แนวทางการผลักดันเรื่องเศรษฐกิจนอกระบบ หรือ “เศรษฐกิจใต้ดิน” ขึ้นมาให้ถูกต้องตามกฎหมาย นับเป็นหนึ่งในไอเดียสำคัญที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เคยได้กล่าวเอาไว้เมื่อไม่นานมานี้ เพื่อหวังว่าจะแก้ไขปัญหาสังคมและเพิ่มรายได้แหล่งใหม่ให้กับประเทศ
แนวคิดข้างต้นนี้ ศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ ผู้อำนวยการ สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย เปิดเผยมุมมองกับฐานเศรษฐกิจว่า ก่อนจะรื้อเศรษฐกิจใต้ดินขึ้นมาไว้บนดิน สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องไปดูตัวอย่างจากประเทศพัฒนาแล้วที่เคยทำเรื่องในลักษณะนี้ก่อนว่าเป็นอย่างไร และประสบผลสำเร็จหรือไม่ พร้อมกับดูความเหมาะสมด้านสังคมและวัฒนธรรมของประเทศไทยด้วยว่าเหมาะสมมากแค่ไหนหากจะผลักดันกันจริง ๆ
“ส่วนตัวมองว่า การมองเรื่องของเศรษฐกิจมากเกินไปก็ดี แต่วัฒนธรรมต่าง ๆ นานา ๆ ก็ต้องดูให้เหมาะสม หรือจะคนละครึ่งทาง เริ่มจากค่อย ๆ ทำแล้วลองมองถึงผลที่จะเกิดขึ้น เพราะถ้าทำทั้งหมดแล้วเมื่อเกิดปัญหาขึ้น จะแก้ยาก” ศ.ดร.อรรถกฤต ระบุ
สำหรับประเด็นหนึ่งที่ทางฝั่งนักวิชาการสนใจ นั่นคือ แนวคิดการผลักดันการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือ Entertainment Complex หากรัฐจะผลักดันให้เกิดขึ้นก็ต้องดูให้ดี และสร้างในพื้นที่ที่เหมาะสม
พร้อมกับศึกษาการจัดตั้งสถานบันเทิงครบวงจรในต่างชาติ เช่น เกาหลีใต้ ที่มีเงื่อนไขจำกัดคนเกาหลีเข้าไปใช้บริการ เพื่อไม่ให้คนติดการพนันจนกลายเป็นปัญหาสังคม เป็นต้น ซึ่งแนวคิดแบบนี้ประเทศไทยควรศึกษาผลกระทบให้ชัดเจน
ขณะเดียวกันยังมีข้อกังวลอีกอย่างนั่นคือ เรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเป็นผู้ควบคุมให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ก็ต้องควบคุมให้ดีไม่ให้เกิดการทุจริตในหน้าที่ และสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งทำตอนนี้อาจจะต้องเร่ง “ปฏิรูปตำรวจ” เสียก่อน ตัวอย่างเช่น ฮ่องกงได้ปฏิรูปวงการตำรวจครั้งใหม่ก่อนจะเริ่มทำโครงการ เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการทุจริตไม่ให้เกิดขึ้น
“ถ้าปฏิรูปตำรวจได้ ก็โกออนไปสู่เรื่องอื่น ๆ ได้ อย่างในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา มีการติดกล้องตำรวจ หากตำรวจเอามือไปปิดตอนไหนก็ถูกไล่ออกทันที นี่เป็นตัวอย่างหนึ่ง และที่สำคัญคือยุคนี้ควรนำเทคโนโลยีเอไอเข้ามาช่วยทำงาน เพื่อจะช่วยให้เกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้ การลองหาวิธีการทำอย่างนี้น่าจะเป็นหัวใจหลักก่อนจะเริ่มผลักดันเศรษฐกิจใต้ดินขึ้นมา” ศ.ดร.อรรถกฤต กล่าว
ศ.ดร.อรรถกฤต กล่าวด้วยว่า การปฏิรูปตำรวจแม้จะทำได้ไม่ง่าย แต่ก็ควรเร่งทำ เพราะกระบวนการทั้งหมดเกี่ยวกับเศรษฐกิจใต้ดิน แฝงไปด้วยผลประโยชน์ และเสี่ยงต่อการกระทำที่เป็นทุจริตสูงมาก ขณะเดียวกันหากพิจารณาเฉพาะข้อกฎหมายก็อาจจะไม่ทันต่อพฤติกรรมที่เข้าข่ายทุจริต เพราะปัญหาคอร์รัปชั่น คือการหาช่องทางที่เป็นไปได้ในการกระทำ โดยทั้งหมดนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องช่วยกันคิดและศึกษาให้ดี
อย่างไรก็ดีในแนวนโนบายการผลักดันการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือ Entertainment Complex มองว่า หากรัฐบาลต้องการผลักดันออกมาให้ได้จริง ๆ ก็อาจพิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมในเมืองท่องเที่ยว และอยากให้กำหนดเงื่อนไขให้ชัดว่าใครควรเล่นได้หรือไม่ได้