถามทั่วไปเกี่ยวกับ แอปพลิเคชันทางรัฐ

คำถาม แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” เกี่ยวกับอะไร

คำตอบ แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” จัดทำขึ้นเพื่อยกระดับการให้บริการประชาชนให้สามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการต่างๆ ของรัฐจากหน่วยงานที่หลากหลาย ผ่านช่องทางออนไลน์ แบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว ครบวงจร อันเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้ได้รับบริการจากหน่วยงานภาครัฐอย่าง สะดวก รวดเร็ว และมั่นคงปลอดภัย ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.dga.or.th/our-services/one-stop-service/citizenportal/

คำถาม แอปพลิเคชันสามารถใช้บริการภาครัฐอะไรได้บ้าง

คำตอบ แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” เป็นแพลตฟอร์มที่ให้หน่วยงานภาครัฐสามารถนำข้อมูล และบริการต่าง ๆ ของตนมาให้บริการในลักษณะ “Mini App” ได้ โดยในปัจจุบัน แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” รองรับการเข้าถึงข้อมูล และบริการต่าง ๆ ดังนี้

  •  การตรวจสอบสิทธิรักษาพยาบาล จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
  •  การตรวจสอบข้อมูลทะเบียนราษฎร์
  •  การตรวจสอบประกันสังคม
  •  การตรวจสอบเครดิตบูโร
  •  การตรวจสอบสถานการณ์โควิด-19
  •  การจองคิวอบรมออนไลน์เพื่อต่อใบอนุญาตขับขี่
  •  การตรวจสอบข้อมูลภาษีไปไหน   เป็นต้น

คำถาม ข้อมูลและบริการของหน่วยงานต่างๆ อยู่ในแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ได้อย่างไร

คำตอบ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการนำข้อมูลและบริการต่างๆ ของหน่วยงานมาให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” โดยข้อมูลและบริการต่างๆ เหล่านี้จะได้รับการเชื่อมโยงไปยังหน่วยงานผู้รับผิดชอบข้อมูลและบริการนั้นๆ โดยตรง ไม่ได้มีการคัดลอก หรือสำเนาข้อมูล มาไว้ที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลแต่อย่างใด

คำถาม หากพบว่า ข้อมูลของท่านไม่ถูกต้อง เช่นข้อมูลทะเบียนบ้าน สิทธิการรักษาพยาบาล ต้องทำอย่างไร

คำตอบ กรุณาติดต่อหน่วยงานผู้รับผิดชอบข้อมูลนั้นๆ โดยตรง เพื่อขอคำแนะนำว่า หากข้อมูลไม่ถูกต้อง จะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง

คำถาม การใช้งานแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” มีค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียมใดหรือไม่

คำตอบ การร้องขอบริการของรัฐบางบริการอาจมีค่าใช้จ่าย หรือค่าธรรมเนียม เช่น ค่าปรับจราจร ค่าใช้ไฟฟ้า ค่าใช้น้ำประปา เป็นต้น แต่ผู้ใช้งานไม่มีค่าใช้จ่าย หรือค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมในการใช้แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” แต่อย่างใด

คำถาม หากหน่วยงานสนใจให้บริการผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” จะต้องดำเนินการอย่างไร

คำตอบ หน่วยงานสามารถกรอกใบเข้าร่วมโครงการพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน และติดต่อ DGA Contact Center ที่ [email protected] หรือหมายเลขโทรศัพท์ 02-612-6060

  • กลุ่มคำถามทั่วไปเกี่ยวกับ แอปพลิเคชันทางรัฐ

คำถาม แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” พัฒนาโดยใคร มีความน่าเชื่อถือหรือไม่

คำตอบ แอปพลิเคชันนี้ จัดทำขึ้นโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานในการกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทําหน้าที่ให้บริการส่งเสริมและสนับสนุนการดําเนินงานของหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอื่นเกี่ยวกับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลโดยมีวัตถุประสงค์ที่ครอบคลุมถึงการพัฒนาบริการดิจิทัลภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวที่ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมั่นคงปลอดภัยตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๘ (๕)

คำถาม แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” มีความปลอดภัยหรือไม่ อย่างไร

