"ปลอดประสพ" เปิดทุกมุมมอง เหตุใด "เขื่อนแก่งเสือเต้น" จึงต้องเกิด

04 ก.ย. 2567 | 11:30 น.

เปิดทุกมุมมอง “ปลอดประสพ สุรัสวดี” อดีตรองนายกรัฐมนตรี ทำไมโครงการก่อสร้าง "เขื่อนแก่งเสือเต้น" ในลุ่มแม่น้ำยม จึงต้องเกิด ฟังแนวความคิดแบบเจาะลึก พร้อมผลกระทบที่จำเป็นต้องเลือก

สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดภาคเหนือและภาคกลางตอนบนได้จุดประเด็นร้อนขึ้นอีกครั้งเกี่ยวกับการรื้อฟื้นโครงการก่อสร้าง "เขื่อนแก่งเสือเต้น" ในลุ่มแม่น้ำยม ซึ่งแม่น้ำสายนี้เป็นแม่น้ำสายเดียวจาก 4 สายหลักในภาคเหนือที่ยังไม่มีเขื่อนขนาดใหญ่สำหรับการบริหารจัดการน้ำ ความขัดแย้งนี้ได้สร้างความกังวลในชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ทำให้พวกเขากำลังเตรียมการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่เพื่อคัดค้านโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้น

นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายสิ่งแวดล้อม พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดการก่อสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำยมว่า การผลักดันโครงการก่อสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำยมต้องคุยกันอย่างมีเหตุผลบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง และได้รับการยอมรับตามหลักวิชาการ พร้อมทั้งควรเห็นอกเห็นใจกับคนหมู่มากที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วมหนักทุกปี ตั้งแต่จังหวัดแพร่ พิจิตร และสุโขทัย 

นายปลอดประสพ เล่าย้อนไปว่า การก่อสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำยม เพราะต้องการให้น้ำมีที่อยู่ และทำให้น้ำมีที่ไปที่ถูกต้อง แถมยังเก็บไม่ได้ ดังนั้นในแนวคิดจึงจำเป็นต้องทำให้น้ำมีที่อยู่บริเวณต้นน้ำยม โดยมีจุดที่เหมาะสมคือแก่งเสือเต้น ซึ่งมีหน้าผา 2 ด้าน มีระยะทางยาวประมาณ 9 กิโลเมตร ซึ่งสามารถเลือกจุดที่เหมาะสมได้ตรงไหนก็ได้ในลุ่มน้ำยม

เดิมมีการศึกษารายละเอียดเบื้องต้นของโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น มีความสูงประมาณ 60 เมตร เป็นลักษณะเขื่อนหินทิ้ง มีปริมาณการเก็บกักน้ำประมาณ 1,200 – 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีระบบการระบายน้ำเพื่อการเกษตรด้วย หรือจะปรับแบบเพื่อรองรับการผลิตกระแสไฟฟ้าก็ได้ และที่ผ่านมาก็มีแนวคิดในการสร้างเขื่อนสองชั้น คือ บริเวณลุ่มน้ำชั้นบน และลุ่มน้ำชั้นล่าง โดยมีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท

ส่วนผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนนั้น นายปลอดประสพ ยอมรับว่า แน่นอนว่าเมื่อสร้างแล้วก็มีผลกระทบ แต่ผลกระทบจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความสูงของเขื่อน ก็อยู่ที่ความเหมาะสมในการออกแบบและต้องหารือกันว่าต้องการก่อสร้างเขื่อนในลักษณะไหนดีที่สุด โดยต้องชั่งน้ำหลักระหว่างปริมาณการกักเก็บน้ำและความเสียหายจากพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมหลังสร้างเขื่อน

สำหรับแผนเดิมกับการสร้างเขื่อน ที่มีระดับความสูงประมาณ 60 เมตร จะทำให้เกิดน้ำท่วมหลังเขื่อนประมาณ 25,000 ไร่ ไม่ใช่ท่วมถึง 200,000 ไร่ จนทำให้คนเกิดความหวาดกลัว ซึ่งผืนป่าบริเวณนี้เป็นผินป่าที่ต่อกันระหว่างลำปาง แพร่ น่าน และพะเยา

เขาเล่าย้อนให้ฟังถึงอดีตเมื่อ 200 ปี เดิมบริเวณนี้เป็นพื้นที่ป่า และได้มีการให้สัมปทานการทำป่าไม้กับบริษัทอิสต์ เอเชียติค จำกัด ของอังกฤษ ซึ่งบริษัทนี้ได้ว่าจ้างบริษัทของไทยรับช่วงทำไม้ต่อทั้งที่จังหวัดแพร่ น่าน และลำปาง โดยได้นำคนงานเข้าไปทำงาน จนเมื่อสัมปทานสิ้นสุดลง และรัฐบาลได้ประกาศเป็นพื้นที่อุทยาน คนที่เข้าไปทำงานกลับไม่ออกจากพื้นที่ โดยเฉพาะคนที่อยู่ใน 4 หมู่บ้าน ในพื้นที่ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ที่จะได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้จากการสำรวจข้อมูลพบว่า คนที่อยู่ทั้ง 4 หมู่บ้าน ประมาณ 2,000 – 3,000 ครัวเรือน มีอยู่หนึ่งหมู่บ้านคือ หมู่บ้านแม่พร้าว ที่อยู่มานาน แต่ที่เหลืออีก 3 แห่ง เป็นลูกจ้างเข้ามาทำงานสัมปทานและไม่ได้ออกจากพื้นที่ ดังนั้นหากจะอ้างสิทธิว่าอยู่มานานคงเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

“ถ้ารัฐตัดสินใจสร้างเขื่อนตามแผนเดิม คนที่อยู่ใน 4 หมู่บ้านนี้จะได้รับผลกระทบเพียงแค่หมู่บ้านเดียว ส่วนทีเหลือไม่ได้ถูกน้ำท่วมหมด ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐก็ได้ให้ความช่วยเหลือ โดยปี 2562 มีการแก้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ให้ชาวบ้านเข้าไปทำกินได้ ในพื้นที่ 25,724 ไร่ และให้เซ็นชื่อเอาไว้ชัดเจน ดังนั้นจะอ้างสิทธิคงไม่ถูกต้อง เพราะถือเป็นผู้บุกรุกแต่รัฐยอมให้อยู่ชั่วคราวได้” นายปลอดประสพ ระบุ

แต่อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนโครงการก่อสร้างเขื่อนนั้น เมื่อลงมือสร้างจริง ๆ ภาครัฐก็ยังให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน ทั้งการโยกย้าย สร้างบ้าน หรือให้เงินชดเชยตามความเหมาะสม ส่วนจะสร้างตรงไหน สร้างใหญ่สร้างเล็กก็คงต้องไปคุยกันให้ได้ข้อสรุป 

“ตอนนี้คนไม่เข้าใจ บอกว่าไม่ให้สร้างอย่างเดียว และมารวมตัวกันกดดันมาด่าอย่างนี้คิดว่าไม่ใช่เรื่องถูก ทั้ง ๆ ที่ผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ออกมาค้านก็ไม่ได้มีสถานะ เพราะเป็นผู้บุกรุก แล้ววันนี้กลับมาอ้างสิทธิเป็นเจ้าของ ดังนั้นจึงต้องว่ากันด้วยเหตุด้วยผล และยอมเสียสละเพื่อคนหมู่มากที่ได้รับผลกระทบจากน้ำมาตลาด ส่วนการชดเชยจากรัฐก็มีให้แน่นอน” อดีตรองนายกฯ กล่าว

นอกจากนี้ในข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบป่าไม้ โดยเฉพาะการแจ้งข้อมูลว่าเป็นป่าไม้ที่มีต้นสักทองผืนสุดท้ายของประเทศนั้น เห็นว่า ไม้สักที่ขึ้นมาทุกวันนี้เป็นรุ่นหลังจากที่สิ้นสุดสัมปทานป่าไม้ อายุประมาณ 30 - 40 ปี ซึ่งถือเป็นไม้สักที่ดี คาดว่าจะมีประมาณไร่ละ 20 - 25 ต้น ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นไม้มีค่าเช่นกัน แต่อย่างไรก็ดีการสร้างเขื่อนขึ้นมา ไม้สักเหล่านี้ก็คงได้รับผลกระทบ 

ดังนั้นทุกฝ่ายก็ควรร่วมกันตัดสินใจ และหาทางออกด้วยการชั่งน้ำหนักว่า จำเป็นต้องเลือกทางหนึ่งทางใดระหว่างการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม หรือจะคงพื้นที่ป่าเอาไว้แล้วเจอน้ำท่วมเหมือนเดิม แต่ส่วนตัวมองว่า พื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบประมาณ 25,000 ไร่ หากตัดสินใจทำเขื่อนแล้วผลประโยชน์ที่ได้รับมีมากกว่าก็จำเป็นต้องทำ เพื่อลดการสูญเสียจากน้ำท่วมที่นับวันยิ่งรุนแรงมากขึ้น

“ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ต้องมานั่งคุยกัน พาพูดกัน หาทางที่ดีที่สุด แต่ไม่ใช่ว่า ปฏิเสธว่าไม่ แล้วประเทศเสียหายและเสียประโยชน์ ท้ายที่สุดก็อยู่ที่ว่าจะได้ข้อสรุปร่วมกันอย่างไร” นายปลอดประสพ กล่าวทิ้งท้าย