Temu ไม่เข้าข่ายจดทะเบียนภาษี “สรรพากร” ชี้ไม่มีคนไทยเป็นตัวกลาง

12 ส.ค. 2567 | 02:43 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ส.ค. 2567 | 02:43 น.

สรรพากร เผยแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Temu ไม่มีคนไทยเป็นตัวกลาง จึงไม่เข้าข่ายจดทะเบียนเป็นผู้ภาษีในประเทศไทย แต่สั่งสินค้าต้องจ่าย Vat 7% ตั้งแต่บาทแรก

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยถึงการตรวจสอบแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Temu เพื่อให้เข้าร่วมจดทะเบียนระบบภาษี ว่า กรมสรรพากรได้ติดต่อไปยังทาง Temu แล้ว โดยการส่งอีเมล ซึ่งเป็นการแนะนำให้เข้ามาจดทะเบียนเป็นผู้เสียภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมายไทย

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน สถานะของ Temu นั้น ยังไม่เข้าข่ายตามกฎหมายการจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) ในประเทศไทย เพราะฉะนั้นทำให้ไม่สามารถบังคับให้เขามาจดทะเบียน Vat ได้   

“Temu เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ขายสินค้าจากต่างประเทศโดยตรง ที่ไม่มีผู้ประกอบการคนไทย เข้าไปเป็นสื่อกลางการใช้บริการ หรือเปิดร้านซื้อขายบนแพลตฟอร์ม เพราะฉะนั้น ทาง Temu จึงยังไม่เข้าข่ายผู้ต้องเสียภาษีในประเทศไทย”

ขณะที่ภาษี Vat ด้านบริการ ที่เรียกเก็บจากแพลตฟอร์มต่างชาติ ทาง Temu ก็ไม่เหมือนกับแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่มีผู้ประกอบการไทยเข้าไปใช้บริการเช่นกัน อย่างไรก็ตาม อนาคตถ้ามีนโยบายให้สรรพากรเข้าไปดำเนินงานกับ Temu สรรพากรก็พร้อมประสานและดำเนินงานแน่นอน

ส่วนสินค้าที่สั่งนำเข้ามาจาก Temu ก็จะถูกจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ตามกฎหมายจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้านำเข้าที่กำหนด โดยเริ่มเก็บตั้งแต่ราคาบาทแรก และไม่มีการยกเว้นภาษีสินค้าที่มีราคาต่ำกว่า 1,500 บาท

สำหรับ Temu นั้น นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ซีอีโอ กลุ่มบริษัท efrastructure Group ผู้บุกเบิกวงการอีคอมเมิร์ซ และการตลาดดิจิทัลเมืองไทย กล่าวถึงแพลตฟอร์ม ว่า Temu  ใช้รูปแบบการดำเนินธุรกิจเดียวกับที่ใช้ตีตลาดในสหรัฐ และทั่วโลกมาแล้ว คือ เน้นขายของถูกจากโรงงานผลิตโดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้มีต้นทุนต่ำ ทำให้ได้กำไรสูง

และใช้วิธีทุ่มยิงแอดโฆษณาผ่านโซเชียลมีเดีย ให้ส่วนลดสูงสุด 90% มีบริการส่งฟรี บริการรับประกันส่งสินค้า และระบบคืนเงินหากไม่พอใจสินค้า เพื่อจูงใจคนเข้าไปซื้อสินค้าผ่านแอปพลิเคชัน Temu

ทั้งนี้ การเข้ามาของ Temu ถือเป็นพายุลูกใหม่ที่รุนแรงเพราะจะทำให้สินค้าจีนหลั่งไหลเข้ามาในไทยมากขึ้น และเงินไหลออกนอกประเทศมากขึ้น โดยที่ไทยไม่ได้อะไรกับมาเลย และจะกลายเป็นภัยคุกคามเศรษฐกิจไทยในอนาคต หากภาครัฐ ไม่เข้ามาจัดการปัญหาดังกล่าว เพราะกรณีของ Temu นั้นไม่ได้จดทะเบียนในไทย

“บริษัทแม่จดทะเบียนในไอร์แลนด์ เข้ามาเปิดเว็บไซต์ภาษาไทย ราคาขายเป็นไทย ทุ่มโฆษณายิงแอด ดึงคนเข้าแอป แล้วขายของทันที ไม่มีจดทะเบียนให้บริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ ขึ้นทะเบียนบริการดิจิทัลเซอร์วิส ไม่ต้องจ่ายภาษีขาเข้า ไม่มีต้นทุนขออนุญาตเพื่อให้ได้มาตรฐานต่างๆ เช่น อย. หรือ มอก. นอกจากนี้ยังได้ข้อมูลของคนไทยออกไปจากการเข้ามาใช้บริการในแอปพลิเคชัน“