“น้ำท่วม” 11 จังหวัด นายกรัฐมนตรีเรียกประชุม 4 หน่วยงานพร้อมรับมือลานีญา

03 ส.ค. 2567 | 04:16 น.
อัพเดตล่าสุด :03 ส.ค. 2567 | 05:06 น.

กรมอุตุนิยมวิทยาคาดปริมาณฝนประเทศไทยหลังจากนี้จะลดลงแต่ภาคเหนือและอีสานจะยังคงมีฝนตกหนัก โดยเป็นผลจาก "ลานีญา" ที่จะเริ่มจะมีผลกระทบจากนี้ไปจนถึงปลายปี โดยนายกรัฐมนตรีเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวันที่ 5 สิงหาคม 2567 เพื่อเตรียมพร้อมรับมือ"น้ำท่วม"

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

5 สิงหาคม2567 นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการ “ประชุมหารือบริหารจัดการน้ำ” ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ อธิบดีกรมชลประทาน และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) เข้าร่วมประชุม โดยนายกรัฐมนตรีจะกล่าวมอบนโยบายและข้อสั่งการ พร้อมด้วยการแถลงแนวทางการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลหลังจากที่สถานการณ์น้ำทั่วประเทศขณะนี้มีบางพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำสูง โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย

นายกรัฐมนตรีประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับมือน้ำท่วม

“น้ำท่วม” เชียงราย

สถานการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่องบริเวณภาคเหนือตอนบน ส่งผลกระทบให้มวลน้ำจำนวนมากไหลมายังพื้นที่จังหวัดเชียงราย ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่มเป็นวงกว้างครอบคลุมพื้นที่ 5 อำเภอ 8 ตำบล 15 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 51 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 200 ไร่  นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุ เข้าช่วยเหลือประชาชน และเตรียมรับมือกับสถานฝนตกหนักพร้อมรายงานให้จังหวัดทราบทุกระยะจนกว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติ

กรมอุตุฯคาดการณ์สถานการณ์ฝน

กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 30 ก.ค. – 4 ส.ค. 67 แม้ไทยจะมีฝนลดลงแต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นายชูชาติ รักษ์จิตร กรมชลประทานกล่าวว่า กรมชลประทานได้ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง และสั่งการให้พร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง รองรับปริมาณน้ำฝนที่กำลังจะเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว นอกจากนี้ได้เตรียมความพร้อมด้านเครื่องมือเพื่อให้เข้าช่วยเหลือในพื้นที่ต่างๆ ได้ทันท่วงที พร้อมประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้มากที่สุด

 

"ในการประชุมหารือการบริหารจัดการน้ำ วันที่ 5 ส.ค. นี้  นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธาน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนัก โดยเฉพาะในเดือน ส.ค. นี้ คาดว่าจะมีพื้นที่บางแห่งได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ส่วนหนึ่งเป็นอานิสงส์จากที่ไทยเข้าสู่ภาวะลานีญา และมีพายุพัดผ่านเป็นบางช่วง ทำให้ ปัจจุบันมีสถานการณ์อุทกภัย11 จังหวัด"

นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน

น้ำท่วม11จังหวัด
จังหวัดมหาสารคาม  
ได้รับผลกระทบ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.วาปีปทุม พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 700 ไร่ และ อ.โกสุมพิสัย บริเวณบ้านป่าปอ ต.ยางน้อย พื้นที่เกษตรได้รับความเสียหาย 150ไร่  รวมพื้นที่ได้รับผลกระทบ 850 ไร่ 

จังหวัดร้อยเอ็ด 
ได้รับผลกระทบ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.ปทุมรัตต์ อ.เกษตรวิสัย และ อ.สุวรรณภูมิ พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ 7,080 ไร่ 

โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเสียวใหญ่ สำนักชลประทานที่ 6 ลงพื้นที่ โดยได้ประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนและเกษตรกรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ให้พร้อมรับมือสถานการณ์น้ำไหลหลาก กรมชลประทานได้จัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ และเครื่องสูบน้ำ เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน และลงพื้นที่ติดตามความเสียหาย ได้เปิดบานระบายน้ำ ยุบยางฝายทุกแห่งและกําจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำโดยเร็วที่สุด พร้อมให้เจ้าหน้าที่ติดตาม สถานการณ์ในพื้นที่อย่างใกล้ชิดตลอด24 ชั่วโมง

ส่วนโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย สำนักงานชลประทานที่6 ดำเนินการเปิดบานลอยทั้ง 4 บาน ของ ประตูระบายน้ำห้วยเชียงส่ง ให้น้ำสามารถไหลลงลำห้วยเชียงส่งได้ สนับสนุนกระสอบทราย 300 ใบ เพื่อช่วยป้องกันพื้นที่นาที่น้ำยังท่วมไม่ถึง

จังหวัดกาฬสินธุ์

ได้รับผลกระทบ 2อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองกาฬสินธุ์ และ อ.กมลาไสย โดยอ.เมืองกาฬสินธุ์ มีน้ำท่วมพื้นที่เกษตรและพื้นที่ลุ่มต่ำ ต.หลุบ ต.ห้วยโพธิ์ และ ต.ลำพาน ได้รับผลกระทบ 6,300 ไร่ และ อ.กมลาไสย น้ำท่วมขังบริเวณพื้นที่กุดกว้างใหญ่ ต.เจ้าท่า พื้นที่ได้รับผลกระทบ 1,000 ไร่ 


โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวสำนักงานชลประทานที่ 6 ลงพื้นที่สํารวจระดับน้ำที่เข้าท่วมขังพื้นที่การเกษตรเพื่อเตรียมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่เข้าช่วยเหลือ โดยมีแผนติดตั้ง ทั้งหมด 14 จุด จำนวน 16 เครื่อง ทั้งยังเดินเครื่องสูบน้ำสถานีกุดแคน 1 เครื่อง เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร

จังหวัดยโสธร 

ได้รับผลกระทบ 1อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองยโสธร ได้รับผลกระทบ 1,922 ไร่ 

โครงการชลประทานยโสธร สำนักงานชลประทานที่ 7 เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำ 13 เครื่อง และ รถบรรทุกน้ำ 1 คัน ทั้งนี้โครงการชลประทานยโสธรได้ติดตามสถานการณน้ำอย่างใกล้ชิด 

น้ำจากจ.มหาสารคามไหลเข้าท่วมพื้นที่บ้านบาง ต.หัวเรือ อ.วาปีปทุม จ.ร้อยเอ็ดเมื่อวันที่19 ก.ค. 2567

จังหวัดอุบลราชธานี 

ได้รับผลกระทบ 1 อำเภอ ได้แก่ อ.เขื่องใน เป็นบริเวณพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ลุ่มต่ำติดห้วยพระบาง ต.ธาตุน้อย ได้รับผลกระทบ 50 ไร่ และบริเวณโนนเมืองหม้อ ติดริมน้ำชี ต.สหธาตุ มีน้ำท่วมนาข้าวประมาณ100 ไร่ รวม 150 ไร่ 


โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนล่างและเซบายตอนล่าง สำนักงานชลประทานที่ 7 ติดตั้งเครื่องสูบน้ำรวม 6 เครื่อง พร้อมทั้งก่อสร้างพนังกั้นน้ำชั่วคราว เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำมูล 6 เครื่อง

จังหวัดปราจีนบุรี 

ได้รับผลกระทบ 1อำเภอ ได้แก่ อ.กบินทร์บุรี ปริมาณน้ำเอ่อล้นตลิ่งบริเวณสถานี วัดน้ำสะพานต้นน้ำบางประกง โครงการชลประทานปราจีนบุรี สำนักงานชลประทานที่ 9 เตรียมความพร้อมสนับสนุนเครื่องจักร-เครื่องมือในพื้นที่ เพื่อเฝ้าระวังและดูแลอย่างใกล้ชิด

จังหวัดจันทบุรี 

ได้รับผลกระทบ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองจันทบุรี อ.มะขาม อ.ขลุง และ อ.โป่งน้ำร้อน ที่อ.เมืองจันทบุรี มีน้ำท่วมพื้นที่ ต.ท่าช้าง บริเวณถนนสายตากสิน และถนนหน้าหมู่บ้านนาฏศิลป์ อ.มะขาม มีน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำ ต.มะขาม ต.ปัถวี ต.ฉมัน และ ต.อ่างคีรี ได้รับผลกระทบ20 ครัวเรือน อ.ขลุง มีน้ำท่วมบริเวณ ต.มาบไพ ต.ตกพรม และ ต.บ่อเวฬุ และ อ.โป่งน้ำร้อน มีน้ำท่วมบริเวณ หมู่1 หมู่ 6 หมู่12 หมู่13

โครงการชลประทานจันทบุรี สำนักงานชลประทานที่9 ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และได้เปิดประตูระบาย น้ำกลางคลองภักดีรำไพ จำนวน5 บาน และเปิดประตูระบายน้ำปลายคลองภักดีรำไพ 6 บาน เพื่อเร่งระบายน้ำหลากจากเทือกเขาสระบาปไหลลงสู่คลองภักดีรำไพ และระบายน้ำระบายลงทะเลอ่าวไทย ทั้งนี้ได้ให้หน่วยงานเกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมเข้าช่วยเหลือตลอด24 ชั่วโมง

จังหวัดตราด

ได้รับผลกระทบ 1 อำเภอ ได้แก่ อ.เขาสมิง มีน้ำท่วมบริเวณต.เขาสมิง ต.วังตะเคียน ต.สะตอ และ ต.ทุ่งนนทรี ได้รับผลกระทบ20 ครัวเรือน โครงการชลประทานตราด สำนักงานชลประทานที่ 9 ติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เข้าถึงพื้นที่ให้เร็วที่สุดเป็นการบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยมีการประสานหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าดูแลให้ความช่วยเหลือ

จังหวัดฉะเชิงเทรา 

ได้รับผลกระทบ 1อำเภอ ได้แก่ อ.บางน้ำเปรี้ยว ปริมาณน้ำเอ่อล้นตลิ่งบริเวณ คลองหกวาสายล่าง ต.ดอนฉิมพลี น้ำท่วมขังสูงประมาณ0.30 ม. โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ สำนักงานชลประทานที่ 11 ดำเนินการเดินเครื่องสูบน้ำสถานีสูบน้ำกึ่งถาวรสมบูรณ์ สถานีสูบน้ำกึ่งถาวรประตูระบายน้ำปลายคลอง21 เดินเครื่องสูบน้ำ 7 เครื่อง พร้อมระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำปลายคลอง เพื่อระบายออกสู่แม่น้ำนครนายก และคลองแสนแสบ

จังหวัดนครนายก 

ได้รับผลกระทบ1อำเภอ ได้แก่ อ.องครักษ์ บริเวณ ม.2 ต.พระอาจารย์ ได้รับ ผลกระทบ7 ครัวเรือน ท่วมขังสูง 0.15เมตร - 0.20 เมตร โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ สำนักงานชลประทานที่ 11 ดำเนินการเดินเครื่องสูบน้ำสถานีสูบน้ำเสาวภาผ่องศรี 3 เครื่อง ทั้งยังระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำกลางคลอง เพื่อระบายออกสู่แม่น้ำนครนายก

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 

มีพื้นที่น้ำท่วมนอกคันกั้นน้ำ 1 อำเภอ ได้แก่ อ.เสนา มีน้ำท่วมขัง ต.หัวเวียง ได้รับรับผลกระทบ5 ครัวเรือน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผักไห่ สำนักงานชลประทานที่ 12 แจ้งเตือนให้ประชาชนรับทราบ และเตรียมการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อช่วยเหลือเหลือบริเวณพื้นที่การเกษตร

เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์

 

อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ 

ขณะนี้มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 42,191 ล้านลูกบาศก์เมตรหรือ55% ของความจุอ่างเก็บน้ำทั้งประเทศรวมกัน ซึ่งยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 34,146 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก ได้แก่เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่ขณะนี้มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 10,139 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร เท่ากับ 41% ของความจุอ่างเก็บน้ำรวมกัน ซึ่งยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกัน 14,732 ล้านลูกบาศก์เมตร