คำตอบ แอปพลิเคชันทางรัฐมีการเชื่อมต่อไปยังระบบดิจิทัลของส่วนราชการต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์มที่ติดตั้งอยู่บนระบบคลาวด์ภาครัฐ (Government Cloud) ที่ให้บริการ และบริหารจัดการ โดย สพร. ระบบคลาวด์ภาครัฐดังกล่าวมีระดับเสถียรภาพ (SLA) ไม่น้อยกว่า 99.5% และเป็นระบบที่มีมาตรการป้องกันการโจรกรรมข้อมูลอย่างรัดกุม มีความปลอดภัยสูง ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 27001:2013 ระบบการบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ (Information Security Management Systems – ISMS)

ทั้งนี้ แอปพลิเคชัน และระบบงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มีการดำเนินงานต่างๆ ตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ๒๕๖๒ และ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ๒๕๖๒ นอกจากนี้ แอปพลิเคชัน และแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ใช้สนับสนุนการทำงานของแอปพลิเคชันทางรัฐยังได้รับการพัฒนาขึ้น โดยคำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัยต่างๆ ดังนี้

ก่อนที่จะเปิดแอปพลิเคชันและแพลตฟอร์ม เพื่อให้บริการจริง แอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มดังกล่าวจะต้องผ่านการทดสอบ ทั้งในด้านคุณสมบัติ (Functional Test) และด้านอื่นๆ (Non-Functional Test) เช่น Performance Test และ Security Test โดยผลการทดสอบต้องแสดงให้เห็นว่าระบบทำงานได้โดยสมบูรณ์ มีระดับความมั่นคงสูง (Highly Available) มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยต่ำ

สพร. ทดสอบความปลอดภัยของแอปพลิเคชันและแพลตฟอร์ม (Security Test) โดยใช้อย่างน้อย 2 วิธี ดังนี้

  • วิธี Static Application Security Testing (SAST) ซึ่งเป็นการตรวจสอบ Source Code ของแอปพลิเคชัน และแพลตฟอร์มที่เขียนขึ้น ว่าเป็นการเขียนโปรแกรมที่มีความเสี่ยงที่จะถูกโจมตี หรือถูกเจาะโดยผู้ไม่หวังดีมากน้อยเพียงใด
  • วิธี Vulnerability Assessment (VA) ซึ่งเป็นการตรวจสอบแอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มที่ติดตั้งแล้วในภาพรวม ว่ามีความเสี่ยงที่จะถูกโจมตีเนื่องจากการตั้งค่า (Settings) ต่างๆ หรือโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ปลอดภัยเพียงพอหรือไม่


การทดสอบ Penetration Test (Pen Test) ซึ่งเป็นการให้บุคคลภายนอกทดลองเจาะระบบ

คำถาม ข้อมูลของเราที่ให้ไปจะปลอดภัยไหม

คำตอบ แอปพลิเคชันทางรัฐได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่ง สพร.จัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลเฉพาะความจำเป็นเท่านั้นและจัดเก็บอยู่บนระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (DG Cloud) ซึ่งมีระดับเสถียรภาพ (SLA) ไม่น้อยกว่า 99.5% และเป็นระบบที่มีมาตรการป้องกันการโจรกรรมข้อมูลอย่างรัดกุม มีความปลอดภัยสูงเพื่อรักษาความปลอดภัยของข้อมูลสำคัญของท่าน

คำถาม ระบบมีการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลหรือไม่ อย่างไร

คำตอบ ระบบจำเป็นที่จะต้องจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของผู้สมัครขอใช้บริการไว้บางส่วน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูล และบริการต่างๆ เช่น ข้อมูลเลขบัตรประจำตัวประชาชน ชื่อ นามสกุล เป็นต้น ส่วนข้อมูลภาพถ่ายหน้า และหลังบัตรประจำตัวประชาชน ข้อมูลคลิปวิดีโอแบบสดของผู้สมัครใช้บริการ (Live Selfie) ที่มีการเคลื่อนไหวของท่าน หลังจากที่แอปพลิเคชันทางรัฐได้ใช้ข้อมูลดังกล่าวในการพิสูจน์ตัวบุคคลของผู้ขอใช้บริการแล้ว สพร. จะลบข้อมูลดังกล่าวออกจากระบบโดยเร็วที่สุด เว้นแต่หากว่าจำเป็นต้องใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อประกอบการวิเคราะห์ และปรับปรุงบริการ สพร. จะขออนุญาต (Consent) จากผู้ขอสมัครใช้บริการก่อนทุกครั้งไป


ข้อมูลส่วนบุคคลของท่านที่จัดเก็บตามความจำเป็นโดย สพร. นั้น สพร. จะทำการคุ้มครองข้อมูลของท่านอย่างดีที่สุด และให้เป็นไปตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ๒๕๖๒ ตามประกาศความเป็นส่วนตัว (Privacy Notice) ของระบบฯ ที่นี่ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัย ท่านจะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงการใช้งานและนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวกับการใช้งานแอปพลิเคชันอย่างเคร่งครัด

คำถาม การพิสูจน์ตัวตนที่แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ใช้ มีความน่าเชื่อถือหรือไม่

คำตอบ ในการพิสูจน์ตัวบุคคล (Identity Proofing) ที่แอปพลิเคชันทางรัฐใช้ตามที่อธิบายข้างบนเป็นรูปแบบที่สอดคล้องกับข้อเสนอแนะมาตรฐานเกี่ยวกับแนวทางการใช้ดิจิทัลไอดีสำหรับประเทศไทย (Digital Identity Guideline for Thailand) (ขมธอ. 18 19 และ 20-2561) ที่ประกาศโดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.)

คำถาม แอปพลิเคชันทางรัฐ พิสูจน์บุคคลอย่างไร

คำตอบ ในการพิสูจน์ตัวบุคคล (Identity Proofing) แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” จำเป็นต้องใช้ข้อมูลต่างๆ ดังนี้

1. ภาพหน้า และหลังบัตรประจำตัวประชาชนของผู้สมัครใช้บริการ

2. คลิปวิดีโอแบบสดของผู้สมัครใช้บริการ (Live Selfie) ที่มีการเคลื่อนไหวและเพื่อให้เข้าถึงข้อมูลต่างๆ ขั้นต้นได้ แอปพลิเคชันจำเป็นที่จะต้องขอสิทธิในการเข้าถึงกล้องหน้า และกล้องหลังของเครื่องโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้งาน

การพิสูจน์ตัวบุคคลของผู้สมัครใช้งาน มีขั้นตอนดังนี้


ตรวจสอบภาพหน้า และหลังบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อพิจารณาว่า เป็นภาพบัตรประจำตัวประชาชนจริงหรือไม่

1. ตรวจสอบข้อมูลจากหน้า และหลังบัตรประจำตัวประชาชน เช่น เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ชื่อ นามสกุล วันเดือนปีเกิด เลขรหัสหลังบัตร ว่าสอดคล้องกับข้อมูลที่จัดเก็บอยู่ที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยหรือไม่

2. ตรวจสอบว่า บัตรประจำตัวประชาชนที่แสดงต่อแอปพลิเคชัน เป็นบัตรประจำตัวประชาชนที่ยังใช้งานอยู่ ไม่ได้ถูกยกเลิก หรือแจ้งสูญหาย

3. ตรวจสอบคลิปวิดีโอแบบสดของผู้สมัครใช้บริการ เพื่อพิจารณาว่ามีการบันทึกแบบสด ไม่ได้เป็นภาพนิ่ง หรือเป็นคลิปที่อัดไว้แล้วนำมาฉายซ้ำ

4. ตรวจสอบใบหน้าของผู้สมัครใช้บริการจากคลิปวิดีโอแบบสด เปรียบเทียบกับใบหน้าจากภาพจากบัตรประจำตัวประชาชนว่าเป็นใบหน้าเดียวกันหรือไม่ โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่มีระดับความแม่นยำสูง

คำถาม ข้อมูลส่วนบุคคลที่แสดงในแอปพลิเคชันสามารถเข้าถึงโดยใครได้บ้าง

คำตอบ ข้อมูลส่วนบุคคลที่แสดงในแอปพลิเคชันสามารถเข้าถึงได้โดยเจ้าของข้อมูลเท่านั้น โดย สพร. มีมาตรการที่มีความน่าเชื่อถือสูง และรัดกุมในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนผู้ใช้งาน และการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่เชื่อมโยงและนำส่งผ่านระบบ (ดูรายละเอียดข้างล่าง)

 กลุ่มคำถามเกี่ยวกับระบบปฏิบัติการที่รองรับ

คำถาม แอปพลิเคชันทางรัฐรองรับ OS อะไรขึ้นไป ทั้ง iOS และ Android

คำตอบ สำหรับเวอร์ชัน IOS รองรับ iOS 14.3 ขึ้นไป สำหรับเวอร์ชัน Android รองรับ Android 6 ขึ้นไป

คำถาม หากโทรศัพท์มือถือที่ใช้เป็นรุ่นเก่า ไม่ได้ใช้ระบบปฏิบัติการในเวอร์ชันที่กำหนดจะทำอย่างไร

คำตอบ ระบบปฏิบัติการเวอร์ชันที่เก่ากว่าที่ระบุอาจมีประเด็นด้านความมั่นคงปลอดภัย มีความเสี่ยงต่อการถูกติดตั้งซอฟต์แวร์ไม่พึงประสงค์ ขอให้ท่านอัพเดทระบบปฏิบัติการให้เป็นเวอร์ชันปัจจุบัน

คำถาม ใช้โทรศัพท์ ยี่ห้อ Huawei แล้วไม่สามารถทำการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันทางรัฐได้

คำตอบ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาแอปพลิชันทางรัฐให้รองรับการใช้งานสำหรับโทรศัพท์ยี่ห้อ Huawei หากเรียบร้อยแล้วจะมีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบอีกครั้ง

คำถาม หากประชาชนที่ใช้โทรศัพท์มือถือที่ใช้ระบบปฎิบัติการ Harmony หรือโทรศัพท์ยี่ห้อ Huawei มีการลงโปรแกรม Gbox, Livehouse, Gspace จะทำให้ช่วยดาวน์โหลดแอปพลิเคชันทางรัฐได้ไหม

คำตอบ ขึ้นอยู่กับโทรศัพท์แต่ละเครื่องไม่สามารถการันตีได้

คำถาม ทำไมไม่สามารถติดตั้งแอปทางรัฐได้ ทั้ง ๆ ที่ใช้ระบบปฏิบัติการล่าสุดแล้ว

คำตอบ สมาร์ตโฟนของท่านอาจมีการตั้งค่าบางอย่างที่มีความเสี่ยงต่อการถูกโจมตี หรืออาจมีซอฟต์แวร์ไม่พึงประสงค์ – ขอความกรุณาท่านแก้ไขการตั้งค่าดังกล่าว หรือลบซอฟต์แวร์ไม่พึงประสงค์ออกจากเครื่อง (รายละเอียดเพิ่มเติม)

 กลุ่มคำถามเกี่ยวกับการสแกนหน้า

คำถาม ขึ้น expected a boolean but was Null at path$.Result.one to one verified ตอนสแกนหน้า

คำตอบ เกิดจากระบบเกิดขัดข้องในบางเวลา รบกวนท่านดำเนินการสแกนหน้าใหม่อีกครั้ง

 กลุ่มคำถามเกี่ยวกับการสมัครและยืนยันตัวตนผ่านระบบปฏิบัติการ Android

คำถาม ทำไมระบบขึ้นว่าเคยสมัครแล้วหรือเคยลงทะเบียนแล้วทั้งที่ไม่เคยสมัครเลย (เคสนี้เกิดจากผู้ที่เคยสมัคร Digital ID มาก่อน)

คำตอบ ขอให้ท่านทำการกดที่ไอคอน “ลืมรหัสผ่าน” และทำตามขั้นตอนที่ปรากฎบนแอปพลิเคชันไปเรื่อย ๆ เมื่อได้รหัสผ่านใหม่แล้วให้ทำการเข้าสู่ระบบและทำการลงทะเบียนได้ตามขั้นตอนปกติต่อไป

คำถาม ยืนยันตัวตนผ่าน ThaiD แล้วหน้าจอวนเด้งมาที่หน้าแอปสโตร์อีกไม่ไปไหน รวมทั้งการยืนยันตัวตนตามช่องทางปกติที่เจอหน้าจอวนเด้งมาที่แอปสโตร์ ต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป

คำตอบ รบกวนให้ท่านทำการเปลี่ยนเบราว์เซอร์เริ่มต้น (Default Browser) บนมือถือดังนี้

1. ไปที่การตั้งค่า (Setting)เลือกเมนู แอปพลิเคชััน (Apps)
2. กดที่ไอคอน 3 จุดด้านขวาบน (Three Dots, Ellipsis, More Options) เลือก แอปพลิเคชันเริ่มต้น (Default Apps)
3. เลือก แอปเบราว์เซอร์ (Browser App)
4. เปลี่ยนเป็นแอปพลิเคชันที่ต้องการ (ในที่นี้เลือกเป็น Chrome) เสร็จแล้วจึง กลับไปทำการสมัครและยืนยันตัวตนใหม่อีกครั้ง

คำถาม เข้าแอปพลิเคชันไม่ได้มีแจ้งเตือนบอกว่าตรวจพบการบันทึกหน้าจอทั้งที่ก็ไม่ได้กดบันทึก

คำตอบ กรณีระบบพบการ sharing หรือบันทึกหน้าจอระหว่างการใช้งานทางรัฐจึงทำให้ ระบบระงับการใช้งานเพื่อความปลอดภัยของท่านและจะไม่สามารถใช้งานแอปพลิเคชันได้จนกว่าจะปิดโปรแกรมการบันทึกหรือsharing หน้าจอเบื้องต้นแนะนำให้ดำเนินการดังนี้
1. ให้หยุดการบันทึกหน้าจอ
2. ตรวจสอบแอปพลิเคชันที่ไม่น่าไว้ใจและลบออก
3. หากไม่หายให้ลองปิดเปิดเครื่องใหม่เพื่อ disconnect ในกรณีที่ท่านอาจจะถูกใช้แอปพลิเคชันบางอย่างควบคุมหน้าจออยู่

คำถาม เข้าใช้งานแอปไม่ได้ขึ้นว่า Root Jallbreak หรือขึ้นว่า “ทำไมเข้าใช้งานลงทะเบียนไม่ได้ขึ้นว่าแอปถูก ดัดแปลงไม่สามารถเข้าใช้งานได้”

คำตอบ รบกวนทำการตรวจสอบว่าโทรศัพท์ หรืออุปกรณ์ที่ท่านใช้มีการ root หรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ผ่านทางแอปพลิเคชัน ‘Advanced Root Checker’ ให้ท่านทำการดาวน์โหลดและติดตั้งผ่านทาง Google Play หากตรวจพบ ให้ท่านดำเนินการยกเลิกการ root หรือเปลี่ยนไปใช้โทรศัพท์หรืออุปกรณ์ที่มีความปลอดภัย และไม่ผ่านการเจลเบรคหรือรูท

คำถาม เข้าแอปพลิเคชันไม่ได้ขึ้นว่าให้ปิด USB debugging และ Wireless debugging ที่เมนูทางเลือกพัฒนาที่หน้าตั้งค่าในมือถือของท่าน

คำตอบ รบกวนทำการตรวจสอบว่าโทรศัพท์ หรืออุปกรณ์ที่ท่านใช้มีการ root หรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ผ่านทางแอปพลิเคชัน ‘Advanced Root Checker’ ให้ท่านทำการดาวน์โหลดและติดตั้งผ่านทาง Google Play หากตรวจพบ ให้ท่านดำเนินการยกเลิกการ root หรือเปลี่ยนไปใช้โทรศัพท์หรืออุปกรณ์ที่มีความปลอดภัย และไม่ผ่านการเจลเบรคหรือรูท

– Xiaomi/Realme/Redmi 1. ไปที่ “การตั้งค่า > การตั้งค่าเพิ่มเติม” 2. “การตั้งค่าเพิ่มเติม > ตัวเลือกสำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์” 3. “ตัวเลือกสำหรับนักพัฒนา ซอฟต์แวร์” > กดปิด

– Samsung/Vivo/Oppo/infinix 1. ไปที่ “การตั้งค่า > ระบบและการอัปเดต” 2.“ระบบและการอัปเดต > ตัวเลือกสำหรับนักพัฒนา” 3. “ตัวเลือกสำหรับนักพัฒนา” > กดปิด

