เปิดใช้ปี68 ทล.เร่งสร้าง สะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 5 เชื่อมโลจิสติกส์

04 ส.ค. 2567 | 01:52 น.
อัพเดตล่าสุด :04 ส.ค. 2567 | 02:07 น.

เปิดใช้กลางปี68 "กรมทางหลวง" เร่งก่อสร้าง สะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) หลังคืบหน้าแล้วกว่า94% เชื่อมโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน -เสริมท่องเที่ยวระหว่างกัน

 

โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) จังหวัดบึงกาฬ หนึ่งในนโยบายตามยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน

สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) จังหวัดบึงกาฬ

ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติกส์ เพื่อเชื่อมระหว่างประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านอย่างไร้รอยต่อ

 

  นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า  เพื่อเป็นการตอบสนองต่อความต้องการด้านการขนส่งสินค้าและการสัญจรของประชาชนที่เพิ่มมากขึ้น

 

 

 

เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยและสปป.ลาว นั้น ซึ่งปัจจุบันงานถนนส่วนใหญ่ทั้งฝั่งไทยและถนน และด่านพรมแดนในฝั่ง สปป.ลาว ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ

แนวเส้นทางสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) จังหวัดบึงกาฬ

อยู่ระหว่างดำเนินการงานสะพานก่อสร้างข้ามแม่น้ำโขง โดยโครงการมีผลการดำเนินงานภาพรวมคืบหน้ากว่า 94.05% (ข้อมูลเดือน ก.ค. 67)

     โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) จ.บึงกาฬ มีระยะทางของสะพานและถนนโครงข่ายรวม 16.340 กิโลเมตร แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 5 ตอน ฝั่งไทย 3 ตอน และฝั่ง สปป.ลาว 2 ตอน ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.เมือง จ.บึงกาฬ และ เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว

โดยแนวเส้นทางในประเทศไทย มีจุดเริ่มต้นโครงการแยกจากทางหลวงหมายเลข 222 ซึ่งเป็นถนนเชื่อมต่อสายสำคัญ ระหว่างจังหวัดสกลนคร และ จังหวัดบึงกาฬ

สามารถเชื่อมต่อกับเส้นทางตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก - ตะวันตก (East-West Economic Corridor - EWEC) ไปยังท่าเรือน้ำลึก ที่เมืองวุงอ่าง และเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม

ในส่วนแนวเส้นทางฝั่ง สปป.ลาว จะเชื่อมต่อกับถนนหมายเลข 13 ต่อไปยังถนนหมายเลข 8 ซึ่งเป็นเส้นทางจาก สปป.ลาว ไป เมืองวินห์ เมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม และเชื่อมต่อไปยังประเทศจีนทางตอนใต้ ผ่านทางหลวงอาเซียนหมายเลข 1 (AH1) ประเทศเวียดนาม

 เมื่อดำเนินโครงการการแล้วเสร็จจะช่วยส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานที่ได้พัฒนาไว้แล้วของแต่ละประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เกิดการเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือที่สำคัญในภูมิภาค สามารถลดต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่ง ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของทั้งสองประเทศในเวทีโลก โดยคาดว่าโครงการจะก่อสร้างแล้วเสร็จกลางปีพ.ศ. 2568