“เฟด” ลดดอกเบี้ยทุกอย่างจะเป็น “ขาขึ้น”?

18 ก.ย. 2567 | 09:29 น.
อัพเดตล่าสุด :18 ก.ย. 2567 | 10:09 น.

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะประชุมกันดอกเบี้ยนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2020 การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐถือเป็นข่าวดีทางการเงินสำหรับหลายๆ คน เเต่ทุกทุกอย่างจะเป็น “ขาขึ้น” จริงหรือไม่

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เตรียมปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 และแม้ว่าจะมีการคาดการณ์กันว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย แต่บรรดานักลงทุนทั่วโลกก็เตรียมรับผลกระทบจากการปรับลดครั้งนี้  โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 66% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้วที่ให้น้ำหนักเพียง 34%

นอกจากนี้ นักลงทุนรอดูถ้อยแถลงของ เจอโรม พาวเวล ประธาน Fed รวมทั้งรายงานคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ของเจ้าหน้าที่ Fed และการเปิดเผยตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจของคณะกรรมการ Fed เช่น ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อัตราว่างงาน และอัตราเงินเฟ้อ  ขณะที่ธนาคารในเขตยูโรสหราชอาณาจักร แคนาดา เม็กซิโก สวิตเซอร์แลนด์ และสวีเดน ซึ่งทั้งหมดได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว

ข้อกังวลสำคัญ คือ อัตราดอกเบี้ยที่กดดันต่อสกุลเงินต่างๆ โดยทั่วไปแล้ว อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการผลตอบแทนที่ดีกว่า ซึ่งส่งผลให้มูลค่าของสกุลเงินในประเทศสูงขึ้นตามไปด้วย สิ่งนี้พบเห็นจากค่าเงินเยนของญี่ปุ่น และ ค่าเงินลีราตุรกี ได้รับผลกระทบ ในขณะที่ธนาคารกลางในประเทศคงอัตราดอกเบี้ยต่ำ ในขณะที่ดอลลาร์สหรัฐพุ่งสูงขึ้นตลอดปี 2022 เนื่องจากเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ย

นอกจากอัตราแลกเปลี่ยนต่างประเทศแล้ว ผลกระทบสำคัญอีกประการหนึ่งของการกำหนดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็คือ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงประเด็นตลาดแรงงานที่อ่อนแอลง และความเป็นไปได้ของภาวะเศรษฐกิจถดถอยเมื่อ เร็วๆ นี้

เนื่องจากปัจจัยดังกล่าว ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ย่อมส่งผลต่อราคาสินทรัพย์ทั่วโลก นั่นรวมถึง “ทองคำ” ซึ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในสัปดาห์นี้ จากการคาดการณ์ว่า เฟดจะเคลื่อนไหวในทิศทางใด โดยทั่วไปแล้วอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อทองคำ เนื่องจากทำให้การลงทุนในตราสารหนี้ เช่น พันธบัตร น่าสนใจมากขึ้น แม้ว่าในอดีตจะไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไปก็ตาม นอกจากนี้ ทองคำยังใช้เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ ซึ่งสามารถดันให้ราคาสูงขึ้นได้เมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลง และนักลงทุนยังซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ในช่วงที่ตลาดตึงตัวอีกด้วย

ขณะที่บทวิเคราะห์จาก ฮั่วเซ่งเฮง ระบุว่า หากพิจารณาจากข้อมูลสถิติของราคาทองคำในช่วงดอกเบี้ยขาลงหรือดอกเบี้ยขาขึ้น พบว่า ข้อมูลสถิติย้อนหลังของการปรับเพิ่มหรือลดดอกเบี้ยของเฟดนับตั้งแต่ปี 1998 จนถึงปี 2023 ชี้ว่าไม่ว่าดอกเบี้ยจะเป็นขาขึ้นหรือดอกเบี้ยขาลง ทองคำจะให้ผลตอบแทนที่เป็นบวก ดังนั้น ทองคำจึงน่าสนใจในระยะยาว ไม่ว่าทิศทางดอกเบี้ยจะเป็นอย่างไรก็ตาม

น้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ

โดยปกติมีราคาเป็นดอลลาร์ มักได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลด เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมที่ต่ำลงสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มความต้องการได้

"ตลาดเกิดใหม่" หลายแห่งมีความอ่อนไหวต่อปัจจัยเหล่านี้มากกว่า ทำให้การเคลื่อนไหวของเฟดมีความสำคัญต่อตลาดเกิดใหม่มากกว่าเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ตลาดหุ้นยังได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนไหวของเฟดด้วย และไม่ใช่แค่ในสหรัฐฯ เท่านั้น ความผันผวนของตลาดหุ้นโลกในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีสาเหตุมาจากการคาดเดาว่าธนาคารกลางของสหรัฐจะลดอัตราดอกเบี้ยเมื่อใดและมากน้อยเพียงใด

การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยลดต้นทุนการกู้ยืมเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้บริษัทต่างๆ ทั่วโลกมีสภาพคล่องมากขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่ลดลงน่าจะส่งผลให้ผลตอบแทนจากสินทรัพย์ของสหรัฐฯ เช่น พันธบัตรรัฐบาล ลดลงด้วย ซึ่งจะทำให้ตลาดอื่นๆ น่าดึงดูดใจมากกว่า

หุ้น

ตามที่ฐานเศรษฐกิจรายงานไปก่อนหน้านี้ นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ จำกัด มองว่าความเสี่ยงของการลงทุนระหว่างการลงทุนในหุ้น ทองคำ และการฝากเงิน แบบไหนที่จะปลอดภัยที่สุด ส่วนตัวมองว่าความเสี่ยงอาจต้องวัดน้ำหนักที่ผลตอบแทน การถือเงินสดหรือฝากเงินอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนัก มองว่าการลงทุนหุ้นยังมีความน่าสนใจมากที่สุด เพราะที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทย และราคาหน้าหุ้นใหญ่เองก็ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว

คริปโทเคอร์เรนซี

การประชุมเฟดครั้งล่าสุดเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2565 ทางคณะกรรมการเฟดได้มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.5% พร้อมส่งสัญญาณว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องจนถึงปีหน้า เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนที่กังวลเรื่องของอัตราเงินเฟ้อกลับมาถือ Bitcoin กันอีกครั้ง เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ เนื่องจาก Bitcoin เป็นสินทรัพย์ที่มีจำนวนจำกัดที่ 21 ล้านเหรียญ จึงไม่ได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อ

หากเฟดประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลังการประชุม ราคาคริปโทฯ ก็น่าจะเพิ่มขึ้นตาม เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยมีไว้เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ นักลงทุนจึงเลือกถือคริปโทฯ บางสกุล โดยเฉพาะ Bitcoin เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ ในทางตรงกันข้าม หากประกาศลดดอกเบี้ย ราคาคริปโทฯ ก็อาจลดลงได้เช่นกัน

ราคา Bitcoin พุ่งขึ้นในวันนี้ 18 กันยายน กลับมาเคลื่อนไหวเหนือระดับราคา 60,000 ดอลลาร์อีกครั้ง ก่อนรู้ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในคืนวันนี้ ขณะที่นักวิเคราะห์คริปโทฯ คาดการณ์ว่าราคาบิทคอยน์มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นไปถึง 92,000 ดอลลาร์ในระยะอันใกล้หลังจากอยู่ในขาลงมานานกว่า 3 เดือนในรอบก่อนหน้า

แม้ว่าตลาดจะมั่นใจว่าเฟดจะเริ่มรอบการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในวันพุธ แต่ก็มีความไม่แน่นอนอย่างมากว่าเฟดจะเคลื่อนไหวไปไกลและเร็วแค่ไหนในการประชุมสามครั้งที่เหลือของปีนี้และไปจนถึงปี 2568

อ้างอิง