ต่างชาติลงทุน EEC ช่วง 7 เดือน พุ่ง 88% ขาประจำหอบเงินลงทุนสูงสุด

01 ก.ย. 2567 | 09:45 น.

เปิดสถิติการลงทุนในพื้นที่ พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ยอด 7 เดือน ปี 2567 เพิ่มขึ้น 88% นักลงทุนต่างชาติขาประจำ หอบเงินลงทุนสูงสูดมูลค่ากว่า 2.7 หมื่นล้านบาท

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ในช่วง 7 เดือนของ ปี 2567 (มกราคม-กรกฎาคม) พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุน 137 ราย คิดเป็น 30% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 64 ราย หรือเพิ่มขึ้น 88%

สำหรับมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC มีมูลค่ารวม 27,677 ล้านบาท คิดเป็น 30% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 15,329 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 124% แยกเป็นช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2567 เงินลงทุน 27,677 ล้านบาท และช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2566 เงินลงทุน 12,348 ล้านบาท

ทั้งนี้หากพิจารณานักลงทุนจากประเทศต่าง ๆ ในพื้นที่ EEC มีดังนี้

  • ญี่ปุ่น 45 ราย ลงทุน 8,138 ล้านบาท 
  • จีน 29 ราย ลงทุน 3,039 ล้านบาท 
  • ฮ่องกง 14 ราย ลงทุน 5,058 ล้านบาท 
  • ประเทศอื่นๆ 49 ราย ลงทุน 11,442 ล้านบาท 

สำหรับธุรกิจที่ลงทุน มีประเภทต่าง ๆ ดังนี้

  • ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม โดยเป็นการออกแบบทางวิศวกรรมสำหรับระบบต่างๆ ภายในโรงงานอุตสาหกรรม
  • ธุรกิจบริการรับจ้างตกแต่งชิ้นงาน ด้วยวิธีการตัด เจาะ กลึง ไส หรือทำเกลียวชิ้นงานตามแบบ
  • ธุรกิจบริการจัดเก็บสินค้า วัตถุดิบ สินค้าควบคุมอุณหภูมิ เคมีภัณฑ์ สารเคมีและวัตถุอันตราย
  • ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ชิ้นส่วนเครื่องยนต์สำหรับอากาศยาน, ผลิตภัณฑ์โลหะและชิ้นส่วนโลหะ เครื่องมือไฟฟ้า (Power Tools) และมอเตอร์เครื่องจักรอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ สำหรับกลุ่มภาพและเสียง เป็นต้น)
  • ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อจำหน่าย และ/หรือ ให้บริการ เช่น ระบบควบคุมการผลิตในโรงงาน และระบบจัดการคลังสินค้า เป็นต้น

นางอรมน กล่าวว่า สำหรับภาพรวมในช่วง 7 เดือนของ ปี 2567 การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 460 ราย ส่วนแรกเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 124 ราย 

อีกส่วนเป็นการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) 336 ราย เงินลงทุนรวม 90,987 ล้านบาท และจ้างงานคนไทย 2,149 คน

โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ 

  1. ญี่ปุ่น 117 ราย คิดเป็น 25% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 47,879 ล้านบาท 
  2. สิงคโปร์ 71 ราย คิดเป็น 15% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 7,486 ล้านบาท 
  3. สหรัฐอเมริกา 70 ราย คิดเป็น 15% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ เงินลงทุน 3,470 ล้าน
  4. จีน 51 ราย คิดเป็น 11% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ เงินลงทุน 7,120 ล้านบาท 
  5. ฮ่องกง 35 ราย คิดเป็น 8% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 12,131 ล้านบาท