การรุกคืบเข้ามาของทุนจีนแบบแนบเนียน สินค้าราคาถูกที่ใช้ในชีวิตประจำวันมองผิวเผินอาจรู้สึกว่าช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนลงได้มาก ดูมีความแปลกใหม่ อีกทั้งยังช่วยทดแทนสินค้าบางรายการในประเทศที่มีราคาสูงกว่าในคุณภาพที่อาจไม่ได้ต่างกันนัก ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังชะลอตัว ภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง
"อะไรประหยัดได้ก็ประหยัด" โดยอาจยังไม่ได้ตระหนักถึงความปลอดภัยของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์อย่างละเอียด ทำให้สินค้าราคาถูกจากจีนเข้ามารุกตลาดไทยอย่างหนัก ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ภายในครัวเรือนไปจนถึงอาหารและขนม ล่าสุดยังมีการเข้ามาของแพลตฟอร์มใหม่ๆ อย่าง Temu ที่เน้นขายสินค้าจีนราคาถูกมากได้
ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยจีนสามารถระบายสินค้าออกมาในประเทศอื่นๆ และไทยเองกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาใหม่ เพราะดูเหมือนว่า การจัดเก็บภาษีสินค้าจากจีนยังไม่สามารถสกัดกั้นการเข้ามาของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและสินค้าของจีนได้
หากมองลงให้ลึกไปอีกนิด ปัญหาที่กำลังตามมาคือ แล้วผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะรายย่อย จะอยู่รอดได้อย่างไร?
ประกอบกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่กำลังใกล้เข้ามา หากว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ถูกเลือกให้กลับมานั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีอีกครั้ง สถานการณ์ระบายสินค้าจากจีนจะยิ่งหนักหน่วงขึ้นอีกหรือไม่
แน่นอนว่า นโยบายภายใต้สโลแกน ‘ทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง’ (Make America Great Again หรือ MAGA) และ ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ (America First) นำไปสู่การออกนโยบายกีดกันทางการค้าจีน ทำให้อาจต้องเบนเข็มการค้าใหม่ หันไประบายสินค้ายังประเทศอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น
ด้วยกลยุทธ์นำสินค้าบุกตลาดด้วยราคาที่ถูกกว่า และที่น่าจับตาที่สุดคือสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับดทคโนโลยี นวัตกรรม และยานยนต์ไฟฟ้า ที่อาจส่งผลกระทบต่อหลายอุตสาหกรรมของไทย
ฐานเศรษฐกิจ ได้สอบถามความคิดเห็นจาก ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรีนีตี้ วัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ TNITY ได้เผยมุมมองว่า ประเทศจีนมีประสบการณ์และเรียนรู้จากนโยบายการตั้งกำแพงภาษีของโดนัลด์ ทรัมป์ มาแล้วครั้งหนึ่ง ทำให้ตลอดช่วงที่ผ่านมา ผู้ประกอบการจีนมีการปรับตัว ย้านฐานการผลิตออกไปยังประเทศอื่นๆ เช่น เม็กซิโก เวียดนาม และไทย
จะเห็นได้ว่า ตัวเลขดุลการค้าของสหรัฐฯกับจีนปรับตัวลดลงเรื่อยๆ เพราะจีนย้ายฐานผลิตออกไป และจะเห็นได้ว่า ในช่วงเวลาคู่ขนาดกันนั้น ประเทศไทยเริ่มมีสินค้าจากจีนเข้ามาเพิ่มมากขึ้น ก็เป็นเพราะจีนกำลังพยายามขยายตลาดใหม่ๆ เพื่อทดแทนความสามารถในการส่งออกไปยังสหรัฐฯที่ลดลง โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีและยานยนต์ไฟฟ้า
ท่ามกลางการแบ่งขั้วมหาอำนาจระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ส่งผลให้เกิดการกีดกันทางการค้ามากขึ้น อีกทั้งยุโรปยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มภาษีการนำเข้ารถยนต์จีนมากขึ้น เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมยานยนต์ของตัวเอง ส่งผลให้ภูมิภาคอาเซียนกลายเป็นเป้าหมายหลักถัดไปสำหรับการระบายรถยนต์จีน
โดยเฉพาะไทยที่มีมาตรการให้เงินสนับสนุนการซื้อ EV และยังยกเว้นภาษีนำเข้ารถยนต์จีน ผ่านสิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก China-ASEAN FTA ซึ่งไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่เปิดให้นำเข้ารถไฟฟ้า อีกทั้งรัฐบาลไทยยังวางมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้จีนกลายเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย
"การเข้ามาของสินค้าจีน ต้องยอมรับว่า ในปัจจุบันมีให้เห็นเพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่สินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้ในครัวเรือน การบริโภคต่างๆ ตลอดจนสินค้าขนาดใหญ่อย่างยานยนต์ไฟฟ้า ปัจจุบันไทยเราไม่ได้มีการวางนโยบายด้านภาษีการนำเข้าสินค้าจากจีน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะจีนเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย ก็เหมือนน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า การค้าก็ต้องพึ่งพาอาศัยกัน"
ความกังวลต่อการเข้ามาของสินค้าจีนหลากหลายประเภท ตั้งแต่สินค้าเล็กที่ใช้ในชีวิตัประจำวัน ไปจนถึงสินค้าขนาดใหญ่อย่างยานยนต์ไฟฟ้า จะเข้ามากระทบต่อผู้ประกอบการในไทย
แต่หากมองในมุมกลับกัน ประเทศไทยก็มีการส่งออกสินค้าไปยังจีนจำนวนมาก เรียกได้ว่า จีนเป็นประเทศหลักของการส่งออกเลยก็ว่าได้ ดังนั้นแล้ว การปรับกฎเกณฑ์ การตั้งกำแพงภาษีจากจีนอาจไม่เกิดขึ้นได้ง่าย รัฐบาลเองก็คงมีการพิจารณาจุดนี้อยู่ ก็เหมือนเหรียญที่มี 2 ด้าน ไทยเองก็ต้องพึ่งพาตลาดจีนอยู่