นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้า โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามันมัน (ชุมพร- ระนอง) หรือแลนด์บริดจ์
ภายหลังที่ผู้บริหารของบริษัทดูไบ พอร์ต เวิลด์ (DP World) ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์การขนส่งสินค้า รวมทั้งนักลงทุนประเทศจีนและสหรับอเมริกา ได้ลงพื้นที่โครงการแลนด์บริดจ์ นั้นมั่นใจว่าผลการศึกษาของโครงการฯนี้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งสอดคล้องกับนักวิชาการที่ให้ความเห็นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีท่าเรือฝั่งตะวักตก
“สาเหตุผลที่มีนักลงทุนสนใจร่วมลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์ เนื่องจากในปัจจุบันเกิดปัญหาสงครามระหว่างประเทศ ทำให้หลายประเทศต้องการความมั่นใจในการดำเนินธุรกิจท่ามกลางความขัดแย้งต่างๆ พบว่า มีนักธุรกิจต่างชาติให้ความสนใจหลายประเทศ เช่น ดูไบ, จีน, สหรัฐอเมริกา" นายปัญญา กล่าว
ขณะที่ดูไบให้ความสนใจโครงการฯเป็นพิเศษ เนื่องจากบริษัทดูไบ พอร์ต เวิลด์ มีกองเรือค่อนข้างเยอะ แต่ไม่มีท่าเรือเป็นของตัวเองในช่องแคบมะละกา
หากผู้ประกอบการสายการเดินเรือมีท่าเรือในแลนด์บริดจ์จะช่วยเพิ่มความสะดวกในการขนส่งสินค้าได้ ด้านนักลงทุนจีน พบว่าต้องการขนส่งสินค้าไปทางตอนใต้ของจีนเพื่อให้สอดคล้องต่อการก่อสร้างรถไฟของจีน
นายปัญญา กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์จะสามารถเดินหน้าได้ต่อเมื่อมีร่างพระราชบัญญัติ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (พ.ร.บ. SEC) เพื่อขับเคลื่อนแลนด์บริดจ์ โดยมีการกำหนดพื้นที่ 4 จังหวัด คือ สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร ระนอง เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้
ปัจจุบันได้เสนอเรื่องไปยังคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กพศ.) ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เพื่อมอบอำนาจให้สนข.เป็นผู้จัดทำร่าง พ.ร.บ. SEC
ทั้งนี้กพศ.จะประชุมปลายเดือนส.ค.นี้ หากสนข.ได้รับมอบหมายแล้ว หลังจากนั้นจะนำร่างพ.ร.บ.SEC เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน โดยนำความเห็นมาปรับปรุงประกอบก่อนสรุป
และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในเดือนต.ค.-พ.ย. 2567 จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการออกกฎหมายต่อไป คาดว่าร่าง พ.ร.บ. SEC จะผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ภายในปี 2568
นอกจากนี้สนข.อยู่ระหว่างดำเนินการจ้างที่ปรึกษาโครงการจัดเตรียมเอกสารและให้คำปรึกษาในการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์ (RFP) ประกอบด้วย จัดทำร่างเอกสารประกวดข้อเสนอ เพื่อคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนร่างประกาศเชิญชวน
ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกและร่างสัญญาร่วมลงทุน รวมถึงการจัดเตรียมข้อมูลและเอกสารอื่นที่จำเป็น วงเงินงบประมาณ 45 ล้านบาท ระยะเวลาศึกษา 840 วัน
โดยจะลงนามสัญญาจ้างได้ในเดือนกันยายน 2567และคาดว่าจะเปิดประมูลต้นปี 2569 และดำเนินการก่อสร้างทันที ตามแผนจะเปิดให้บริการในปี 2573
สำหรับรายละเอียดรูปแบบการลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ จะให้สิทธิผู้สนใจลงทุนมีสิทธิประมูลโครงการเป็น Single Package ในระยะเวลา 50 ปี ได้แก่ ท่าเรือ 2 แห่ง (ท่าเรือชุมพร และท่าเรือระนอง) โครงสร้างพื้นฐานเชื่อมต่อ ได้แก่
ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและทางรถไฟ รวมทั้งพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม แต่สามารถร่วมกันลงทุนได้ในรูปแบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture) หรือการร่วมกันในลักษณะกลุ่มบริษัท (Consortium) รูปแบบการลงทุนจะเป็นรูปแบบ PPP Net Cost
โดยภาครัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบในการให้สิทธิประโยชน์แก่ภาคเอกชน พร้อมทั้งจัดหาพื้นที่และการเวนคืนให้สำหรับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ท่าเรือ เส้นทางเชื่อมโยงต่างๆ โดยภาคเอกชนผู้ลงทุนต้องเป็นผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเองทั้งหมด และดำเนินการบริหารจัดการ
ทั้งนี้จากการประเมินมูลค่าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเบื้องต้นที่ผู้ลงทุนต้องใช้ในการพัฒนาโครงการ มีมูลค่าลงทุนประมาณ 1.001 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็น
ท่าเรือฝั่งระนอง ประมาณ 330,810 ล้านบาท ท่าเรือฝั่งชุมพร ประมาณ 305,666 ล้านบาท และโครงสร้างพื้นฐานการเชื่อมต่อ ได้แก่
ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและทางรถไฟ รวมประมาณ 358,517 ล้านบาท (เป็นราคาประเมิน ณ ปี พ.ศ. 2566 โดยไม่ได้รวมเงินเฟ้อ) ซึ่งจากการประเมินอัตราผลตอบแทนภายในทางการเงิน (FIRR) ที่ผู้ลงทุนจะได้รับจากโครงการในเบื้องต้น เท่ากับ 8.62% (กรณียังไม่มีการกู้ยืม) โดยมีระยะเวลาคืนทุนปีที่ 24 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโครงการมีความคุ้มค่ากับการลงทุน