รัฐบาลจ่อคลอดสิทธิประโยชน์ EEC ดึงเงินลงทุนประเดิม 2.67 แสนล้าน

07 ส.ค. 2567 | 10:06 น.
อัพเดตล่าสุด :07 ส.ค. 2567 | 10:27 น.

รองนายกฯ “ภูมิธรรม เวชยชัย” ลงพื้นที่เช็คความพร้อม EEC เตรียมเสนอครม. ดันสิทธิประโยชน์ของอีอีซี ดึงดูดนักลงทุน หวังดึงเงินลงทุนเข้ามาในพื้นที่ รับตอนนี้มีเอกชนสนใจลงทุนหลายโครงการมูลค่ากว่า 2.67 แสนล้าน

วันนี้ (7 สิงหาคม 2567) ที่จังหวัดระยอง นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในระหว่างการลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการในพื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ว่า คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วที่สุด เพื่อพิจารณาเห็นชอบ ร่างประกาศ กพอ. เรื่อง สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. .... หรือ EEC Track เพื่อดึงดูดเอกชนเข้ามาลงทุนภายใต้กฎหมายของ EEC

“ตอนนี้ได้รับทราบรายละเอียดของสิทธิประโยชน์ของ EEC ที่จะใช้ดึงนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศแล้ว แต่ขอดูรายละเอียดอีกหน่อย และไม่นานนี้จะเสนอเข้าไปยังครม.โดยเร็วที่สุด แต่ยังไม่ขอบอกว่าจะเข้าเร็วสุดตอนไหน เพราะต้องดูให้รอบคอบก่อน” นายภูมิธรรม ระบุ

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า หากครม.เห็นชอบสิทธิประโยชน์ของ EEC แล้ว เชื่อว่า 2-3 สัปดาห์จะเริ่มมีนักลงทุนเข้ามาขอให้สิทธิประโยชน์แน่นอน เพราะขณะนี้นักลงทุนหลายรายแสดงความสนใจเข้ามาแล้วหลายราย และจะเป็นส่วนหนึ่งของการดึงดูดนักลงทุนเข้ามาในพื้นที่ EEC มากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

สำหรับข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับการชักชวนนักลงทุนใน EEC นั้น ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 – 12 กรกฎาคม 2567 พบว่า สำนักงาน EEC ได้ชักชวนนักลงทุนภาพรวม 109 ราย เพื่อดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 ประเภท คือ การแพทย์และสุขภาพ ดิจิทัล ยานยนต์สมัยใหม่ เศรษฐกิจ BCG และบริการ คิดเป็น 45 โครงการ รวมมูลค่าโครงการรวม 276,469 ล้านบาท 

ทั้งนี้หากพิจารณาในรายละเอียดของโครงการทั้งหมดนั้น พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ BCG เป็นอุตสาหกรรมที่นักลงทุนต้องการลงทุนสูงที่สุด มีมูลค่าสูงถึง 152,300 ล้านบาท รวม 15 โครงการ แบ่งเป็น โครงการที่นักลงทุนส่งหนังสือแสดงเจตจำนงการลงทุน 9 ราย รวม 12 โครงการ และ โครงการที่นักลงทุนยื่นข้อเสนอโครงการแล้ว 3 ราย รวม 3 โครงการ

ส่วนอุตสาหกรรมบริการ พบว่ามีโครงการที่นักลงทุนต้องการลงทุนรวมมูลค่า 59,582 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการที่นักลงทุนส่งหนังสือแสดงเจตจำนงการลงทุน 11 ราย รวม 11 โครงการ และ โครงการที่นักลงทุนยื่นข้อเสนอโครงการแล้ว 2 ราย รวม 2 โครงการ 

ขณะที่อุตสาหกรรมดิจิทัล พบว่ามีโครงการที่นักลงทุนต้องการลงทุนรวมมูลค่า 46,739 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการที่นักลงทุนส่งหนังสือแสดงเจตจำนงการลงทุน 5 ราย รวม 5 โครงการ และ โครงการที่นักลงทุนยื่นข้อเสนอโครงการแล้ว 3 ราย รวม 3 โครงการ

ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ พบว่ามีโครงการที่นักลงทุนต้องการลงทุนรวมมูลค่า 17,515 ล้านบาท โดยเป็นโครงการที่นักลงทุนส่งหนังสือแสดงเจตจำนงการลงทุน 6 ราย รวม 6 โครงการ ส่วนอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ พบว่ามีโครงการที่นักลงทุนต้องการลงทุนรวมมูลค่า 333 ล้านบาท โดยเป็นโครงการที่นักลงทุนส่งหนังสือแสดงเจตจำนงการลงทุน 3 ราย รวม 3 โครงการ

นอกจากนี้ เมื่อเช้าวันที่ 7 สิงหาคม 2567 รองนายกฯ และคณะยังได้ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาทุนมนุษย์ตามแนวคิด EEC Model ณ วิทยาลัยเทคนิคระยอง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง โดยยืนยันถึงแนวทางการส่งเสริมการพัฒนาคนของรัฐบาล เพื่อรองรับการจ้างงานในพื้นที่ EEC โดยพร้อมดึงสถานศึกษาในพื้นที่ ร่วมมือกับสถานประกอบการ ช่วยพัฒนาทักษะคนรุ่นใหม่ เพื่อเป็นกำลังแรงงานในอุตสาหกรรมเป้าหมายต่าง ๆ ในอนาคตด้วย

“ในอนาคตพื้นที่ EEC จะมีความต้องการแรงงานอย่างน้อยกว่าแสนตำแหน่ง ครอบคลุมอุตสาหกรรมเป้าหมายประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะบริการ และเศรษฐกิจ BCG ซึ่งการร่วมมือกับสถานศึกษาในพื้นที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างโอกาส และสร้างอนาคตของคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ได้มากขึ้น” เลขาฯ อีอีซี กล่าว