กลุ่มคำถามเกี่ยวกับการสมัครและยืนยันตัวตนผ่านระบบปฏิบัติการ iOS

คำถาม ยืนยันตัวตนผ่าน ThaiD แล้วหน้าจอวนเด้งมาที่หน้าแอปสโตร์อีกไม่ไปไหน ต้องทำอย่างไร และเคสที่สมัครตรงที่ทางรัฐเลยแต่เจอเด้งไปหน้าสโตร์

คำตอบ ขอแนะนำให้ตรวจสอบเวอร์ชันของแอปและทำการ update ให้เป็นปัจจุบัน เมื่อทำการดาวน์โหลด ThaiD พร้อมสมัครเรียบร้อยแล้ว ให้ทำการ restart เครื่อง 1 ครั้งเสร็จแล้วกดเข้าสู่แอปด้วย ThaiD จากแอปทางรัฐ และกดตามขั้นตอนที่ระบุในแอปพลิเคชัน

คำถาม เกิดวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ใส่วันที่ไม่ได้เลื่อนเป็นวันที่ 28 ตลอด

คำตอบ ให้ท่านเลือกที่ปีเกิดก่อน แล้วเลือกเดือน และเลือกวันที่ 29 เป็นอันดับสุดท้าย

 กลุ่มคำถามเกี่ยวกับปัญหาการใช้แอปพลิเคชันหลังจากทำการสมัครและยืนยันตัวตนเรียบร้อยแล้ว

คำถาม ยืนยันเบอร์โทรศัพท์ไม่ได้ (เคสนี้อาจจะเกิดเมื่อระบบขัดข้องเป็นบางเวลาและจะกลับมาใช้ได้หลังจากที่เราแก้ไขค่ะซึ่งใช้เวลาไม่นาน)

คำตอบ รบกวนลองใหม่อีกครั้ง

คำถาม โหลดแอปพลิเคชันเสร็จเข้าไปใช้งาน บางเมนูก็ขึ้นว่าไม่สามารถเชื่อมต่อได้ขณะนี้ หรือบางทีก็เกิดข้อผิดพลาดไม่สามารถเชื่อมต่อข้อมูลได้

คำตอบ เนื่องจากบริการบนทางรัฐเป็นบริการที่เชื่อมโยงกับ ข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ซึ่งบางครั้งระบบของทางหน่วยงานอาจมีการปรับปรุงข้อมูลเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กรุณาทดลองเข้าใช้บริการใหม่ภายหลัง

คำถาม เปลี่ยนแปลงข้อมูล ชื่อ-นามสกุล, ที่อยู่, เบอร์โทรศัพท์, อีเมล

คำตอบ สามารถดำเนินการแก้ไขได้ด้วยตัวเองที่ ตั้งค่า และไปที่ข้อมูลส่วนบุคคล

คำถาม ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลบนแอปพลิเคชัน ทางรัฐ

คำตอบ เนื่องจากบริการทางรัฐเป็นบริการที่เชื่อมโยงกับข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ซึ่งบางช่วงเวลาระบบของทางหน่วยงาน อาจมีการปรับปรุงข้อมูลเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กรุณาทดลองเข้าใช้บริการใหม่ภายหลัง

คำถาม ไม่สามารถ Download App ได้

คำตอบ ความต้องการชั้นต่ำ ระบบปฏิบัติการ Android Version 6 และ iOS Version 14.3 ขึ้นไป / สามารถ Download จาก Google Play หรือ Apple Store

คำถาม มีคำถามเกี่ยวกับการยืนยันตัวตน

คำตอบ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://ทางรัฐ.com/user-guide/

คำถาม สอบถาม/ตรวจสอบข้อมูล การเข้าใช้งานแอปพลิเคชันทางรัฐ

คำตอบ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://ทางรัฐ.com/user-guide/

คำถาม พบ line/page Facebook ปลอม ของแอปพลิเคชันทางรัฐ

คำตอบ กรุณาส่งรายละเอียดพร้อมแนบรูปเพจปลอม/ไลน์ปลอม มาที่อีเมล [email protected]

ที่มา: สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA