นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การจัดเก็บรายได้รัฐบาลในปีงบประมาณ 2567 นั้น ยืนยันว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ 2.78 ล้านล้านบาท แม้ว่ายอดการจัดเก็บรายได้ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณจะต่ำกว่าเป้าหมายกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท โดยการจัดเก็บรายได้ในช่วงที่เหลือของปีจะเริ่มทยอยดีขึ้น
“หลังจากประชุมกับผู้บริหารหน่วยงานจัดเก็บก็ประเมินได้ว่า ยอดการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลจะกระเตื้องขึ้นในเดือนที่ 10 และรายได้ที่ต่ำเป้าจะแคบลงมากขึ้นในเดือนที่ 11 และปิดหีบได้ตามเป้าหมายที่ 2.78 ล้านล้านบาท”
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ยอดการจัดเก็บรายได้ 10 เดือนของกรมอยู่ที่ 1.76 ล้านล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 3.3 หมื่นล้านบาท หรือ 1.9% และสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 8.6 พันล้านบาทหรือ 0.5% เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคภายในประเทศ จัดเก็บได้สูงขึ้นกว่าปีก่อนและสูงกว่าประมาณการเป็นสำคัญ
สำหรับปัจจัยที่ยังต้องจับตามองในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีงบประมาณ คือ การชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลจากประมาณการกำไรสุทธิ (ภงด 51) ที่ส่วนหนึ่งมาจากผลประกอบการในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 (ม.ค. – มิ.ย. 67) ทั้งนี้ เป้าหมายการจัดเก็บของกรมฯอยู่ที่ 2.767 ล้านล้านบาท คาดว่า จะจัดเก็บได้ตามเป้าหมาย
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ในปีงบประมาณนี้ การจัดเก็บรายได้ของกรมฯได้รับผลกระทบจากมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล และ มาตรการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า ส่งผลให้ยอดการจัดเก็บในภาพรวมต่ำกว่าเป้าหมาย อย่างไรก็ดี การจัดเก็บรายได้ยังสูงกว่าปีก่อนหน้า โดยเป้าหมายการจัดเก็บทั้งปีอยู่ที่ 5.98 แสนล้านบาท
สำหรับยอดการจัดเก็บรายได้ใน 10 เดือนแรกของปีงบประมาณอยู่ที่ 4.39 แสนล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 5.26 หมื่นล้านบาท หรือ 13.64% แต่ต่ำกว่าการประมาณการ 6.17 หมื่นล้านบาท หรือ 12.34%
ทั้งนี้ ยอดการจัดเก็บภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันจัดเก็บได้ 1.73 แสนล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 8.3 หมื่นล้านบาท หรือกว่า 90% แต่ต่ำกว่าประมาณการ 2.5 หมื่นล้านบาท หรือ 12.65% ส่วนการจัดเก็บภาษีรถยนต์อยู่ที่ 5.86 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 2.8 หมื่นล้านบาท หรือ 32.35% และต่ำกว่าประมาณการ 2.9 หมื่นล้านบาท หรือ 33.43%
นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า ยอดการจัดเก็บรายได้ 10 เดือนของกรมฯสามารถจัดเก็บได้เกินเป้าประมาณ 4 พันล้านบาท หรือ 4% ทั้งปีงบประมาณคาดจัดเก็บได้ตามเป้าที่กว่า 1 แสนล้านบาท
นายธิบดี วัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) กล่าวว่า ในปีงบประมาณนี้ สคร.คาดว่า จะนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจเข้าคลังหลวงเกินกว่าเป้าหมาย โดยเป้าหมายการนำส่งรายได้อยู่ที่ 1.75 แสนล้านบาท คาดว่า จะนำส่งรายได้ราว 2 แสนล้านบาท
“ในรอบ 10 เดือน รายได้ที่เรานำส่งคลังอยู่ที่กว่า 1.65 แสนล้านบาทแล้ว ส่วนที่เหลือของปีอีก 2 เดือน คาดรายได้จะนำส่งเข้ามามากขึ้น ส่วนสำคัญเป็นผลจากรัฐวิสาหกิจบางแห่งที่ไม่ได้นำส่งรายได้ในช่วงโควิด ก็เริ่มกลับมานำส่ง เช่น AOT ก็นำส่งแล้ว ขณะที่ รัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการและการท่องเที่ยว ก็นำส่งรายได้ดีขึ้น เช่น การประปา และไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของรัฐบาล”