นายกฯ ตั้ง "ภูมิธรรม" เช็คต้นตอทุนต่างชาติขายสินค้าในไทย

13 ส.ค. 2567 | 07:27 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ส.ค. 2567 | 07:53 น.

นายกฯ “เศรษฐา ทวีสิน” ตั้ง "ภูมิธรรม เวชยชัย" หัวหน้าทีมสอบทุนต่างชาติขายสินค้าในไทย ไล่เช็คต้นตอตั้งแต่การจดทะเบียนตั้งบริษัท ตั้งโรงงาน ตรวจสอบใบอนุญาต และมาตรฐานสินค้า

วันนี้ (13 สิงหาคม 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายรัฐมนตรี แถลงภายหลังการเป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาออกมาตรการป้องกันและปราบปรามธุรกิจขายสินค้าจากต่างประเทศ ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่นำเข้ามาขายในประเทศไทย

ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในการหารือรายละเอียดทั้งหมด เช่น การตรวจสอบการจดทะเบียนธุรกิจการค้า และการตรวจสอบใบอนญาตต่างๆ การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ รวมถึงการชำระอากรขาเข้าของผู้ประกอบการ เพื่อหาทางสนับสนนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย สามารถปรับตัวแข่งขันได้ โดยจะต้องสรุปมาตรการออกมาให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือนสิงหาคม 2567 นี้

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงรายละเอียดว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ เป็นเจ้าภาพเร่งหารือให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดมาตรการที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมดังนี้

  1. การตรวจสอบการจดทะเบียนธุรกิจการค้าและใบอนุญาตต่างๆ เพื่อดำเนินการกับธุรกิจผิดกฎหมายหรือสีเทาจากต่างประเทศ 
  2. การตรวจสอบสินค้าว่าเป็นไปตามมาตรฐาน เช่น มอก. และ อย. เพื่อปกป้องผู้บริโภค โดยสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคเป็นเจ้าภาพ ประสานกับกระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
  3. การตรวจสอบใบอนุญาตนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศและการชำระอากรขาเข้าของผูประกอบการ 
  4. การตรวจสอบใบอนุญาตการตั้งโรงงาน โดยกรมโรงงาน

โฆษกรัฐบาล ระบุว่า นายกฯ คำนึงถึงข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ และดูแลผลประโยชน์ของผู้บริโภคและผู้ประกอบการอย่างสมดุล รวมทั้งหาทางสนับสนุนและพัฒนาให้ผู้ประกอบการ SME ไทยสามารถปรับตัวและแข่งขันได้ และขอให้สรุปข้อหารือ เพื่อนำเสนอต่อ ครม. ภายในเดือนสิงหาคม 2567 นี้

ทั้งนี้เนื่องจากมีข้อร้องเรียนจากภาคธุรกิจเอกชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ประกอบการ SME เกี่ยวกับธุรกิจขายสินค้าทางออนไลน์และออฟไลน์จากต่างประเทศได้เข้ามาค้าขายอย่างผิดปกติในประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อโอกาสในการทำธุรกิจของคนไทย