การลงทุนโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลกระทรวงคมนาคม มีเป้าหมายพัฒนาครอบคลุมการเดินทางในทุกพื้นที่
เพื่อรองรับประชาชนเข้าสู่ระบบการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าร่นระยะเวลาเดินทาง ลดการสูญเสียพลังงานเชื้อเพลิง เพื่มมูลค่าทางเศรษฐกิจประเทศ
ขณะเดียวกันหากรถไฟฟ้ามีอัตราค่าโดยสารที่สูง อาจกระทบต่อการใช้บริการ อย่างไรก็ตามรัฐมีนโยบายกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายในทุกเส้นทาง แต่ในทางปฏิบัติสามารถดำเนินการได้เฉพาะเส้นทางที่รัฐลงทุน
ได้แก่รถไฟฟ้าสายสีแดง และสายสีม่วงนับตั้งแต่รัฐบาลเศรษฐาซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ที่ตอกย้ำความเป็นไปของรถไฟฟ้าราคาถูก และสามารถทำได้จริง
"ทักษิณ"ตอกย้ำรถไฟฟ้า20บาท
เมื่อ ดร. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โชว์วิสัยทัศน์ บนเวทีงาน Dinner Talk Vision for Thailand 2024 จัดโดย เนชั่น เมื่อค่ำของวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยระบุว่า
“รถไฟฟ้า 20 บาท คงต้องทําเพราะ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยยืนยันว่า พูดไปแล้วต้องทําให้ได้ เพราะฉะนั้น อาจจะต้องเวนคืนรถไฟฟ้าที่เอกชนบริหาร กลับมาเป็นของรัฐแล้วจ้างเอกชนเป็นคนบริหารแล้วกําหนด ค่าตั๋วเอง เพราะไม่เช่นนั้นเอกชนจะมุ่งเรื่องของกําไร เป็นสิ่งที่เราจะต้องทําต้องตั้งอินฟราสตรัคเจอร์ฟันด์ หรือว่ากองทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และเก็บค่าธรรมเนียมรถติด“
ทั้งนี้ดร.ทักษิณมองว่าการทําให้ประชาชนสามารถเดินทางในราคาถูกขึ้นได้นั้นเป็นเรื่องที่ดี เพราะวันนี้คนที่เดินทาง ถ้าเดินทางโดยรถไฟฟ้านอกจากสะดวกรวดเร็วแล้ว คุณภาพชีวิตดีขึ้นมาก
อย่างไรก็ตามวิสัยทัศน์ดังกล่าวถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง ล่าสุดกระทรวงคมนาคม ขานรับและนำไปสู่แนวทางปฏิบัติ แต่เอกชนมองว่า รูปแบบการเวนคืน
อาจส่งผลกระทบต่อนักลงทุน ดังนั้น กระทรวงคมนาคมจึงใช้รูปแบบการซื้อคืนสัมปทานจากภาคเอกชนมองว่าเหมาะสมเพราะได้ศึกษามาก่อนหน้านี้
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า แนวคิดการซื้อสัมปทานการบริหารโครงการรถไฟฟ้าจากภาคเอกชนคืนกลับมาเป็นของรัฐบาลนั้น กระทรวงคมนาคมได้ศึกษาก่อนอยู่แล้ว
โดยศึกษาจากหลายประเทศ เพื่อให้สามารถควบคุมอัตราค่าโดยสาร สอดคล้องนโยบาย 20 บาทตลอดสายที่รัฐบาลต้องการลดค่าครองชีพด้านการเดินทางให้กับประชาชน
ทั้งนี้แนวทางการซื้อคืนจะทำให้รัฐบาลมีอิสระในการกำหนดนโยบายในเรื่องอัตราค่าโดยสาร และสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายได้โดยไม่กระทบกับสัญญาสัมปทานเดิม ขณะเดียวกันกระทรวงคมนาคมเตรียมหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง
เพื่อพิจารณาถึงแนวทางที่สามารถดำเนินการผ่านการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) โดยยึดภายใต้กรอบกฎหมายที่มีอยู่
พร้อมมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์การจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge)
เพื่อศึกษา ความเป็นไปได้ และนำรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด ส่งเข้ากองทุนฯ เพื่อสนับสนุนในการรณรงค์ให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น
สำหรับรูปแบบจะเจรจาร่วมกับเอกชนเพื่อปรับสัญญาสัมปทานจากรูปแบบ PPP Net Cost หรือเอกชนได้รับสิทธิ์ในการลงทุน ระบบเดินรถ และให้บริการเดินรถ พร้อมทั้งเป็นผู้จัดเก็บรายได้ รวมถึงจัดสรรผลตอบแทนบางส่วนให้แก่ภาครัฐตามข้อตกลงในสัญญา
โดยเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบ PPP Gross Cost ที่ภาครัฐเป็นผู้จัดเก็บรายได้เองทั้งหมด และรัฐชดเชยค่าใช้จ่ายลงทุนระบบเดินรถในส่วนที่เอกชนลงทุนในระบบเดินรถคืน
ในฐานะคู่สัญญาและรัฐจะจ้างเอกชนคู่สัญญารายเดิมเป็นผู้ให้บริการเดินรถจนกว่าสัญญาสัมปทานเดินจะสิ้นสุดลง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว จะไม่กระทบกับสัญญาของเอกชนอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ข้อเท็จจริงของแนวคิดเป็นเพียงต้องการจะสื่อให้เห็นว่า เป็นการทำเพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชนได้รับบริการรถไฟฟ้าในราคาที่ถูกลง สอดคล้องกับนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายในทุกสีทุกเส้นทาง และเมื่อราคาค่าโดยสารถูกลง มั่นใจว่า จะมีผู้โดยสารมาใช้มากขึ้น ดังเช่นสายสีแดง และสายสีม่วงที่ได้มีการลดราคาไปแล้ว ทำให้สภาพการจราจรติดขัดน้อยลง
บีทีเอสพร้อมหนุนถ้ามีประโยชน์
แหล่งข่าวจากบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส กล่าวว่าหากแนวคิดดังกล่าวได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่ายและประชาชนได้ใช้รถไฟฟ้าในราคาที่ถูกลงถือเป็นเรื่องดี
“ความเป็นไปได้ที่จะขายสัมปทานให้กับภาครัฐนั้นต้องดูแนวทางของภาครัฐก่อนว่าดำเนินการอย่างไร หากใช้วิธีเวนคืนเกรงว่านักลงทุนอาจจะกังวลได้”
หากกระทรวงมีแนวคิดที่ชัดเจนแล้ว เบื้องต้นบริษัทจะมีการศึกษาแนวคิดดังกล่าวด้วย ซึ่งจะหารือร่วมกับผู้จัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางรางบีทีเอสโกรท (BTSGIF)
เนื่องจากรายได้สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้ขายสิทธิรายได้ค่าโดยสารสุทธิในอนาคตที่จะเกิดขึ้นจากการเดินรถไฟฟ้าสีเขียวสายหลักในช่วงระยะเวลาที่เหลือให้แก่กองทุน BTSGIF
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวดำเนินโครงการในรูปแบบสัมปทานการแบ่งส่วนแบ่งรายได้แก่รัฐ ในปัจจุบัน มี 3 สายทาง คือ สายสีเขียวหลักคือ สายสุขุมวิท หมอชิต -อ่อนนุช ระยะทาง 17 กิโลเมตร (กม.)
และสายสีลม สนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ระยะทาง 6.5 กม. มูลค่าการลงทุนประมาณ 50,000 ล้านบาท โดยมีบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เป็นผู้รับสัมปทานจากกรุงเทพมหานคร (กทม.)
หากสิ้นสุดสัญญาสัมปทานภายในเดือนธันวาคม 2572 แล้ว กทม.จะเปลี่ยนเป็นสัญญาจ้างเดินรถกับ BTS ภายในเดือนธันวาคม 2572-พฤษภาคม 2585
กรมรางยันทำได้จริง
ด้านดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ยืนยันว่า สามารถทำได้ เพราะทั่วโลกทำมานานแล้ว ซึ่งกรมเองได้ศึกษาแนวทางนี้มากว่า 10 ปี
เพราะรถไฟฟ้าส่วนใหญ่รัฐเป็นผู้ดูแลและจ้างเอกชนเดินรถ อย่างสายสีแดง และสายสีม่วง ที่นำร่องในขณะนี้ขณะเดียวกันรถไฟฟ้าที่ดำเนินการเหลือไม่กี่สาย ดังนั้นนโยบายดังกล่าวสามารถทำได้
หากมองลงไปในรายละเอียด รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด(มหาชน)หรือ BTSC เหลือเวลาสัมปทานไม่เกิน 5 ปีหรือสิ้นสุดปี2572 ซึ่งจะตกเป็นของรัฐ แต่หากจะให้เร็วขึ้นก่อนหมดสัญญาสัมปทาน
ต้องใช้วิธีเวนคืน หมายถึงรัฐจ่ายเงินให้กับเอกชนในลักษณะบังคับซื้อ แต่หากซื้อสัมปทานก็สามารถเจรจากันได้ โดยจะประเมินมูลค่าสินทรัพย์ที่เหลือก่อนหมดสัญญา
ขณะสายสีน้ำเงินเหลือระยะเวลาอีกกว่า20ปี มองว่าต้องใช้เงินสูงแต่เป็นเรื่องที่ดีสำหรับเอกชนมากกว่า ส่วนสีชมพูและสีเหลืองเพิ่งเปิดให้บริการไม่นานสามารถประเมินตามมูลค่าที่เอกชนเสนอราคา รวมถึงสายสีส้ม
คุ้มหรือไม่ ทุ่ม 5 แสนล้าน เวนคืนรถไฟฟ้า
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวกับ ‘ฐานเศรษฐกิจ’ ว่า รูปแบบที่อดีตนายกฯ ทักษิณ เสนอไว้
คือการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อนำเงินไปสนับสนุนในการเวนคืนรถไฟฟ้าทุกสายมาเป็นของรัฐ และจ้างเอกชนเดินรถเท่านั้น ส่วนรายได้ที่นำส่งเข้ากองทุนนั้น จะมาจากการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge) ซึ่งในส่วนนี้แหละ ที่น่ากังวล
“การตั้งกองทุนฯ ต้องใช้เงินจำนวนมาก ต้องเริ่มจากเงินก้นถุงจากรัฐบาลก่อนก้อนแรก จากนั้น ต้องศึกษาให้ดี เพราะปัจจุบันมีหลายสาย และมูลค่าสูงมาก”
หากย้อนกลับไปในปี 2457 ที่ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอยู่นั้น เคยมีแนวคิดนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง ในยุคที่นายทักษิณ เป็นนายกฯ ซึ่งขณะนั้นมีรถไฟฟ้าสายเดียว เอกชนรายเดียวคือ BTS แต่ปัจจุบันมีจำนวน 7-8 สาย ระยะทางกว่า 270 กม. ทำให้เกิดความยากในการเวนคืน เพราะมูลค่าน่าจะสูงกว่า 5 แสนล้านบาท
โบรกมองประชาชนได้ประโยชน์
นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ รองกรรมการณผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การที่จะเวนคืนรถไฟฟ้า หรือการแก้ไขสัญญาจากเอกชนผู้มีสัมปทานอยู่นั้น
ต้องได้รับการยอมรับจากเอกชนผู้มีสัมปทานร่วมด้วย จะเป็นการบังคับเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ ซึ่งเชื่อว่าการปรับเงื่อนไขให้เป็นที่ยอมรับได้ทั้ง 2 ฝ่ายอาจต้องใช้ระยะเวลา
แน่นอนว่าผู้ที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุด คือ ประชาชน เพราะจะช่วยลดต้นทุนในการดำเนินชีวิต มีค่ารองชีพที่ลดลง แต่ในทางกลับกันอาจไม่เป็นผลดีต่อภาคเอกชน โดยเฉพาะ BTS และ BEM ผู้ถือสัมปทานการเดินรถไฟฟ้า แม้ว่าภาครัฐจะการปรับเพิ่มอายุสัญญาการเดินรถเพื่อเป็การชดเชยให้ยาวนานขึ้น