แรงงานเตือนคนไทย งดเดินทางไปทำงาน อิสราเอล-เลบานอน ชั่วคราว

17 ส.ค. 2567 | 01:48 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ส.ค. 2567 | 01:54 น.

กระทรวงแรงงาน เตือนคนไทยงดเดินทางไปทำงาน อิสราเอล-เลบานอน ชั่วคราว หลังสถานการณ์ความตึงเครียดมีแนวโน้มขยายตัวและทวีความรุนแรงมากขึ้น เตรียมส่งแรงงานไทยไปเกาหลีเพิ่ม

วันนี้ (17 สิงหาคม 2567) นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้รับรายงานจากกรมการจัดหางาน ฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ และสำนักงานแรงงานในประเทศซาอุดิอาระเบีย เกี่ยวกับสถานการณ์ความตึงเครียดในอิสราเอลและเลบานอน ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวและทวีความรุนแรงมากขึ้นจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 31 ก.ค.67 ในประเทศอิหร่าน 

โดยกระทรวงแรงงานประเมินสถานการณ์แล้วจึงขอแจ้งให้แรงงานไทยชะลอการเดินทางไปทำงานในอิสราเอลและเลบานอนทุกวิธีการเดินทางเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

สำหรับการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศถือเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงแรงงานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยในปีนี้ตั้งเป้าหมายไว้ 100,000 คน ซึ่งตัวเลข ณ สิ้นเดือน ก.ค. ได้จัดส่งแรงงานไทยไปแล้ว 77,918 คน หรือคิดเป็น 77.92% ของเป้าหมาย และล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดส่งแรงงานไทยไปสาธารณรัฐเกาหลี ภายใต้ระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (Employment Permit System : EPS) ระหว่างกระทรวงแรงงานของไทย กับกระทรวงแรงงานและการจ้างงานของเกาหลี ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 23 ก.ค.2567

ทั้งนี้ บันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าว มีกำหนดระยะเวลา 2 ปี และจะมีผลบังคับใช้จนกว่าจะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับใหม่ โดยฉบับนี้ได้เพิ่มมาตรการช่วยเหลือแรงงานกรณีเกิดภัยพิบัติ และลดระยะเวลาในการกลับไปทำงานในเกาหลี สำหรับแรงงานที่ทำงานครบ 4 ปี 10 เดือน โดยไม่ได้ย้ายงาน เหลือ 1 เดือน จากเดิม 3 เดือน

สำหรับในปี 2567 นี้ ประเทศไทยได้รับการจัดสรรโควตาแรงงานวีซ่า E – 9 ประเภทงานอุตสาหกรรมการผลิต งานเกษตรและปศุสัตว์ งานก่อสร้าง และงานบริการ จำนวน 8,688 คน มากกว่าปีที่ผ่านมา 3,888 คน และปัจจุบันได้จัดส่งแรงงานไปแล้ว 3,270 คน คาดว่าจะสามารถจัดส่งได้ตามโควตาที่ได้รับจัดสรร

“บันทึกความเข้าใจฯ นี้จะเป็นกรอบความร่วมมือที่ชัดเจนในการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในเกาหลี ตั้งแต่การสรรหาแรงงาน การทดสอบภาษาและฝีมือแรงงาน ค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายในการเดินทาง การตรวจลงตราและการเข้าเมือง การทำงานและการพำนัก และการเดินทางกลับเมื่อทำงานครบตามระยะเวลาที่กำหนด สิ่งเหล่านี้จะช่วยป้องกันการอยู่ในเกาหลีอย่างผิดกฎหมาย สร้างความโปร่งใส โดยคำนึงถึงประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย” นายภูมิพัฒน์ กล่าว