"GIT" ต่อยอดยกระดับอุตฯอัญมณี-เครื่องประดับไทยเจาะตลาดโลก

29 ส.ค. 2567 | 00:39 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ส.ค. 2567 | 01:21 น.

"GIT" ต่อยอดยกระดับอุตฯอัญมณี-เครื่องประดับไทยเจาะตลาดโลก รุกจัด GIT World’s Jewelry Design Awards 2024 สร้างโอกาส กระทรวงพาณิยช์ชี้เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้กับระบบเศรษฐกิจไทยเป็นจำนวนมาก

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิเดผยว่า ได้ดำเนินการกระตุ้นอุตสาหกรรมมอัญมณีและเครื่องประดับไทย ให้ยกระดับเพิ่มมากขึ้น 

โดยการดำเนินการผ่านการสร้างนักออกแบบสู่ตลาดโลกผ่านการประกวดออกแบบเครื่องประดับ GIT World’s Jewelry Design Awards 2024 ภายใต้แนวคิด Enchanted Hues - Unlocking the Secrets of Primary Colors Theory

ทั้งนี้ การออกแบบที่ต้องผสมผสานอัญมณีธรรมชาติ ได้แก่ ทับทิม ไพลิน และบุษราคัม ซึ่งเป็นอัญมณีอันล้ำค่าให้ลงตัว ก่อเกิดชิ้นงานผ่านจินตนาการที่ไร้ขอบเขต และใช้ทฤษฎีสีหลักผสมผสานองค์ประกอบของศิลปะ และสร้างสรรค์บันดาลเป็นเครื่องประดับที่มีความสวยงามและน่าหลงใหลอย่างแท้จริง
 

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย สร้างรายได้ให้กับระบบเศรษฐกิจไทยเป็นจำนวนมาก  โดยเฉพาะด้านการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงคุณภาพพลอย การเจียระไน ซึ่งถือว่าเป็นต้นน้ำในอุตสาหกรรมเครื่องประดับ เพื่อให้ครบทั้งห่วงโซ่ของการผลิตเครื่องประดับ 

"GIT" ต่อยอดยกระดับอุตฯมอัญมณี-เครื่องประดับไทยเจาะตลาดโลก

หนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่พาณิชย์มุ่งมั่นนั่นคือการสร้างความแข็งแรงให้กับ SME และผู้ประกอบการรายใหม่ โดยขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างแบรนด์ สร้างนักออกแบบรุ่นใหม่ๆ เพื่อเสริมให้กับวงการอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย
 
สำหรับการประกวดที่ GIT ได้จัดขึ้นนี้ถือได้ว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมไทย เป็นเวทีที่ช่วยให้ทั้งผู้ประกอบการไทยได้เห็นงานการออกแบบใหม่ๆ มากขึ้น สามารถนำมาพัฒนาการผลิตและยังได้เห็นเทคนิควิธีการและวิธีออกแบบของนักออกแบบรุ่นใหม่มากขึ้น 
 

รวมถึงการออกแบบเครื่องประดับให้ตอบโจทย์เทรนด์โลกมากขึ้น และทำให้ได้เห็นถึงศักยภาพของนักออกแบบทั้งนักออกแบบไทยและนักออกแบบจากต่างชาติที่ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดเวทีกลางและเปิดเวทีให้นักออกแบบรุ่นใหม่ทั่วโลกได้แสดงศักยภาพในระดับโลก

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบัน GIT กล่าวว่า โครงการประกวดออกแบบเครื่องประดับดังกล่าวนี้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ GIT ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เป็นปีที่ 18 สร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย

และเปลี่ยนประเทศไทยจากประเทศผู้รับจ้างผลิต เป็นประเทศที่สามารถสร้างแบรนด์เครื่องประดับที่ได้รับการยอมรับระดับโลก ได้เห็นถึงศักยภาพของนักออกแบบไทย และนักออกแบบไทยก็สามารถศึกษาผลงานที่เข้าร่วมประกวดและได้เห็นแง่มุมใหม่ เทรนด์ ที่เกิดขึ้นและสามารถนำมาปรับใช้เป็นแนวทางสำหรับนักออกแบบไทย

ซึ่งในปีนี้มีนักออกแบบร่วมส่งผลงานมาประกวดกว่า 890 ผลงาน และคณะกรรมตัดสินได้คัดเลือกผลงานที่ผ่านเข้ารอบแรก 30 ผลงาน รวมถึงผลงานที่มีคะแนนสูงสุด จำนวน 4 ผลงาน เพื่อนำมาผลิตเป็นเครื่องประดับจริง และนำมาตัดสินในรอบชิงชนะเลิศ และนำมาจัดแสดงที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน