กังขา ขยายสัมปทาน”ทางด่วนศรีรัช” อีก 22 ปี 5 เดือน ใครได้ประโยชน์?

09 ส.ค. 2567 | 05:03 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ส.ค. 2567 | 05:28 น.

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ กังขา ลึกไม่ลับ ขยายสัมปทาน”ทางด่วนศรีรัช” อีก 22 ปี 5 เดือน ใครได้ประโยชน์? ทั้งที่ควรจะอยู่ในมือรัฐ

 

ปมขยายสัมปทาน ทางยกระดับอุตราภิมุข หรือ ดอนเมืองโทลล์เวย์ และทางพิเศษหรือทางด่วนศรีรัชให้กับเอกชน กำลังเป็นประเด็นที่สังคมพูดถึงเป็นวงกว้างว่าเบื้องลึกแล้วใครได้ประโยชน์ ทั้งที่ควรจะตกเป็นของรัฐเมื่อหมดอายุสัมปทาน

 ทั้งนี้ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่9 สิหาคม2567 ระบุว่า เชื่อว่ามีหลายประเด็นในการขยายทางด่วนศรีรัชออกไปอีก 22 ปี 5 เดือน ที่หลายคนยังไม่รู้ ขอบันทึกไว้ให้ผู้สนใจได้อ่าน อ่านแล้วจะรู้สึกอย่างไรก็สุดแล้วแต่ 

ขยายสัมปทาน

 

รัฐอ้างว่าต้องการลดค่าผ่านทางช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 ที่ปัจจุบันสำหรับรถ 4 ล้อ มีอัตราสูงสุด 90 บาท จะปรับลดลงเหลือสูงสุด 50 บาท ในขณะเดียวกันรัฐบอกว่าทางด่วนช่วงดังกล่าวมีปริมาณรถมาก ทำให้รถติดบนทางด่วน

จึงมีแนวคิดที่จะก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) ช่วงดังกล่าวโดยให้เอกชนผู้รับสัมปทานลงทุนก่อสร้าง ทำให้ต้องขยายสัมปทานให้เอกชนอีก 22 ปี 5 เดือน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

1. รัฐให้สัมปทานทางด่วนศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) แก่เอกชนเป็นเวลา 30 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2533 จนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 แล้วมีการขยายสัมปทานครั้งที่ 1 ออกไป 15 ปี 8 เดือน จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2578

ขณะนี้มีข่าวว่าจะขยายสัมปทานครั้งที่ 2 ออกไป 22 ปี 5 เดือน จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2601 รวมระยะเวลาสัมปทานทั้งหมด 68 ปี 1 เดือน เป็นที่น่าสังเกตว่า ได้มีการขยายสัมปทานครั้งที่ 1 ออกไป 15 ปี 8 เดือน ทั้งๆ ที่สัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ฉบับเดิม)

ที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2531 ระบุไว้ในข้อ 21 ว่า “ระยะเวลาของสัญญาอาจต่อออกไปได้อีก 2 ครั้งๆ ละ 10 ปี” นั่นหมายความว่าระยะเวลาที่ขยายออกไป 15 ปี 8 เดือน นานกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญาเดิมหรือไม่ ?

2. พร้อมกับการขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัช มีข่าวว่ารัฐจะขยายสัมปทานทางด่วนอุดรรัถยา (ทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด) ให้เอกชนด้วย เดิมทางด่วนอุดรรัถยาได้รับสัมปทาน 30 ปี ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2539 จนถึงวันที่ 26 กันยายน 2569

จากนั้นมีการขยายสัมปทานครั้งที่ 1 ออกไป 9 ปี 1 เดือน 5 วัน จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2578 ขณะนี้มีข่าวว่าจะขยายครั้งที่ 2 ออกไป 22 ปี 5 เดือน จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2601 รวมระยะเวลาสัมปทานทั้งหมด 61 ปี 6 เดือน 5 วัน 

3. การคำนวณหาระยะเวลาขยายสัมปทาน

(1) “มี” การแบ่งรายได้ให้เอกชนเพิ่มขึ้นตลอดระยะเวลาสัมปทานจากทางด่วนเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) ซึ่งรัฐลงทุนก่อสร้าง เดิมเอกชนได้รับ 40% เพิ่มขึ้นเป็น 50% ทำให้เอกชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ระยะเวลาขยายสัมปทานลดลง

(2) “มี” การแบ่งรายได้ให้รัฐลดลงตลอดระยะเวลาสัมปทานจากทางด่วนศรีรัช ส่วน A (ถนนรัชดาภิเษก-ทางแยกต่างระดับพญาไท-ถนนพระราม 9) และส่วน B (ทางแยกต่างระดับพญาไท-บางโคล่) ซึ่งเอกชนลงทุนก่อสร้าง เดิมรัฐได้รับ 60% ลดลงเหลือ 50% ทำให้รัฐมีรายได้ลดลง เอกชนมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ระยะเวลาขยายสัมปทานลดลง

(3) “ไม่มี” การแบ่งรายได้ให้รัฐตลอดระยะเวลาสัมปทานจากทางด่วนศรีรัช ส่วน C (ถนนรัชดาภิเษก-ถนนแจ้งวัฒนะ) และส่วน D (ถนนพระราม 9-ถนนศรีนครินทร์) ซึ่งเอกชนลงทุนก่อสร้าง

(4) “ไม่มี” การแบ่งรายได้ให้รัฐตลอดระยะเวลาสัมปทานจากทางด่วนอุดรรัถยา ซึ่งเอกชนลงทุนก่อสร้าง

(5) “มี” การนำค่าดำเนินการและบำรุงรักษา (O&M) ของทางด่วนเฉลิมมหานครซึ่งรัฐลงทุนก่อสร้าง และทางด่วนศรีรัชทุกส่วนรวมทั้งทางด่วนอุดรรัถยาซึ่งเอกชนลงทุนก่อสร้างมารวมกับ O&M ของ Double Deck ซึ่งจะให้เอกชนลงทุนก่อสร้าง ตลอดระยะเวลาสัมปทาน เป็นผลให้เอกชนมีค่า O&M สูง ซึ่งจะทำให้ต้องขยายระยะเวลาสัมปทานนาน

(6) “มี” การกำหนดให้ผลตอบแทนการลงทุนของเอกชนเท่ากับ 9.75% ซึ่งถือว่าสูง จะทำให้ต้องขยายระยะเวลาสัมปทานนาน

ทั้งหมดนี้ ด้วยความห่วงใยพี่น้องประชาชนผู้ใช้ทางด่วนที่ต้องจ่ายค่าผ่านทางด้วยราคาแพงกรณีทางด่วนอยู่ภายใต้ระบบสัมปทาน

ข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง

ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง