รัฐบาลไทยเดินหน้าผลักดันการลงทุนในพื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อย่างต่อเนื่อง โดยเตรียมออกมาตรการสิทธิประโยชน์ใหม่ เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ท่ามกลางความสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าสูงถึง 2.7 แสนล้านบาท
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลยังคงทำงานต่อเนื่อง โดยเฉพาะการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ และในฐานะของประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ซึ่งดูแลโครงการในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ยืนยันว่า รัฐบาลยังเห็นสัญญาณว่า มีนักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ในโครงการอีอีซี
ทั้งนี้ในเร็ว ๆ นี้ จะนัดประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบ ร่างประกาศ กพอ. เรื่อง สิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. .... หรือ EEC Track เพื่อดึงดูดเอกชนเข้ามาลงทุนภายใต้กฎหมายของ EEC ก่อนที่จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาโดยเร็วที่สุด เช่นเดียวกับการพิจารณาโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในโครงการอีอีซีด้วย
ขณะที่ นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า หากครม.เห็นชอบสิทธิประโยชน์ของ EEC แล้ว เชื่อว่า 2-3 สัปดาห์จะเริ่มมีนักลงทุนเข้ามาขอให้สิทธิประโยชน์แน่นอน เพราะขณะนี้นักลงทุนหลายรายแสดงความสนใจเข้ามาแล้วหลายราย และจะเป็นส่วนหนึ่งของการดึงดูดนักลงทุนเข้ามาในพื้นที่ EEC มากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
สำหรับข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับการชักชวนนักลงทุนใน EEC นั้น ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 – 12 กรกฎาคม 2567 พบว่า สำนักงาน EEC ได้ชักชวนนักลงทุนภาพรวม 109 ราย เพื่อดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 ประเภท คือ การแพทย์และสุขภาพ ดิจิทัล ยานยนต์สมัยใหม่ เศรษฐกิจ BCG และบริการ คิดเป็น 45 โครงการ รวมมูลค่าโครงการรวม 276,469 ล้านบาท
ทั้งนี้หากพิจารณาในรายละเอียดของโครงการทั้งหมดนั้น พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ BCG เป็นอุตสาหกรรมที่นักลงทุนต้องการลงทุนสูงที่สุด มีมูลค่าสูงถึง 152,300 ล้านบาท รวม 15 โครงการ แบ่งเป็น โครงการที่นักลงทุนส่งหนังสือแสดงเจตจำนงการลงทุน 9 ราย รวม 12 โครงการ และ โครงการที่นักลงทุนยื่นข้อเสนอโครงการแล้ว 3 ราย รวม 3 โครงการ
ส่วนอุตสาหกรรมบริการ พบว่ามีโครงการที่นักลงทุนต้องการลงทุนรวมมูลค่า 59,582 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการที่นักลงทุนส่งหนังสือแสดงเจตจำนงการลงทุน 11 ราย รวม 11 โครงการ และ โครงการที่นักลงทุนยื่นข้อเสนอโครงการแล้ว 2 ราย รวม 2 โครงการ
ขณะที่อุตสาหกรรมดิจิทัล พบว่ามีโครงการที่นักลงทุนต้องการลงทุนรวมมูลค่า 46,739 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการที่นักลงทุนส่งหนังสือแสดงเจตจำนงการลงทุน 5 ราย รวม 5 โครงการ และ โครงการที่นักลงทุนยื่นข้อเสนอโครงการแล้ว 3 ราย รวม 3 โครงการ
ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ พบว่ามีโครงการที่นักลงทุนต้องการลงทุนรวมมูลค่า 17,515 ล้านบาท โดยเป็นโครงการที่นักลงทุนส่งหนังสือแสดงเจตจำนงการลงทุน 6 ราย รวม 6 โครงการ
ส่วนอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ พบว่ามีโครงการที่นักลงทุนต้องการลงทุนรวมมูลค่า 333 ล้านบาท โดยเป็นโครงการที่นักลงทุนส่งหนังสือแสดงเจตจำนงการลงทุน 3 ราย รวม 3 โครงการ
ส่วนข้อมูลคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนนั้น ล่าสุดนายนฤตม์เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยยอดคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 6 เดือนแรก ปี 2567 (มกราคม -มิถุนายน 2567) การส่งเสริมการลงทุนเพิ่มสูงขึ้นในทุกขั้นตอน ทั้งการขอรับการส่งเสริม การอนุมัติให้การส่งเสริม การออกบัตรส่งเสริม และเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน
โดยตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 มีจำนวน 1,412 โครงการ เพิ่มขึ้น 64% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 458,359 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35%
ทั้งนี้สะท้อนถึงศักยภาพและพื้นฐานที่ดีของประเทศไทย ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อนโยบายรัฐบาล รวมทั้งผลจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอและหน่วยงานภาครัฐ
โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มูลค่า 139,725 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน มูลค่า 39,883 ล้านบาท เกษตรและแปรรูปอาหาร มูลค่า 33,121 ล้านบาท ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ มูลค่า 25,344 ล้านบาท และดิจิทัล มูลค่า 25,112 ล้านบาท
แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยรายละเอียดสิทธิประโยชน์ใหม่สำหรับผู้ประกอบการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) โดยมีจุดเด่นที่การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดถึง 15 ปี เพื่อดึงดูดการลงทุนในพื้นที่ มีดังนี้
1.สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากร ประกอบด้วย ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลระยะเวลา: 1-15 ปี ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลอัตราไม่เกิน 50% ของอัตราปกติ ระยะเวลา 01-10 ปี (กรณีไม่ได้รับการยกเว้น) หรือ 1-5 ปี (หลังจากได้รับการยกเว้นไม่เกิน 8 ปี) สามารถนำผลขาดทุนไปหักกำไรสุทธิระยะเวลาไม่เกิน 5 ปีหลังจากพ้นช่วงยกเว้นภาษี นำค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าประปา หักค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมได้ 2 เท่า เงินลงทุนในสิ่งอำนวยความสะดวกหักได้ 1-25%
ขณะเดียวกันยังให้สิทธิพิเศษในการยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร, อุปกรณ์วิจัยและพัฒนา, วัตถุดิบสำหรับการส่งออก ลดหย่อนอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบไม่เกิน 90% ของอัตราปกติ ยกเว้นอากรขาออกสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในเขต EEC
2. สิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ด้านภาษี กำหนดให้การถือครองที่ดินและห้องชุดสามารถถือกรรมสิทธิ์ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตพิเศษ อนุญาตให้นำเข้าผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหาร และครอบครัวได้ โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตทำงานสำหรับตำแหน่งที่กำหนด การทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน และการใช้เงินตราต่างประเทศชำระค่าสินค้าหรือบริการได้
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีสิทธิได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายอีกด้วย
แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม ยอมรับว่า ตัวเลขการลงทุนในขณะนี้ แม้ว่าจะมีตัวเลขคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนเข้ามาจำนวนมาก แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงเป็นอุปสรรคที่ทำให้ตัวเลขการลงทุนจริงเกิดขึ้นน้อย นั่นคือ ความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยเฉพาะกรณีความไม่แน่นอนของการเมืองภายในประเทศ เพราะหากเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นมากะทันหัน อาจส่งผลให้การดำเนินนโยบายไม่ต่อเนื่อง
ส่วนอีกเหตุผลหนึ่ง คือการเตรียมความพร้อมของสถานที่ในการรองรับนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนที่อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามีนักลงทุนต่างชาติหลายรายสนใจเข้ามาติดต่อหาช่องทางลงทุนในประเทศไทย แต่ทางหน่วยงานภาครัฐยังไม่สามารถจัดหาพื้นที่ โดยเฉพาะที่ดินสำหรับตั้งโรงงาน หรือตั้งกิจการให้กับนักลงทุนได้ เนื่องจากติดปัญหาที่ดินส่วนใหญ่มีราคาสูง และมีค่อนข้างจำกัด ทำให้ตัวเลขการลงทุนจริงเกิดขึ้นช้ามาก ดังนั้นจึงต้องการให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยหาทางออกเรื่องนี้โดยเร่งด่วน