อนาคต โครงการเติมเงิน 10000 บาท ผ่าน Digital Wallet หรือ เงินดิจิทัลวอลเล็ต อาจลุ้นหนักว่าจะเดินต่อหรือล้มโครงการ ภายหลังมีการประเมินกันว่า "รัฐบาลใหม่" ที่ไม่ใช่ อดีตนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน อาจพับนโยบายเรือธงของรัฐบาลเดิม เพราะใช้งบประมาณสูงถึง 4.5 แสนล้านบาท แถมเจอข้อครหาอีกสารพัดจนไม่น่าจะถึงฝั่งฝันได้ แม้ที่ผ่านมาจะเปิดลงทะเบียนดึงคนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 30 ล้านคน
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ยอมรับว่า โครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10000 บาท ที่ผ่านมาเจอปัญหาเกี่ยวกับแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการค่อนข้างมาก แม้ว่ารัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน จะปรับไปใช้เงินจากงบประมาณรายจ่ายปี 2567-2568 มาเดินหน้าโครงการ แต่ทั้งหมดก็ยังไม่มีความไม่แน่นอนว่าโครงการจะได้รับการสานต่อหรือไม่ โดยเฉพาะรัฐบาลใหม่ ซึ่งอาจมีโครงการที่ดีกว่าในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ทั้งนี้มีการประเมินว่า หากรัฐบาลไม่เดินหน้าโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ตต่อไป การจัดเตรียมแหล่งเงินเดิม โดยเฉพาะการจัดทำ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พ.ศ. .... วงเงิน 122,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภา สุดท้ายแล้วอาจมีความจำเป็นต้องทบทวนใหม่ทั้งหมด
แหล่งข่าว ระบุว่า หากรัฐบาลใหม่ไม่เอาโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10000 บาท ก็มีข้อเสนอเบื้องต้นว่า ควรนำงบประมาณส่วนนี้ไปใช้ในการลงทุน โครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในระดับจังหวัด ซึ่งมีลักษณะคล้าย ๆ กับโครงการก่อนหน้านี้ที่ใช้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจช่วงหลังโควิด-19 แทนอาจเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันมากกว่า
นั่นเพราะการลงทุนโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในระดับจังหวัด จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับชุมชนและฐานรากได้ดี เพราะจะก่อให้เกิดการลงทุนที่แท้จริง โดยมีเงินที่กระจายลงไปในระบบเศรษฐกิจ และเกิดเงินหมุนเวียนในระบบประมาณ 1.5 เท่าของวงเงินที่ลงทุนไปด้วย
"หากปรับเงินโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต ลงไปในระบบเศรษฐกิจ อาจทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น ช่วยผู้รับเหมารายย่อย และช่วยการจ้างงานในระดับชุมชน ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจค่อย ๆ ฟื้นขึ้นมาได้ แต่ถ้าเทียบกับการแจกเงิน 4.5 แสนล้านบาท ให้กับประชาชนไปใช้จ่ายผ่านเงินดิจิทัลวอลเล็ต จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้น้อย และที่ผ่านมาหน่วยงานเศรษฐกิจก็ประเมินว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ 0.9 เท่า เท่านั้น" แหล่งข่าวระบุ
อย่างไรก็ตามในการตัดสินใจขับเคลื่อนโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10000 บาทนั้น คงต้องรอให้รัฐบาลใหม่ตัดสินใจในท้ายที่สุดอีกที โดยที่ผ่านมาในการจัดเตรียมงบประมาณนั้น คณะกรรมการนโบบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ภายใต้รัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” ได้เห็นชอบการจัดเตรียมแหล่งเงินจากงบประมาณรายจ่ายปี 2567-2568 วงเงินรวม 450,000 ล้านบาท ประกอบด้วย
ด้าน นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ยอมรับว่า ขณะนี้การจัดเตรียมแหล่งเงินงบประมาณเพื่อใช้ในโครงการได้ข้อสรุปหมดแล้ว และอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภา ทั้งงบประมาณเพิ่มเติมปี 2567 และงบประมาณปี 2568 แต่การขับเคลื่อนโครงการก็ต้องดูรัฐบาลใหม่ว่าจะเดินต่ออย่างไร
อย่างไรก็ตามในกรณีการทบทวนหรือเลิกโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10000 บาท งบประมาณที่กันไว้หลายแสนล้านจะโยกไปใช้ในโครงการอื่นได้หรือไม่ นายเฉลิมพล ยอมรับว่า งบประมาณที่เตรียมเอาไว้ อยู่ภายใต้งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ หากจะเปลี่ยนก็ต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายงบประมาณ และเป็นไปตามกรอบกฎหมายเท่านั้น