ศุลกากร แจง เข้มงวดเก็บภาษีสินค้าออนไลน์นำเข้าทุกชิ้น

23 ส.ค. 2567 | 07:01 น.
อัพเดตล่าสุด :23 ส.ค. 2567 | 07:10 น.

ศุลกากร แจง เข้มงวดเก็บภาษีสินค้าออนไลน์นำเข้าทุกชิ้น หลังมีผู้โพสต์เฟสบุ๊กว่า สั่งซื้อสินค้านำเข้าจากจีน ไม่เสียภาษี Vat 7% ยืนยัน ทำตามอำนาจที่มี ดำเนินการสุ่มตรวจสินค้าทุกวัน พร้อมดำเนินการเชิงรุก บุกค้นโกดังสินค้าปลายทางควบคู่

จากกรณีที่ ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ หรือ “คุณป้อม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง Creden.co และ PaySolutions ผู้เชี่ยวชาญด้าน E-Commerce โพสต์ภาพในเฟซบุ๊ก เป็นภาพพัสดุสินค้าจัดส่งที่มีสติ๊กเกอร์แปะที่ซองว่า ‘TEMU’ พร้อมข้อความว่า 

“เย้.! ตัวอย่างการซื้อของผ่าน Temu มูลค่าเกือบ 3,000 บาท มาจากจีนตรง ข้างในแยกแล้วจับรวมเป็นถุงใหญ่ใบเดียวไม่เสียภาษีครับได้เร็วด้วยห้าวันส่งถึงที่เลย

แต่ถ้าผู้ประกอบการไทย นำเข้าของแบบเดียวกัน ต้องเสียภาษีศุลกากรขาเข้าเต็มเม็ดเต็มหน่วย… และยังเสียภาษีนิติบุคคล 20% อีก..

ถ้ารายได้รวมเกิน 1.8 ล้านบาท/ปี ต้องเสียภาษี VAT อีก +7% 

สู้ไม่ได้ชัวร์ๆ ….  เฮ้อออ….”

ศุลกากร แจง เข้มงวดเก็บภาษีสินค้าออนไลน์นำเข้าทุกชิ้น

โดยเรื่องนี้ 'ฐานเศรษฐกิจ' ได้นำเสนอผ่านรายการ ‘ฐานทอล์ค’ ถึงการจัดการของภาครัฐ หลังจากที่กรมศุลกากร กระทรวงการคลังประกาศเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท ว่ามีการดำเนินการหรือไม่?

ล่าสุดนายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร ชี้แจงประเด็นนี้ กับ ‘ฐานเศรษฐกิจ’ โดยยืนยันว่า กรมศุลกากร ดำเนินการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% กับสินค้านำเข้าทุกชิ้นแน่นอน แต่ส่วนมากผู้ที่จะเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ คือบริษัทขนส่งที่มานำของออกจากด่านศุลกากร จากนั้น บริษัทขนส่งจะดำเนินการอย่างไร ขึ้นอยู่กับระเบียบของแต่ละราย

“ส่วนมาก คนจ่าย VAT จะเป็นบริษัทขนส่งหรือตัวแทนที่เป็นผู้นำของออกจากด่านมา บางรายก็ตัดสินใจอุดหนุน (subsidize) ในส่วนนี้เอง แล้วคิดรวมอยู่ในค่าบริการขนส่ง ขณะที่บางรายก็ไปเรียกเก็บจากผู้ผลิตต้นทาง ซึ่งเอกชนจะคำนวณกำไร-ขาดทุนไว้ก่อนแล้ว“

ทั้งนี้ บริษัทขนส่งส่วนมาก เลือกที่จะตัดปัญหาด้วยการ ออกเงินอุดหนุนในส่วนนี้ เพราะตัวเลข 7% ของสินค้านั้น ถือว่ามูลค่าไม่ได้เยอะจึงไม่ผลักภาระไปที่ผู้บริโภค โดยยอมรับว่าปัจจุบัน กระบวนการจัดเก็บภาษีนั้นมีความซับซ้อนขึ้นมาก เพราะผู้ซื้อสามารถสั่งซื้อสินค้าได้โดยตรงกับโรงงาน ไม่มีพ่อค้าคนกลางเหมือนสมัยก่อน 

สำหรับสินค้านำเข้าจากจีน ณ ปัจจุบัน ส่วนมากนำเข้าทางถนนด้วยรถบรรทุกคอนเทนเนอร์ เริ่มต้นทางจากจีน ผ่านเวียดนาม สปป.ลาว จากนั้นเข้าไทยทางด่านจังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นจุดที่มีเจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจสอบและจัดเก็บภาษีทุกชิ้น ก่อนปล่อยสินค้าออกจากด่าน

"อำนาจหน้าที่ของกรมฯ ทำได้แค่จัดเก็บภาษี และตรวจจับ ยึดของกลาง ที่ผ่านมาก็ดำเนินการมาโดยตลอด เช่น บุหรี่ไฟฟ้า , สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา แต่ไม่สามารถแบนด์ไม่ให้นำเข้าได้ ทำได้เพียงยึดของไว้"

พันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี โฆษกกรมศุลกากร

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันบูรณาการ สุ่มตรวจตู้คอนเทนเนอร์ และสินค้านำเข้าทุกวัน แต่ไม่สามารถตรวจค้นทั้งหมดได้ เช่น ท่าเรือแหลมฉบัง มีเรือสินค้าเข้า-ออกปีละ 10 ล้านตู้ เฉลี่ยวันละ 2-3 หมื่นตู้ ทำให้สุ่มตรวจได้บางส่วน และไม่สามารถนำสินค้าทุกชิ้นออกจากตู้มาตรวจสอบได้ เพราะจะทำให้ใช้เวลานานเกินไป

กรมศุลกากร จึงดำเนินการเชิงรุก ด้วยการสุ่มตรวจค้นตามโกดังสินค้าปลายทางที่นำเข้ามา เข้ายึดได้เฉพาะสินค้าผิดกฎหมาย เช่น สินค้าไม่มี มอก. , สินค้าไม่ผ่าน อย. ไปจนถึงสินค้าผิดกฎหมาย ส่วนสินค้านำเข้าจากจีนอื่น ๆ หากทำถูกต้องตามระเบียบ กรมฯ ไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้นอกจากการจัดเก็บภาษีนำเข้า