เคอร์ดิสถาน เปิดประตูดึงไทยทำธุรกิจ สนใจดูงาน EV เปิดเที่ยวบินตรง

29 ส.ค. 2567 | 10:01 น.

นายกฯ เคอร์ดิสถาน หารือเอกอัครราชทูตไทย พร้อมส่งเสริมการทำธุรกิจหลายสาขา ชี้ศักยภาพมีโอกาสเติบโตสูง ต้องการฟื้นฟูหลังผ่านภาวะสงคราม พร้อมสนใจดูงานพลังงานสะอาด EV และเปิดเที่ยวบินตรงรับการท่องเที่ยว

นายสุภาค โปร่งธุระ เอกอัครราชทูต ณ กรุงอัมมาน เปิดเผยว่า ได้เข้าพบหารือกับนายมาสรูร์ บาร์ซานี (Mr.Masrour Barzani) นายกรัฐมนตรีของรัฐบาลภูมิภาคเคอร์ดิสถาน (KRG) ในโอกาสที่นำคณะผู้ประกอบการไทย เดินทางเยือนประเทศอิรัก และเคอร์ดิสถาน (Kurdistan) เพื่อสำรวจโอกาสทางการค้า การลงทุน และเจรจาจับคู่ธุรกิจ ในระหว่างวันที่ 25 - 30 สิงหาคม 2567 

นายสุภาค กล่าวภายหลังการเข้าพบหารือนายกรัฐมนตรีเคอร์ดิสถาน ว่า ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากนายกรัฐมนตรีเคอร์ดิสถาน โดยทั้งสองฝ่ายได้มุ่งเน้นความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างภูมิภาคเคอร์ดิสถานและไทย ซึ่งมีโอกาสขยายตัวได้ในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่ไทยมีศักยภาพเข้ามาแสวงหาโอกาสทางธุรกิจในภูมิภาคเคอร์ดิสถาน

 

เอกอัครราชทูต ณ กรุงอัมมาน เข้าพบหารือกับนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลภูมิภาคเคอร์ดิสถาน

 

“ในการพบหารือครั้งนี้ นายกฯ ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานของเคอร์ดิสถาน ช่วยอำนวยความสะดวกด้านการค้า และการลงทุน พร้อมให้ความร่วมมือกับภาคเอกชนในการแสวงหาโอกาส และสร้างพันธมิตรทางการค้าที่นี่ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ รับหน้าที่เปิดประตูทุกบานเอาไว้ให้แล้ว และทางฝ่ายนโยบายของเคอร์ดิสถาน ก็ยืนยันถึงความพร้อมเข้ามาร่วมมือกับไทย” นายสุภาค กล่าว

สำหรับสาระสำคัญของการหารือครั้งนี้ ไทยและเคอร์ดิสถาน พร้อมหาช่องทางในการขจัดอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อดึงดูดการลงทุนในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อฟื้นฟูประเทศหลังจากผ่านภาวะสงคราม โดยประเทศไทยเองนั้น นับว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ทางรัฐบาลภูมิภาคเคอร์ดิสถานให้การยอมรับ เนื่องจากชาวเคอร์ดิสถาน มีภาพจำที่ดีกับประเทศไทยในการเข้ามาให้ความช่วยเหลือในช่วงที่ผ่านมา 

ขณะเดียวกันชาวเคอร์ดิสถาน บางส่วนก็เคยเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศไทย เช่น กรุงเทพฯ และจังหวัดภูเก็ต โดยเฉพาะการบริการทางสุขภาพด้านต่าง ๆ นั่นจึงทำให้ประเทศไทยถือว่าอยู่ในความสนใจของเคอร์ดิสถาน

เอกอัครราชทูต ณ กรุงอัมมาน ยอมรับว่า จากการหารือกับผู้นำระดับสูงของเคอร์ดิสถาน ยังแสดงความต้องการให้ไทยและอิรัก กลับมามีความสัมพันธ์ในรูปแบบเดิม โดยอยากให้พิจารณาจัดตั้งสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแบกแดด และตั้งสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเออร์บิล ของเคอร์ดิสถาน ด้วย เพราะปัจจุบันมีหลายประเทศเข้ามาเปิดสถานกงสุลแล้วกว่า 34 ประเทศ

ส่วนด้านการค้าการลงทุน เคอร์ดิสถาน แสดงความต้องการให้ไทยเข้ามามีความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ ที่เป็นที่ต้องการ เช่น สาขาการเกษตร สาขาอาหาร สาขาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอุปโภคบริโภค สาขาการผลิต การลงทุนเครื่องมือเครื่องจักรและอุปกรณ์ รวมไปถึงความสนใจไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับพลังงานสะอาดของไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งเคอร์ดิสถาน รับทราบข้อมูลมาว่าไทยมีความก้าวหน้าในด้านนี้ 

 

เอกอัครราชทูต ณ กรุงอัมมาน เข้าพบหารือกับนายกรัฐมนตรีรัฐบาลภูมิภาคเคอร์ดิสถาน

 

ขณะที่สาขาท่องเที่ยว เคอร์ดิสถาน ยังแสดงความสนใจการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่มากขึ้น และพร้อมผลักดันการเจรจาเปิดเที่ยวบินตรงระหว่างไทยและเคอร์ดิสถาน เพื่อสร้างโอกาสทางด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากเคอร์ดิสถาน มองว่าไทยมีศักยภาพในด้านการท่องเที่ยวในระดับโลก จึงต้องการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการบริหารจัดการต่าง ๆ 

เช่นเดียวกับสาขาบริการ โดยเฉพาะการโรงแรม ซึ่งปัจจุบันถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตในอนาคตเป็นอย่างมาก หลังจากเคอร์ดิสถาน เริ่มมีนักธุรกิจจากต่างชาติเข้ามาลงทุนก่อสร้างโรงแรมและที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น นั่นจึงเป็นโอกาสที่ภาคเอกชนไทยในสาขาที่เกี่ยวข้องอาจเข้ามาแสดวงหาความร่วมมือทางธุรกิจไทยได้

 

ศักยภาพของภูมิภาคเคอร์ดิสถาน

สำหรับภูมิภาคเคอร์ดิสถาน เป็นภูมิภาคปกครองตนเองในภาคเหนือของอิรัก ตั้งอยู่บริเวณจุดตัดระหว่างยุโรปเอเชีย และตะวันออกกลาง อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลภูมิภาคเคอร์ดิสถาน (KRG) และมีหน่วยงานนิติบัญญัติของตนเอง โดยภูมิภาคเคอร์ดิสถาน เป็นที่รู้จักจากแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ และสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อธุรกิจ โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมอาหาร อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐาน และบริการ 

ทั้งนี้ที่ผ่านมา รัฐบาลภูมิภาคเคอร์ดิสถาน ได้พยายามผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจ ความมั่นคง และเสถียรภาพทางการเมือง เพื่อส่งเสริมให้ภูมิภาคนี้เป็นจุดหมายปลายทางหลักสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในอิรักและภูมิภาคเคอร์ดิสถานโดยเศรษฐกิจของภูมิภาคเริ่มเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ได้รับการลงทุนจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศตั้งแต่ปี 2549 โดยมีเงินลงทุนรวมเกิน 67,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ภาพรวมของเศรษฐกิจของเคอร์ดิสถานนั้นพึ่งพารายได้จากน้ำมันและก๊าซเป็นหลัก ส่งผลให้เศรษฐกิจในเคอร์ดิสถานขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ดีรัฐบาลของเคอร์ดิสถาน ยังพยายามหาทางส่งเสริมให้ภาคส่วนสำคัญอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศมีระดับที่สูงขึ้น โดยเฉพาะการดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ โดยมีสิทธิประโยชน์พิเศษไว้รอต้อนรับทั้งด้านภาษี และการอำนวยความสะดวกด้านอื่น ๆ

ภาพจาก Kurdistan Regional Government