กนอ.กำชับนิคมฯ 68 แห่ง เฝ้าระวังรับมือน้ำท่วม ป้องการลงทุน 13.2 ล้านล้าน

28 ส.ค. 2567 | 22:00 น.

กนอ. กำชับนิคมอุตสาหกรรม 68 แห่งทั่วไทย ติดตามเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง พร้อมกาง 8 แผนรับมือ ปกป้องมูลค่าการลงทุนกว่า 13.2 ล้านล้านบาท มั่นใจการรับมือสถานการณ์น้ำในปีนี้มากขึ้น แต่ยังต้องติดตามข้อมูลการระบายน้ำจาก 3 เขื่อนหลักอย่างใกล้ชิด

ปัจจุบันประเทศไทยมีนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมดทั่วประเทศ รวม 68 แห่ง มูลค่าการลงทุนกว่า 13.2 ล้านล้านบาท มีการจ้างแรงงานทั้งคนไทยและต่างชาติกว่า 850,000 คน ใน 4,898 โรงงาน ซึ่งจากสถานการณ์น้ำท่วม และฝนตกหนักในหลายพื้นที่ที่เกิดขึ้น

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จึงได้เกาะติดสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด เพื่อรับมือนิคมอุตสาหกรรมต่างๆในพื้นที่ ในการกำกับดูแลของ กนอ. ตั้งอยู่ อาทิ พระนครศรีอยุธยา สมุทรสาคร กรุงเทพและปริมณฑล สงขลา อุดรธานี ระยอง และชลบุรี

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า กนอ. ได้กำชับไปยังนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 68 แห่งทั่วประเทศ ให้ติดตามและเฝ้าระวังการเกิดน้ำท่วมฉับพลัน

โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ต้องดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างเคร่งครัด และเตรียมการให้พร้อมสำหรับกรณีเกิดเหตุน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ ดังนี้

ยุทธศักดิ์ สุภสร

โดย “นิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เสี่ยง” นิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดอยุธยา ประกอบด้วยนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) และ นิคมอุตสาหกรรมนครหลวง ซึ่งมีการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมแล้ว 100%

แต่เรายังคงต้องเฝ้าระวังและติดตามข้อมูลการระบายน้ำจาก 3 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และ เขื่อนพระรามหก อย่างใกล้ชิด พร้อมจัดให้มีการตรวจสอบระดับน้ำในแม่น้ำและปริมาณน้ำฝนตลอด 24 ชั่วโมง

เนื่องจากหากเกิดน้ำท่วมในพื้นที่โดยรอบ รวมถึงถนน จะทำให้การสัญจรเข้า-ออก นิคมฯ มีปัญหา อาจส่งผลกระทบถึงเรื่องการขนส่งแรงงาน วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ของโรงงานในนิคมฯ

ขณะที่ “นิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่อื่นๆ” มีการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมไว้เกือบครบทุกนิคม ยกเว้น นิคมอุตสาหกรรมบางปูที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม ซึ่งต้องมีการเฝ้าระวังตามมาตรการป้องกันและมาตรการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน

อีกทั้งกนอ.ยังมีแผนการรับมือน้ำท่วม ในเรื่องของมาตรการเฝ้าระวัง จะประกอบด้วย

  1. สำรวจและติดตามข้อมูลอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด
  2. ประเมินคาดการณ์ปริมาณฝนในพื้นที่
  3. ตรวจสอบและซ่อมแซมบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำที่มีอยู่ให้ใช้งานได้ 100%
  4. สูบระบายพร่องน้ำภายในพื้นที่นิคมฯ ให้อยู่ในระดับต่ำสุด ให้มีพื้นที่แก้มลิงรองรับน้ำฝนมากที่สุด
  5. ประสานจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่สำรองจากภายนอกเข้าสนับสนุนหากมีการร้องขอ
  6. ให้มีการประเมินสถานการณ์ พร้อมสื่อสารให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม และผู้เกี่ยวข้องทราบอย่างต่อเนื่อง
  7. กำหนดให้ทุกนิคมอุตสาหกรรมซ้อมแผนฉุกเฉินรองรับอุทกภัยเป็นประจำ
  8. กรณีมีความเสี่ยงเกิดอุทกภัย เช่น ปริมาณน้ำฝนในนิคมฯ มากกว่า 120 มิลลิเมตร ให้รีบรายงานกลับมาที่ผู้ว่าการ กนอ. หรือผู้บริหาร กนอ.ทราบอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ

รวมไปถึงยังมีมาตรการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน โดยได้มีการเตรียมพร้อมสูบระบายน้ำออกนอกพื้นที่นิคมฯ เต็มกำลังทุกสถานีสูบน้ำ ประสานหน่วยท้องถิ่นชลประทานจังหวัดเพื่อขอการสนับสนุนในด้านอุปกรณ์และการสูบระบายน้ำภายนอกนิคมฯ

ประเมินสถานการณ์ สรุปข้อมูลปริมาณน้ำฝน คาดการณ์ปริมาณน้ำท่วมขังในพื้นที่ และมีการสื่อสารรายงานสถานการณ์ ผู้ประกอบการ ผู้บริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจนกว่าสถานการณ์จะยุติ

อย่างไรก็ตามกนอ.คาดการณ์สถานการณ์น้ำในปี 2567 ต้องติดตามสถานการณ์ฝนและพายุที่จะพัดเข้าประเทศไทยช่วงหลังจากนี้ อย่างไรก็ตาม ปีนี้ เรามีความมั่นใจกับการรับมือสถานการณ์น้ำมากขึ้นเพราะเขื่อนป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมด แต่ก็ตามต้องกำชับตรวจตราและดูแลตรวจสอบระบบให้ใช้งานได้ดี มีประสิทธิภาพ

ในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ กทม. และสมุทรปราการ เช่น นิคมอุตสาหกรรมบางปู บางปูเหนือ แพรกกษา นั้นหากมีฝนตกในพื้นที่ปริมาณมากอาจเกิดปัญหาน้ำท่วมขึ้นได้ ซึ่งนิคมฯเองได้มีการประสานหน่วยงานสนับสนุนเพื่อจัดเตรียมเครื่องสูบน้ำสำรองจากภายนอกไว้แล้ว นายยุทธศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย