ชงครม.ไฟเขียว “ตั๋วร่วม” รับนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

07 ส.ค. 2567 | 00:00 น.

“สนข.” เดินหน้าชงครม.เคาะ ร่างพ.ร.บ.ตั๋วร่วม เตรียมถกเอกชนเจรจาชดเชยรายได้ ตั้งเป้ามีผลบังคับใช้ภายใน ก.ย.68 รับนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ลุยจ้างที่ปรึกษาฯศึกษาคลอดกฎหมายลูก 17 ฉบับ หลังได้รับงบปี 68 วงเงิน 35 ล้านบาท

นโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายของกระทรวงคมนาคม ทำให้ “สนข.” เร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ตั๋วร่วม ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว ซึ่งจะทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกสบายในการเดินทาง ลดค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนจากผู้ให้บริการต่างระบบ
 
นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการศึกษาจัดทำแผนการกำกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ที่ผ่านมาสนข.ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. ....

ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมได้เสนอร่างพ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแล้ว ซึ่งสำนักเลขานายกรัฐมนตรีอยู่ระหว่างสอบถามความคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมก่อนนำเสนอเข้าครม.เห็นชอบต่อไป 

 ทั้งนี้ตามขั้นตอนจะต้องนำร่างพ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ เสนอต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวภายในกันยายน 2568 ซึ่งสอดรับกับนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทสูงสุดตลอดสาย

ขณะเดียวกันในปีงบประมาณ 2568 สนข.ได้รับจัดสรรงบประมาณ วงเงิน 35 ล้านบาท ระยะเวลาศึกษา 24 เดือน หรือ 2 ปี เพื่อจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาการจัดทำกฎหมายลูก จำนวน 17 ฉบับ ให้แล้วเสร็จก่อนเดือนกันยายน 2568 ในการรองรับร่างพ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ
 

ส่วนการจัดทำกฎหมายลูกของระบบตั๋วร่วม จำนวน 17 ฉบับ นั้น มีสาระสำคัญ โดยมุ่งเน้นการจัดมาตรฐานของบัตรโดยสารที่ครอบคลุมการเดินทางระบบขนส่งสาธารณะ เช่น ระบบราง การโดยสารทางเรือ

ตลอดจนรถโดยสารสาธารณะ ,อัตราค่าโดยสารร่วม,เทคโนโลยีการอ่านบัตรโดยสาร,การแก้ปัญหาระบบรถไฟฟ้าข้ามสาย,การจัดเก็บค่าธรรมเนียม รวมถึงการจัดตั้งกองทุนระบบตั๋วร่วมเพื่อชดเชยรายได้ให้แก่เอกชนที่เข้าร่วมระบบดังกล่าว

 นายปัญญา กล่าวต่อว่า  ที่ผ่านมาการเดินหน้าระบบตั๋วร่วมไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากขาดการบังคับใช้ของกฎหมาย โดยสนข.ได้เร่งรัดพ.ร.บ.ตั๋วร่วม เป็นหลักก่อน เพื่อรองรับให้โอเปอเรเตอร์แต่ละรายสามารถเข้าสู่ระบบเดียวกันได้

เบื้องต้นสนข.จะใช้ระบบเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ให้สอดรับกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปแทนระบบเดิมที่เคยศึกษาไว้ เนื่องจากระบบเดิมเป็นเทคโนโลยีที่นานและล้าสมัยแล้ว

 “การใช้ระบบตั๋วร่วม ไม่ได้หมายความว่าเป็นการใช้บัตรเพียงใบเดียว แต่เป็นการนำเทคโนโลยีร่วมกันมาใช้ในระบบเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้บัตรแรบบิทและบัตร MRT ได้ตามปกติ โดยไม่ต้องเปลี่ยนบัตรโดยสาร” นายปัญญา กล่าว
 

ขณะเดียวกันนโยบายค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสายนั้น จะใช้อัตราค่าโดยสารร่วม ซึ่งกระทรวงคมนาคมจะมีการจัดตั้งกองทุนระบบตั๋วร่วมเพื่อชดเชยรายได้ให้แก่เอกชน ส่วนสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวที่มีการลงนามสัญญาแล้วจำเป็นต้องหารือร่วมกับเอกชน หากอัตราค่าโดยสารถูกลง ส่งผลให้ปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นกว่าที่เคยประมาณการไว้

 จากการศึกษาของกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ระบุว่า ในช่วง 4-5 ปีแรก ต้องมีการชดเชยรายได้ให้แก่เอกชนที่เข้าร่วมนโยบายค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสายก่อน จากนั้นรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากปริมาณผู้โดยสารจะสามารถชดเชยได้ด้วยตนเอง โดยที่ภาครัฐไม่ต้องชดเชยรายได้ให้แก่เอกชนอีก

ชงครม.ไฟเขียว “ตั๋วร่วม” รับนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

 “ยืนยันว่าก่อนที่ร่างพ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯ มีผลบังคับใช้ภายในเดือนกันยายน 2568 นั้นจะต้องมีการเจรจาร่วมกับเอกชนผู้ที่ได้รับสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าแต่ละเส้นทางให้แล้วเสร็จก่อน ซึ่งเป็นการชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปให้สอดรับกับนโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย” นายปัญญา กล่าว

 สำหรับร่าง พ.ร.บ. การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... ประกอบด้วย 7 หมวด และบทเฉพาะกาล (45 มาตรา) ดังนี้ การกำหนดคำนิยาม (มาตรา 1 - 4) หมวด 1 คณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม (มาตรา 5 - 13) หมวด 2 การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม (มาตรา 14 - 23)

หมวด 3 การดำเนินงานในการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม (มาตรา 24) หมวด 4 อัตราค่าโดยสารร่วม (มาตรา 25 - 28) หมวด 5 กองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม (มาตรา 29 - 34)  หมวด 6 การพักใช้และเพิกถอนใบอนุญาต (มาตรา 35 - 36) หมวด 7 โทษทางปกครอง (มาตรา 37 - 40) บทเฉพาะกาล (มาตรา 41 - 45)