KEY
POINTS
“ประเทศอิรัก” ในมุมของเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ถือเป็นหนึ่งในตลาดใหม่ที่มีศักยภาพในภูมิภาคตะวันออกกลาง ด้วยประชากรมากกว่า 40 ล้านคน มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของภูมิภาค
อีกทั้งเศรษฐกิจยังคงพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศ หลังจากประเทศได้ผ่านพ้นช่วงสงคราม รัฐบาลอิรักจึงมีนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรี มีการกีดกันทางการค้าน้อย
รวมทั้งให้ความสำคัญกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ก่อสร้าง บูรณะสิ่งปลูกสร้างจำนวนมาก นั่นจึงเป็นโอกาสสำคัญสำหรับภาคธุรกิจที่จะเข้าไปหาช่องทางเปิดตลาดการค้าและการลงทุนในประเทศแห่งนี้
ล่าสุด กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ได้นำคณะผู้ประกอบการไทยจากกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอาง และก่อสร้าง รวมทั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินทางเยือนประเทศอิรักเพื่อสำรวจลู่ทางการค้า การลงทุน และเจรจาธุรกิจ ระหว่างวันที่ 25 - 30 สิงหาคม 2567
พร้อมทั้งนำคณะเข้าพบหารือกับรัฐมนตรี 3 กระทรวงสำคัญของอิรัก ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการค้า และกระทรวงการก่อสร้าง การเคหะ เทศบาล และงานสาธารณะ เพื่อรับทราบแนวนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลอิรักด้วย
นายสุภาค โปร่งธุระ เอกอัครราชทูต ณ กรุงอัมมาน ในฐานะหัวหน้าคณะการเดินทางเยือนอิรัก เปิดเผยว่า อิรักเป็นหนึ่งในประเทศที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเปิดตลาดการค้าและการลงทุน เพราะถือเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพในการรองรับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะด้านการเกษตรและอาหาร จึงนับเป็นโอกาสสำคัญของภาคเอกชนไทยกับการเปิดศักราชใหม่ในด้านความร่วมมือดำเนินธุรกิจระหว่างกันให้แน่นแฟ้นมากขึ้น
“ชาวอิรักเป็นคนที่มีอัธยาศัยไมตรี ชอบต้อนรับชาวต่างชาติ และกระตือรือร้นในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะการแสวงหาความร่วมมือกับนักธุรกิจต่างชาติ ซึ่งเอกชนไทยก็มีโอกาสเข้ามาทำธุรกิจที่นี่ได้ และที่ผ่านมาชาวอิรักยังนิยมเดินทางไปท่องเที่ยว ฮันนีมูน และบริการสุขภาพในประเทศไทย จึงถือว่าไทยมีต้นทุนเดิมที่ดีก่อนที่จะมีสงครามทำให้หยุดไประยะหนึ่งเท่านั้น แต่ตอนนี้ไทยมีแต้มต่อและพร้อมทำธุรกิจอย่างตรงไปตรงมากับไทย” นายสุภาค ระบุ
นายสุภาคกล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานต่าง ๆ พร้อมหาทางสนับสนุนเอกชนไทยเข้ามาหาช่องทางดำเนินธุรกิจ โดยจะประสานไปยังสภาหอการค้าไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสทางการค้าและการลงทุนในอิรัก เพื่อดึงดูดนักลงทุนไทยในกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ นอกเหนือจากกลุ่มธุรกิจนำร่องที่ได้เดินทางมายังอิรักในครั้งนี้ ขณะเดียวกันในปี 2568 กระทรวงการต่างประเทศยังเตรียมนำคณะนักธุรกิจจากอิรักมาจับคู่ธุรกิจในประเทศไทยด้วย
ส่วนแนวทางความร่วมมือในระดับนโยบายนั้น จากการพบหารือกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอิรัก เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2567 ไทยและอิรัก ได้หารือถึงความร่วมมือด้านต่าง ๆ ในสาขาที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการแลกเปลี่ยนร่างความตกลงความร่วมมือ โดยในขั้นแรกจะพิจารณาการยกเว้นการตรวจลงตราเข้าไทยสำหรับทูตและข้าราชการ และผลักดันกรอบการหารือทางด้านการเมือง
เช่นเดียวกับการเตรียมฟื้นการจัดประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยการค้าไทยและอิรัก ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจะพยายามหาทางผลักดันให้เกิดการจัดประชุมให้ได้ในปี 2567 นี้ เพื่อเป็นช่องทางของการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่สำคัญด้านการค้าและความร่วมมือระหว่างกัน
ส่วนแนวโน้มการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยและอิรัก ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมให้เปิดการเจรจาการค้าฉบับใหม่ ๆ เพิ่มเติมนั้น ยอมรับว่า ผู้ที่รับผิดชอบจะเป็นกระทรวงพาณิชย์ แต่กระทรวงการต่างประเทศก็พร้อมร่วมมือสนับสนุน เพราะที่ผ่านมาภาคเอกชนได้สะท้อนความต้องการว่า การจัดทำ FTA จะเป็นกลไกสำคัญที่สามารถพิจารณาข้อเรียกร้องต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ระหว่างกันได้
นายสุภาคกล่าวว่า ในเร็ว ๆ นี้ นายฟุอาด มุฮัมมัด ฮุซัยน์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิรัก ยังเตรียมเดินทางเยือนประเทศไทยในปี 2567 นี้ ซึ่งถือเป็นการเดินทางเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรก เพื่อกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือที่สำคัญระหว่างสองประเทศ โดยกระทรวงการต่างประเทศอยู่ระหว่างการประสานงานและจัดเตรียมความพร้อมต้อนรับคณะของรองนายกฯ อิรักในครั้งนี้
“การเตรียมการทั้งหมดเกี่ยวกับอิรัก จะนำไปสู่พลวัตที่ดีเพื่อต้อนรับการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและอิรัก ครบรอบ 70 ปี ในวันที่ 24 พฤษภาคม ซึ่งหวังว่าเมื่อถึงช่วงเวลานั้นจะเป็นการเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ และตอนนี้ทั้งสองฝ่ายก็วางรากฐานสำคัญที่จะนำสู่การเสริมสร้างความสัมพันธ์ให้แข็งแกร่งขึ้นด้วย”
ด้าน นาย Hisham Al-Alawi รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอิรัก กล่าวว่า ปัจจุบันอิรักมีศักยภาพรองรับการค้าและการลงทุนในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม โดยที่ผ่านมามีเอกชนจากจีนและอินเดียเข้ามาในประเทศแล้ว แต่ในอนาคตเห็นว่าจะต้องขยายโอกาสกับนักธุรกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งประเทศไทยเองก็มีความสัมพันธ์ที่ดี
และขณะนี้กำลังรอประสานในระดับนโยบายเพื่อเตรียมตัวเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในปี 2567 นี้ รวมทั้งจะหารือแบบทวิภาคีในประเด็นความร่วมมือในสาขาที่สำคัญ
เช่นเดียวกับการส่งเสริมการเดินทางระหว่างกันให้สะดวกมากขึ้น ซึ่งในอนาคตจะผลักดันให้มีเที่ยวบินตรงระหว่างไทยและอิรัก โดยทั้งสองประเทศจะร่วมมือกันในประเด็นต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดต่อไป
ขณะที่ นาย Hamed Aljeboori อธิบดีกรมเอเชียและออสเตรเลียแห่งอิรัก อดีตเอกอัครราชทูตอิรักประจำมาเลเซีย ไทย และบรูไน กล่าวว่า อิรักและไทยมีโอกาสอย่างยิ่งที่จะกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพราะมีรากฐานที่ลึกซึ้งอยู่แล้วตั้งแต่อดีต และขณะนี้ถือว่ามีโอกาสที่จะต่อยอดความสัมพันธ์ในช่วงที่อิรักต้องการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งประเทศไทยก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการต่าง ๆ ได้
สำหรับตลาดอิรัก ถือเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพด้านเศรษฐกิจ และเป็นประตูทางการค้าสู่อิหร่าน เนื่องจากสื่อสารภาษาเดียวกันและมีความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ขณะที่ภาคเอกชนของอิรักจำนวนมากยังส่งสินค้าและผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศรวมทั้งไทย ไปยังประเทศอื่น ๆ ในตะวันออกกลางและยุโรปด้วย ส่วนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2565 เศรษฐกิจอิรักขยายตัวสูงถึง 7% และมีขนาด GDP อยู่ที่ 264,180 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 8.9 ล้านล้านบาท
ด้านข้อมูลการค้าล่าสุดในปี 2565 อิรักเป็นคู่ค้าลำดับที่ 51 ของไทย โดยมีปริมาณการค้าระหว่างไทยกับอิรักมีมูลค่า 1,018 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยฝ่ายไทยส่งออกประมาณ 1,017 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าเพียง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปอิรัก ได้แก่ ข้าว จำนวน 1,600,163 ตัน และสินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากอิรัก ได้แก่ น้ำมันดิบ คิดเป็นมูลค่า 0.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่ด้านแรงงานปัจจุบันมีแรงงานไทยในอิรักประมาณ 150 คน โดยส่วนใหญ่พำนักในพื้นที่เขตเคอร์ดิสถาน (Kurdistan Region) ประมาณ 120 คน และอีก 30 คนพำนักในพื้นที่รัฐบาลกลางอิรัก เช่น กรุงแบกแดด เมืองบาสรา และเมืองนาจาฟ
แรงงานส่วนใหญ่ทำงานในภารกิจต่าง ๆ ทั้งพนักงานสปาและนวด นักบินพนักงานบริษัทสำรวจและขุดเจาะน้ำมัน พนักงานโรงงานผลิตกระป๋อง และมีครอบครัวกับชาวอิรักอีกประมาณ 3 ครอบครัว