เอกชนหวัง "แพทองธาร ชินวัตร" นายกคนใหม่ตั้งรัฐบาลใน 1 เดือน ขับเคลื่อนประเทศ

16 ส.ค. 2567 | 08:03 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ส.ค. 2567 | 09:09 น.

เอกชนหวัง "แพทองธาร ชินวัตร" นายกคนใหม่ตั้งรัฐบาลใน 1 เดือน ขับเคลื่อนประเทศ รับต้องการให้มีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพิ่มเติม นอกจากการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท วอนทบทวนขึ้นค่าแรง 400 บาท

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงประเด็นที่ประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ คนที่ 31 คือนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ว่า หลังจากนี้ต้องการให้การจัดตั้งรัฐบาลเสร็จภายใน 1 เดือน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของประเทศ 

โดยเฉพาะด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุนหลังจากนายเศรษฐา ทวีสิน ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 5-4 เสียงให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากกรณีแต่งตั้งพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ

"มีนักลงทุนต่างชาติสอบถามเข้ามาเป็นจำนวนมาก เพื่อต้องการรับทราบความชัดเจนของประเทศไทย โดยส่วนใหญ่ก็ยังมีความต้องการลงทุนอยู่ เพียงแต่ต้องการความต่อเนื่องของนโยบาย" 
 

ทั้งนี้ ในมุมมองของภาคเอกชนไม่ได้รู้สึกแปลกใจแต่อย่างใดที่นางสาวแพทองธารได้เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะเป็น 1 ในรายชื่อแคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทยแต่แรก โดยเชื่อว่าน่าจะสามารถทำงานประสานร่วมกับทุกภาคส่วนได้ ทำให้การเมืองมีเสถียรภาพเพิ่มขึ้น

เอกชนหวัง "แพทองธาร ชินวัตร" นายกคนใหม่ตั้งรัฐบาลใน 1 เดือน ขับเคลื่อนประเทศ

อย่างไรก็ดี ภาคเอกชนคาดหวังว่าจะได้เห็นนโยบายที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพิ่มเติม นอกจากนโยบายการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ซึ่งเวลานี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะทำอย่างไรต่อไปกับนโยบายดังกล่าว เพราะถือเป็นนโยยบายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เนื่องจากงบประมาณที่ล่าช้า 6-7 เดือน จึงมีความจำเป็นต้องกระตุ้น แต่เวลานี้งบฯสามารถใช้ได้แล้ว ก็ไม่รู้ว่ารัฐบาลจะเดินหน้านโยบายแจกเงินดิจิทัลต่อหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของภาคเอกชนหากเป็นไปได้ก็ต้องการให้แบ่งงบประมาณออกเป็นหลายก้อน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้หลากหลาย และครอบคลุมในทุกมิติ
 

รัฐบาลควรมีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นมาเสริมนอกจากการแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท เพราะปัญหาหลักของไทยเวลานี้คือเรื่อง ปากท้องของประชาชน และความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs)

นอกจากนี้ หากเป็นไปได้เอกชนต้องการให้รัฐบาลทบทวนนโยบายการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท เพื่อให้เกิดความเหมาะสม และไม่เป็นภาระกับภาคเอกชนมากจนไป

"นโยบายบางอย่างหากเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก และเสี่ยงต่อข้อกฎหมาย ก็ต้องการให้รัฐบาลพิจารณาให้มาก เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยมักจะประสบปัญหามาจากเรื่องของกฎหมาย"