จี้ “แพทองธาร” สกัดสินค้าจีน 10 เดือนนำเข้าค้าออนไลน์พุ่ง 120 ล้านชิ้น

21 ส.ค. 2567 | 00:00 น.

เอกชนจี้รัฐบาล “แพทองธาร” เอาจริงแก้ปัญหาสินค้าจีนทุ่มตลาด Temu ตัวเร่งปิดตัวโรงงาน ลาม 30 กลุ่มอุตฯ เผยตัวเลข 10 เดือนนำเข้าสินค้าออนไลน์พุ่ง 120 ล้านชิ้น ทะลักย่านการค้าสำคัญ ชี้คุณภาพต่ำ อันตรายผู้บริโภค นักวิชาการแนะใช้ 7 ไม้แข็งสกัด หวั่นขาดดุลค้าจีนพุ่ง 2 ล้านล้าน

สภาพัฒน์เผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ของไทย ไตรมาส 2 /2567 ขยายตัว 2.3% ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรกที่ขยายตัว 1.5% ส่งผลให้ภาพรวมครึ่งแรกปี 2567 จีดีพีไทยขยายตัว 1.9% โดยด้านหนึ่งที่ยังติดลบคือการลงทุนเอกชน สะท้อนถึงความเชื่อมั่น อีกปมปัญหาใหญ่คือการเข้ามาของสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ เฉพาะอย่างยิ่งสินค้าจีนที่ผลิตในปริมาณมาก(mass) ถูกส่งเข้ามาจำหน่ายในไทยทุกช่องทาง กระทบโรงงานเอสเอ็มอีไทยแข่งขันไม่ได้ รอบ 3 ปีที่ผ่านมาไทยปิดตัวไปแล้วเกือบ 4,000 โรง

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า รอบ 6 เดือนแรกของปีนี้ มีโรงงานผลิตสินค้าไทยปิดตัวไปแล้ว 667 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 86% โดยมีมูลค่าการลงทุนเฉลี่ยโรงละ 27 ล้านบาท สะท้อนถึงโรงงานที่ปิดตัวส่วนใหญ่เป็นโรงงานเอสเอ็มอีที่เป็นของคนไทย

จี้ “แพทองธาร” สกัดสินค้าจีน 10 เดือนนำเข้าค้าออนไลน์พุ่ง 120 ล้านชิ้น

สาเหตุหลักส่วนหนึ่ง เป็นผลกระทบจากสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ เฉพาะอย่างยิ่งสินค้าจีนที่ส่งเข้ามาทุ่มตลาดในไทยและในอาเซียนมากขึ้นในทุกช่องทาง ทั้งการค้าออฟไลน์และออนไลน์ ทั้งที่นำเข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และไม่ถูกกฎหมายผ่านการสำแดงเท็จ ณ ด่านศุลกากร หลังสินค้าจีนส่งออกไปตลาดสหรัฐฯและยุโรปได้น้อยลง จากถูกกีดกันผ่านสงครามการค้า โดยถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นในอัตราสูง ซึ่งโดยเฉลี่ยสินค้าจีนมีราคาต่ำกว่าสินค้าไทย 20-30% หรือมากกว่า ขณะที่การส่งสินค้ามาจำหน่ายในไทยและอาเซียนที่มีความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับจีน มีมาตรการที่ไม่เข้มงวดนัก

Temu ตัวเร่งใหม่ปิดโรงงานเพิ่ม

ล่าสุดมีแพลตฟอร์มน้องใหม่จากจีนคือ Temu ได้เข้ามาเปิดตัวในไทย นอกเหนือจากหลายแพลตฟอร์มของจีนที่ได้เข้ามาทำตลาดในไทยแล้ว โดยเป้าหมายของ Temu เพื่อนำสินค้าร้อยเปอร์เซ็นต์จากจีน จากโรงงานผู้ผลิตนับแสนนับล้านโรงในจีนเข้ามาจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มในราคาต่ำสุด ๆ ชนิดที่หลายคนอดใจไม่ไหวต้องกดสั่งซื้อ

