กทพ.- ITD เซ็น "ทางด่วนจตุโชติ-ลำลูกกา" 1.8 หมื่นล้าน ตอกเสาเข็มปลายปีนี้

22 ส.ค. 2567 | 08:49 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ส.ค. 2567 | 10:01 น.

“กทพ.” จับมือ ITD ลงนามสัญญาสร้าง “ทางด่วนจตุโชติ-ถนนลำลูกกา” วงเงิน 1.8 หมื่นล้านบาท เตรียมถกทางหลวงขอใช้พื้นที่เวนคืน ลุยตอกเสาเข็มปลายปีนี้ ฟาก ITD ยืนกรานปัญหาขาดสภาพคล่องไม่กระทบแผนเมกะโปรเจ็กต์รัฐ เร่งรัดเอกชนเปิดให้บริการปี 70

นายสุรเชษฐ์  เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า สำหรับพิธีการลงนามในสัญญาจ้างงานจ้างก่อสร้างโครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา) ระหว่างกทพ.และ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD นั้น

ปัจจุบันเอกชนอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมเข้าพื้นที่ดำเนินการก่อสร้าง โดยที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติร่าง พ.ร.ฎ.เวนคืนเพื่อดำเนินโครงการฯแล้ว คาดว่าเอกชนจะสามารถขอใช้พื้นที่จากหน่วยงานภาครัฐเพื่อดำเนินการก่อสร้างได้เร็วๆนี้ 

“การลงนามสัญญาโครงการทางด่วนฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา) ถือเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณจากภาครัฐ ซึ่งเป็นเรือธงแรกที่สามารถเดินหน้าหาผู้ชนะการประมูลได้ภายใน 1 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลชุดนี้” นายสุรเชษฐ์  กล่าว

ทั้งนี้ตามแผนเอกชนจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปลายปี 67 เบื้องต้นกทพ.จะหารือร่วมกับกรมทางหลวง (ทล.) เพื่อขอใช้พื้นที่ก่อสร้างในเขตงานของกรมฯภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะนำร่องเข้าพื้นที่แรกได้ คือ ช่วงถนนวงแหวนกาญจนาภิเษกก่อน ถือเป็นจุดก่อสร้างที่ยากที่สุด

เนื่องจากจากก่อสร้างตามปกติมักจะกระทบต่อการสัญจรผู้ใช้ทาง ทำให้กทพ.มีแผนให้เอกชนเคลื่อนย้ายสิ่งก่อสร้างกลางอากาศได้เฉพาะในช่วงเวลากลางคืนเท่านั้น เพื่อป้องกันอุบัติเหตุในช่วงระหว่างผู้สัญจรใช้บริการบนถนน ส่วนเทคนิคด้านการก่อสร้างที่จะนำมาใช้นั้นจะมีการพิจารณารูปแบบร่วมกับเอกชนอีกครั้งว่าจะใช้รูปแบบใด

กทพ.- ITD เซ็น \"ทางด่วนจตุโชติ-ลำลูกกา\" 1.8 หมื่นล้าน ตอกเสาเข็มปลายปีนี้

นายสุรเชษฐ์  กล่าวต่อว่า ส่วนพื้นที่การเวนคืนในเขตที่ดินของประชาชนนั้น ยืนยันว่าไม่มีปัญหา เพราะส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ด้านเกษตรกรรม ปัจจุบันกทพ.อยู่ระหว่างดำเนินการตามกฎหมาย คาดว่าจะเร่งรัดให้เอกชนเปิดให้บริการได้ภายในปี 70 ซึ่งเร็วกว่าสัญญาที่กำหนดให้เปิดบริการภายในปี 71

นายสุเมธ  สุรบถโสภณ รองประธานบริหารอาวุโสกับ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD กล่าวว่า โครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา) เป็นหนึ่งในโครงการที่มีความสำคัญมาก ในการพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่ง 

ขณะเดียวกันโครงการดังกล่าวเป็นทางพิเศษยกระดับ ขนาด 6 ช่องจราจร โครงสร้างเป็นรูปแบบ Slab on Girder ส่วนโครงสร้างเสาเป็นเสาเดี่ยว ก่อสร้างบนระบบฐานราก ที่เป็นเสาเข็มเจาะขนาดใหญ่  ซึ่ง บริษัท อิตาเลียนไทยฯ มีประสบการณ์ ในการก่อสร้างทางยกระดับประเภทนี้มานาน จำนวนหลายโครงการต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้บริษัทฯ มีความพร้อมด้านบุคลากร ทั้งวิศวกรและทีมงานที่มีประสบการณ์และความชำนาญสูงและมีการจัดหาเครื่องจักรทันสมัยที่เหมาะสมสำหรับการก่อสร้าง นอกจากนี้ยังมีโรงงานผลิตชิ้นส่วนคอนกรีตที่มีคุณภาพสูง สำหรับใช้งานก่อสร้าง

กทพ.- ITD เซ็น \"ทางด่วนจตุโชติ-ลำลูกกา\" 1.8 หมื่นล้าน ตอกเสาเข็มปลายปีนี้

"บริษัทฯ จะยึดมั่นในมาตรฐานการทำงานให้ได้ผลงานที่มีคุณภาพดีและมีความปลอดภัยสูงสุด จึงขอให้มั่นใจได้ว่า บริษัทฯ มีความพร้อมในการทำงานทุกด้าน และมีความมุ่งมั่นในการดำเนินงานนี้ ให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ" นายสุเมธ กล่าว

กทพ.- ITD เซ็น \"ทางด่วนจตุโชติ-ลำลูกกา\" 1.8 หมื่นล้าน ตอกเสาเข็มปลายปีนี้

นายสุเมธ  กล่าวต่อว่า กรณีที่เกิดปัญหาสภาพคล่องกับบริษัทในช่วงปลายปีที่ผ่านมานั้น ยืนยันว่าไม่กระทบต่อโครงการนี้ที่ลงทุนกับกทพ.รวมถึงโครงการอื่นๆที่อยู่ระหว่างดำเนินก่อสร้างด้วย เนื่องจากบริษัทได้เจรจาร่วมกับสถาบันทางการเงินเพื่อขอกู้เงินเสริมสภาพคล่อง ซึ่งทางสถาบันทางการเงินได้อนุมัติวงเงินให้แก่บริษัทแล้วจึงมั่นใจว่าไม่มีเรื่องที่ต้องกังวล

สำหรับโครงการทางพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา) ระยะทาง 16.21 กิโลเมตร วงเงิน 18,699 ล้านบาท มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนมีที่ดินจำนวน 471 ไร่ 99 ตารางวา และอาคารและสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 134 หลัง โดยแหล่งเงินทุนที่ใช้ในส่วนการก่อสร้างจะระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) ที่มีอยู่แล้ว 14,374 ล้านบาท และใช้เงินกู้ 5,960 ล้านบาท

กทพ.- ITD เซ็น \"ทางด่วนจตุโชติ-ลำลูกกา\" 1.8 หมื่นล้าน ตอกเสาเข็มปลายปีนี้

ด้านการก่อสร้างโครงการฯ เป็นงานก่อสร้างทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร (ไป-กลับ) ตั้งแต่ทางพิเศษฉลองรัช บริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษจตุโชติ มีจุดเริ่มต้นที่ กม. 0+000 ของโครงการฯ ถึง กม. 14+000 ของโครงการฯ ระยะทางประมาณ 16.21 กิโลเมตร รวมทางขึ้น-ลง 

ขณะที่แนวเส้นทางของโครงการทางพิเศษฉลองรัชฯ มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับทางด่วนฉลองรัชที่ด่านเก็บค่าผ่านทางด่วนจตุโชติ บริเวณถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพด้านตะวันออก (ถนนกาญจนาภิเษก) มุ่งหน้าทางทิศตะวันออกตัดถนนหทัยราษฎร์ และถนนนิมิตใหม่ แล้วเลี้ยวขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เชื่อมต่อถนนลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี รองรับความเร็วได้ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

กทพ.- ITD เซ็น \"ทางด่วนจตุโชติ-ลำลูกกา\" 1.8 หมื่นล้าน ตอกเสาเข็มปลายปีนี้

หากโครงการแล้วเสร็จจะช่วยรองรับการให้บริการด้านการจราจรและขนส่ง ให้สอดคล้องกับการพัฒนาและการเจริญเติบโตของพื้นที่ตัวเมือง ที่มีแนวโน้มพัฒนาไปทางทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานคร  อย่างรวดเร็ว ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถ ในการแข่งขันของไทย ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ และสามารถรองรับการขนส่งและการเดินทางต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