กรณีแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา 700 คน รวมตัวเรียกร้องค่าจ้างค้างจ่ายจากนายจ้างทุนจีนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา
ล่าสุด นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามแก้ไขปัญหา โดยเบื้องต้นกระทรวงแรงงานตรวจสอบพบว่า ปัญหาเกิดจากกระบวนการตรวจสอบและโอนเงินระหว่างประเทศจากบริษัทแม่ในจีนที่ล่าช้า
โดยพนักงานตรวจแรงงานและผู้แทนบริษัทได้หารือร่วมกันและได้จ่ายเงินเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนของลูกจ้างรายละ 500 บาทแล้ว เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ทางบริษัทรับปากว่าจะมีการกำกับควบคุมเรื่องการเงินให้ดีขึ้น โดยจะจ่ายค่าจ้างเป็นเงินสดและมีผู้แทนของบริษัทกำกับดูแลอย่างเป็นระบบ เริ่มตั้งแต่เดือน สิงหาคม 2567 นี้ เป็นต้นไป และได้กำหนดนัดจ่ายเงินภายในวันที่ 21 สิงหาคม 2567 บริเวณไซต์งานก่อสร้าง
สำหรับการชุมนุมเรียกร้องของแรงงานเมียนมาครั้งนี้อยู่ภายใต้กฎหมายและเกิดขึ้นในพื้นที่ของเอกชน ซึ่งสามารถควบคุมได้และไม่บานปลาย โดยในวันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม 2567 นี้ เวลา 13.30 น. พนักงานตรวจแรงงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบเอกสารด้านการคุ้มครองแรงงานและการจ้างแรงงานข้ามชาติเพื่อวางแนวทางแก้ไขปัญหาและกำชับให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้องต่อไป
นายภูมิพัฒน์ กล่าวว่า แรงงานกลุ่มดังกล่าวเป็นคนงานก่อสร้างอาคารโรงงาน 3 ชั้น พร้อมดาดฟ้าและสิ่งปลูกสร้างเกี่ยวเนื่องของโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ พื้นที่ 50 ไร่ ที่มีบริษัท ไอฟาวน์ พีซีพี (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นผู้ลงทุนและได้รับทุนจากรัฐบาลจีนในการก่อสร้าง โดยมีบริษัท ชาง เชง จำกัด เป็นผู้นำคนงานเข้ามาก่อสร้าง
โดยทำสัญญาช่วงกับบริษัทรับเหมาก่อสร้างหลัก คือ บริษัท ซีเอชอีซี (ไทย) จำกัด ระยะเวลาก่อสร้างตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ 2567 – มีนาคม 2568 ซึ่งในสัญญาแรกการก่อสร้างอาคารโรงงาน 3 ชั้น มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2567 ขณะนี้ก่อสร้างแล้วประมาณ 70%