วันนี้ (5 สิงหาคม 2567) ที่กรมชลประทาน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือการบริหารจัดการน้ำ ว่า ได้มอบหมายให้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เร่งจัดทำแผนงานและโครงการที่สำคัญเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ ที่สามารถเร่งรัดดำเนินการได้ภายในกรอบระยะเวลา 3 ปี เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาภายในเดือนสิงหาคม 2567 นี้
พร้อมกันนี้ยังได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานบริหารจัดการน้ำไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับประชาชน โดยเน้นการสื่อสารและแจ้งเตือนล่วงหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ และให้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและ ภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ประเมินภาพถ่ายในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ร่วมกับกรมชลประทาน
รวมทั้งมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ สทนช. ร่วมกัน ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ บริหารจัดการและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ตลอดจนแจ้งเตือนประชาชน เพื่อให้เกิดผลกระทบกับน้อยที่สุด
“ปัญหาเรื่องน้ำเป็นปัญหาเร่งด่วนของประเทศไทยที่จะต้องแก้ไขให้ดียิ่งขึ้นภายในรัฐบาลนี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และคุณภาพน้ำ น้ำดื่ม น้ำใช้น้ำบริโภค ตนได้มอบหมายให้หน่วยงานเรื่องน้ำเร่งทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อจัดทำแผนงานด้านน้ำระยะ 3 ปี และแผนงานสำคัญระยะยาวเพื่อให้ น้ำถึงไร่นา น้ำสะอาดทุกหมู่บ้าน แก้ปัญหาภัยพิบัติด้านน้ำ อย่างยั่งยืน” นายเศรษฐา กล่าว
ทั้งนี้นายกฯ ระบุว่า ได้เน้นย้ำให้ปรับปรุงโครงการที่มีอยู่เดิมให้สามารถใช้ประโยชน์ได้สูงสุด รวมทั้งก่อสร้างโครงข่ายการบริหารจัดการน้ำเพิ่มเติม โดยพิจารณาถึงความเร่งด่วนและความเหมาะสมในการใช้จ่ายงบประมาณเป็นสำคัญ ซึ่งที่ประชุมหารือการบริหารจัดการน้ำได้พิจารณาและเห็นชอบแผน 3 ปี ด้านทรัพยากรน้ำและโครงการสำคัญ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำกินน้ำใช้ ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม และภัยพิบัติด้านน้ำอื่นๆ
โดยคาดว่า การดำเนินการดังกล่าวจะเกิดประโยชน์กับประชาชน 6.22 ล้านครัวเรือน มีพื้นที่รับประโยชน์ 24.19 ล้านไร่ ซึ่งแผนงานจะประกอบด้วย 5 ด้านสำคัญ ดังนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลมั่นใจการบริหารจัดการน้ำจะไม่ซ้ำรอยน้ำท่วมปี 2554 ใช่หรือไม่ นายกฯ ยิ้มก่อนตอบสั้น ๆ ว่า “ครับ”
ด้านนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรี ได้รับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำโดยปริมาณน้ำฝนสะสมช่วงฤดูฝนปี 2567 ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม - 1 สิงหาคม 2567 มีปริมาณฝน 563.2 มม. สูงกว่าค่าปกติ +74.8 มม. เพิ่มขึ้น 15% ส่วนปริมาณฝนคาดการณ์และปริมาณน้ำ ข้อมูลเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2567 ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 35 แห่ง มีความจุรวม 70,926 ล้านลูกบาศก์เมตร
ปัจจุบันมีน้ำ 40,163 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 57 รับน้ำได้อีก 30,763 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 43% สำหรับการคาดการณ์น้ำ ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 คาดว่าจะมีน้ำกับเก็บ จำนวน 54,930 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 77% ทั้งนี้ เมื่อเทียบปี 2566 มีน้ำกักเก็บอยู่ที่จำนวน 56,386 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 79% โดยคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำปี 2567 จะน้อยกว่าปี 2566 จำนวน 1,456 ล้านลูกบาศก์เมตร
ทั้งนี้นายกฯ ได้มอบนโยบายประเด็นแผน 3 ปี ด้านทรัพยากรน้ำและโครงการสำคัญ ดังนี้
1.ให้ สทนช. เร่งรัดการยกร่างแผน 3 ปี ด้านทรัพยากรน้ำและโครงการสำคัญให้แล้วเสร็จ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในเดือนสิงหาคมนี้ ในการนี้ ให้ สทนช. รับผิดชอบในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผน และรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ
2.ให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ สทนช. บูรณาการการดำเนินงานตามแผนงานดังกล่าว เพื่อให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามที่ได้ตั้งเป้าไว้
3.ให้ สทนช. ติดตามและกำกับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนดำเนินงานตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำ และปฏิบัติงานตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนอย่างเคร่งครัด
โฆษกรัฐบาล กล่าวด้วยว่า นายกฯ ยังฝากให้กรมชลประทานติดตามรายละเอียดเชิงลึกเกี่ยวกับปริมาณน้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมให้เฝ้าดูพื้นที่เสี่ยง รวมถึงเร่งดำเนินการการขุดลอกแม่น้ำสุไหงโก-ลก ไม่ให้ตื้นเขิน ซึ่งขณะนี้ยังมีเวลาดำเนินการ โดยมีคณะกรรมการร่วมไทย-มาเลเซียร่วมด้วย เนื่องจากประเทศมาเลเซียและฝั่งไทยได้รับความเดือดร้อน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่โดยเฉพาะในจังหวัดนราธิวาส