ด้านหนึ่งผู้บริโภคไทยได้ประโยชน์ แต่อีกด้านหนึ่งต้องพึงระวังคุณภาพสินค้าที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขอนามัย และอาจสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมตามมา ขณะที่ในแง่ผู้ผลิตสินค้าไทยถือเป็นอีกตัวเร่งที่จะทำให้โรงงานผู้ผลิตไทยปิดตัวมากขึ้น

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

“ตรงนี้เป็นผลกระทบโดยตรงกับภาคอุตสาหกรรมการผลิตไทย โดยก่อนหน้านี้ Temu ได้เปิดตัวเป็นแพลตฟอร์มน้องใหม่ในสหรัฐ ท้าชนกับกับเจ้าตลาดคือ Amazon ทำให้อเมซอนถึงกับเซเพราะราคาถูกมาก ซึ่งจากสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศที่ส่งเข้ามาในไทยต่อเนื่องในเวลานี้ ส่งผลกระทบต่อกลุ่มอุตสาหกรรมสมาชิกของ ส.อ.ท.แล้ว 23 กลุ่มอุตสาหกรรม

กดทับทำให้การใช้กำลังผลิตของภาคการผลิตไทยในภาพรวมยังอยู่แค่ 59-60%ไม่สามารถขยายการลงทุนได้ เพราะการขยายการลงทุนการใช้กำลังผลิตต้อง 80% ขึ้นไป หากยังปล่อยให้สถานการณ์เป็นไปเช่นนี้ จะมีโรงงานเอสเอ็มอีปิดตัวมากขึ้น และจะลามกระทบไม่ต่ำกว่า 30 กลุ่มอุตสาหกรรมในปีนี้”

ในเรื่องสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาแย่งตลาดนี้ ทาง ส.อ.ท.ขอให้รัฐบาลชุดใหม่ได้เอาจริงเอาจังและเร่งแก้ปัญหาเร่งด่วน ซึ่งก่อนหน้านี้นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรีได้เรียกร้องกระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ ที่กำกับดูให้เร่งแก้ไขปัญหา ซึ่งหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะทำต่อและต้องเร่งรีบกว่าเดิม โดยต้องเข้มงวดตรวจสอบตั้งแต่ด่านศุลกากรกับสินค้าจากทุกประเทศ ไม่ใช่เฉพาะสินค้าจากจีนประเทศเดียว รวมถึงการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานสินค้า และทุกหน่วยงานต้องบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างเข้มงวดและเอาจริง

ดูดเงินไทยไหลออก-ไม่เสียภาษี

นายพิชเยนทร์ หงษ์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป จำกัด ผู้จำหน่ายอุปกรณ์ไอที และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายใต้บ้าน ภายใต้แบรนด์คนไทย “Anitech” กล่าวว่า การทะลักเข้ามาของสินค้าจีนไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดมานานแล้ว ขณะที่ Temu ไม่ใช่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเจ้าแรกที่เป็นช่องทางการเข้ามาของสินค้าจีน ที่ผ่านมาเข้าผ่านทั้งช่องทางอี-มาร์เก็ตเพลส 2 รายใหญ่ และโซเชียลคอมเมิร์ซ

อย่างไรก็ตามการเข้ามาของ Temu เข้ามาแบบที่ภาครัฐ และผู้ประกอบการไม่มีการเตรียมตัว ขณะที่ Temu เป็นยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซ ที่ทุ่มงบทางการตลาดมหาศาล มีต้นทุนการดำเนินธุรกิจในไทยต่ำ และซื้อขายกับต่างประเทศโดยตรง ทั้งยังมีรูปแบบทำธุรกิจเป็นคลัสเตอร์ ผลประโยชน์ตกอยู่เฉพาะในกลุ่ม ทำให้เงินไหลออกต่างประเทศโดยตรง โดยไม่เสียภาษี

“ผู้ประกอบการไทยมีต้นทุนค่าจ้าง ต้นทุนภาษีเงินได้ ซื้อขายในประเทศทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศ แต่ Temu เป็นอีคอมเมิร์ซแบบ Cross Borderless ที่ไม่มีสำนักงานในไทย ซื้อขายตรงจากต่างประเทศโดยตรง ทำให้มีแต้มต่อด้านต้นทุนต่ำกว่า 20-30% แค่ต้นทุนต่ำกว่า 5% ผู้ประกอบการไทยก็สู้ใม่ได้อยู่แล้ว ที่สำคัญยังมีเม็ดเงินมหาศาลทุ่มการตลาดเพื่อดึงคนไทยเข้าไปใช้งานแพลตฟอร์ม ทั้งลดสูงสุด 90% และส่งฟรี"

ทั้งนี้มองว่าหน้าที่ปกป้องผู้ประกอบการไทยที่ดำเนินธุรกิจถูกต้องตามกฎหมายนั้นคือภาครัฐ ไม่ใช่ออกมาบอกว่าไม่อยากเปิดหน้า เพราะจะส่งผลกระทบความสัมพันธ์ด้านอื่น แต่ภาครัฐต้องเข้ามากำกับดูแล บังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ ทั้งการควบคุมมาตรฐานสินค้าและความปลอดภัย ทำให้เขาปฎิบัติตามกฎหมายไทย เพื่อดึงรายได้เข้าประเทศ เพื่อให้ต้นทุนมีความยุติธรรมและเป็นธรรมกับผู้ประกอบการไทย ทำให้ผู้ประกอบการไทยมีความมั่นใจมากขึ้น

สินค้าละเมิดทะลักย่านการค้าสำคัญ

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า วันนี้ภัยจากกลุ่มทุนจีนส่งผลกระทบทั้งด้านการแข่งขันทางการค้าและอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้เอสเอ็มอีไทยอยู่ยาก ไม่ว่าจะเป็นในย่านห้วยขวาง เยาวราช สำเพ็ง นครราชสีมา ฯลฯ ที่พบว่ามีสินค้าจีนราคาถูก ละเมิดลิขสิทธิ์ทะลักเข้ามาจำนวนมาก

แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย

“ปัญหาหนึ่งที่ผู้ประกอบการไทยรับผลกระทบมาก คือ การละเมิดลิขสิทธิ์ปลอมแปลงสินค้าไทยออกขายทั้งในไทยและต่างประเทศผ่านช่องทางออนไลน์และร้านค้าต่าง ๆ สร้างความเสียหายให้แก่ผู้ประกอบการไทย เพราะสินค้าเหล่านั้นมีคุณภาพต่ำ ไม่ได้มาตรฐานและไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค”

นอกจากนี้กลุ่มทุนจีนที่เข้ามากระทบอย่างมากในภาคค้าปลีก จากสินค้าจีนราคาถูกและละเมิดลิขสิทธิ์เข้ามาแย่งชิงตลาด ทำให้เอสเอ็มอีสู้ราคาไม่ไหว โดยเฉพาะในภาคการผลิต เช่น อาหาร สิ่งทอ และผลิตภัณฑ์จากโลหะ ซึ่งมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนมากต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนการผลิตสูง และขาดแคลนเงินทุนในการพัฒนาธุรกิจ

นอกจากนี้ทุนจีนยังเข้ามากว้านซื้อที่ดินและอสังหาฯ ทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้นและผู้ประกอบการไทยเข้าถึงยากขึ้น รัฐบาลควรมีมาตรการป้องกันการผูกขาดตลาด และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยพัฒนานวัตกรรมและสร้างแบรนด์สินค้า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

“การเข้ามาของ Temu ยังส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยที่ทำธุรกิจออนไลน์ โดยเฉพาะผู้ขายรายย่อยที่แบรนด์ไม่แข็งแรงและขาดกลยุทธ์ทางการตลาดที่เหมาะสม สิ่งสำคัญตอนนี้คือ อยากให้ภาครัฐเร่งหาทางออก เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีไทย”

อาทิ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล กระตุ้นให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน การสร้างแบรนด์และช่องทางการตลาด สนับสนุนให้เอสเอ็มอีขยายฐานลูกค้าและเพิ่มยอดขาย และเปิดโอกาสให้เข้าถึงตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน ผ่านความตกลง FTA การสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ การปราบปรามการกระทำผิดกฎหมาย บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้ประกอบการที่กระทำผิดกฎหมาย เช่น การหลีกเลี่ยงภาษี และการลักลอบนำเข้าสินค้าผิดกฎหมาย เป็นต้น

ต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ช่วยตรวจสอบ

นายชัยชาญ  เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สินค้าราคาถูกจากจีนที่เข้ามาทุ่มตลาดมีทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า ผลิตภัณฑ์พลาสติก และอื่น ๆ ซึ่งการจะสกัดกั้น หรือป้องปรามสิ่งสำคัญที่สุดคือ กฎระเบียบของไทยอาจต้องปรับเปลี่ยนในเชิงปฏิบัติ ทั้งด้านศุลกากร การตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานต้องมีแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องและทันสมัย จากเวลานี้สินค้าที่เข้ามามีจำนวนมาก และอยู่กระจัดกระจาย คงต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการตรวจสอบมากขึ้น

ชัยชาญ  เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย

สำหรับในตลาดต่างประเทศ ที่ส่วนใหญ่มีกำลังซื้อที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก ขณะที่สินค้าจีนยังคงรักษาการผลิตและการส่งออกไว้ ทำให้สินค้าไทยและสินค้าจากทุกประเทศต้องแข่งขันรุนแรงกับสินค้าจีน ดังนั้นสินค้าไทยที่มีคุณภาพมาตรฐานในสายตาคู่ค้า และผู้บริโภคในต่างประเทศ ต้องส่งเสริมตราสินค้า “Made in Thailand”เพื่อรักษาตลาดให้มากขึ้น

แนะใช้ 7 ไม้แข็งสกัด-ป้องขาดดุลพุ่ง

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการเชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า เพื่อช่วยให้โรงงานเอสเอ็มอีไทยอยู่รอดจากสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ เฉพาะอย่างยิ่งสินค้าจีน มีข้อเสนอแนะดังนี้

1.การใช้มาตรการตอบโต้การทุ่ม(AD) โดยขึ้นภาษีนำเข้า 2.ทบทวนนโยบายการเป็นศูนย์กลางของการกระจายสินค้า หรือฮับโลจิสติกส์ของไทย เพราะเปิดช่องให้ผู้ประกอบการจีนเข้ามาตั้งคลังสินค้า โดยที่สินค้าไม่ได้กระจายไปประเทศอื่น แต่นำมาขายในไทย 3.ทบทวนนโยบายเรื่องการเปิดเสรีทางการค้า การลงทุนภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับจีน

4.การตรวจสอบมาตรฐานสินค้าอย่างเข้มข้น 5.กำหนดราคาสินค้าขั้นต่ำที่ห้ามขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่นราคา 1,500 หรือ 3,000 บาทห้ามขาย เป็นต้น 6.การลงทุนของต่างประเทศในไทยต้องกำหนดเงื่อนไขต้องช่วยให้เอสเอ็มอีไทยอย่างน้อย 100 รายหรือมากกว่าได้รับประโยชน์ และ 7.โครงการลงทุนต่าง ๆ ของภาครัฐต้องมีเงื่อนไขบังคับให้ต้องใช้สินค้าไทย เช่น เหล็ก วัสดุก่อสร้าง และครุภัณฑ์อื่น ๆ โดยกำหนดใช้สินค้าไทยไม่ต่ำกว่า 70% เป็นต้น

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการเชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

“ตัวอย่างอินโดนีเซียแก้ปัญหาสินค้าต่างประเทศโดยไม่เจาะจงว่าเป็นสินค้าจีนที่เข้าไปทุ่มตลาด รัฐบาลสั่งขึ้นภาษีนำเข้า 100% ห้ามขายสินค้าบน TikTok และห้ามขายสินค้าราคาไม่ถึง 3,500 บาทบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ตรงนี้ทำให้การขาดดุลการค้าของอินโดนีเซียลดลงอย่างมาก ทั้งนี้หากไทยไม่ใช้แอ็คชั่นแรง ๆ จะทำให้ไทยขาดดุลการค้าจีนเพิ่มขึ้น จากปีที่ผ่านมา 1.2 ล้านล้านบาท จะเพิ่มเป็น 2 ล้านล้านบาทในอีก 2 ปีข้างหน้าอย่างแน่นอน”

เข้มมาตรฐาน-จดทะเบียนค้า

นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า อธิบดีกรมศุลกากร ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทุกส่วนงานเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้านำเข้าที่ต้องผ่านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และสินค้าที่ไม่ผ่านมาตรฐาน โดยกรมจะเน้นไปตรวจโกดัง ลงไปพื้นที่จริง อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า สินค้าที่นำเข้ามาจากจีนมีจำนวนมาก เนื่องจากไทยมี FTA กับจีน

ขณะเดียวกัน กรมได้มีการหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ถึงสถานการณ์นำเข้าสินค้าจีนที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ทั้งนี้ พบว่าปัจจุบันสินค้าจากจีนที่มาจำหน่ายจะเป็นคนจีนจำหน่ายโดยตรง ซึ่งหน่วยงานต้องตรวจสอบว่า คนจีนที่เข้ามาจำหน่ายในไทยได้รับวีซ่าในการจำหน่ายสินค้าหรือไม่ และร้านค้าเหล่านั้นมีการจดทะเบียนนิติบุคคลในประเทศไทย หรือมีการจดแจ้งเพื่อประกอบกิจการทางการค้าหรือไม่

“ในส่วนกรมศุลกากรก็ไม่ได้นิ่งเฉยในเรื่องดังกล่าว โดยตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค.67 ที่ผ่านมา กรมได้ดำเนินการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับสินค้าที่นำเข้ามาราคาต่ำกว่า 1,500 บาทแล้ว”

10 เดือนนำเข้า 120 ล้านชิ้น

ส่วนกรณีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ช Temu นั้น ขณะนี้กรมก็ได้มีการหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์เช่นเดียวกัน แต่ส่วนที่กรมทำได้ คือ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และตรวจสอบว่ามีของผิดกฎหมายหรือไม่ โดยแพลตฟอร์มเหล่านี้ กรมมีประสบการณ์จากในอดีต คือ เมื่อพบสิ่งผิดกฎหมาย และกรมแจ้งไป เขาก็จะนำร้านค้าเหล่านั้นออกจากแพลตฟอร์ม เช่น สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ วัตถุลามก เป็นต้น

อย่างไรก็ดี สินค้านำเข้าจากจีนที่ไม่ได้คุณภาพนั้น มาจาก 2 ช่องทาง ได้แก่ ช่องทางออฟไลน์ และออนไลน์ สำหรับช่องทางออนไลน์ มีสินค้าจากแพลตฟอร์มต่าง ๆ นำมาสู่ผู้บริโภคเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 มีสินค้านำเข้าจากแพลตฟอร์มสูงถึงเกือบ 120 ล้านชิ้น ซึ่งกรมศุลกากรก็ได้มีการตรวจสอบต่อเนื่อง

ขณะที่สินค้าออฟไลน์ ที่นำเข้ามาจากตู้คอนเทนเนอร์ ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้ามาเพื่อมาจำหน่ายตามตลาดนัด หรืออื่นๆ นั้น กรณีสินค้าที่ไม่มี มอก.ถือว่าผิดกฎหมาย จะทำการอายัดสินค้าไว้ อย่างไรก็ตาม ผู้นำเข้ามามีสิทธิ์ที่จะไปขออนุญาต มอก. กับกระทรวงอุตสาหกรรม แต่หากไม่ผ่านสินค้าก็จะถูกยึดจากหน่วยงานที่กำกับดูแล หรือมีสิทธิ์ที่จะส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ตามกฎหมายกระทรวงอุตสาหกรรม

“ยืนยันว่าของที่นำเข้า และซ่อนมา มีความผิดตามกฎหมาย กรมได้มีการจับกุมอย่างต่อเนื่อง อาทิ บุหรี่ไฟฟ้า และชิ้นส่วนการประกอบ เฉลี่ย 10 เดือน มากกว่า 1 ล้านชิ้น ส่วนอีกหนึ่งสินค้าที่ผิดกฎหมาย และนิยมนำเข้ามา คือ ของละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 1 ล้านชิ้น รวมทั้งบุหรี่ด้วย กรมจับไปแล้วกว่า 30 ล้านชิ้น การยึดของส่วนใหญ่ ที่เราจับเขาได้ คือ การดำเนินการไปตรวจจับตามโกดังต่างๆ ด้วยการขอหมายศาลเข้าตรวจค้น หากพบก็จะทำการอายัด และจับกุม”

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4020 วันที่ 22 -24 สิงหาคม พ.ศ. 2567