วันที่ 3 กันยายน 2567 ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทานเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งเตือนวันที่ 3 -7 ก.ย.2567 ประเทศไทยมีฝนตกเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนในพื้นที่ลุ่มน้ำชี คณะกรรมการลุ่มน้ำชี จึงมีมติเห็นชอบให้ปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ให้สอดคล้องปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน โดยจะทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันได ไม่ให้เกินวันละ 22 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งไม่ส่งผลกระทบกับพื้นที่ลุ่มต่ำสองฝั่งลำน้ำพอง
สอดคล้องกับกรมชลประทาน ที่ได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำในลำน้ำชีผ่าน เขื่อนชนบท เขื่อนมหาสารคาม เขื่อนวังยาง และเขื่อนร้อยเอ็ด แบบขั้นบันไดให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่ระบายจากเขื่อนอุบลรัตน์และสถานการณ์ฝนตกในพื้นที่ ซึ่งอาจทำให้ระดับน้ำในลำน้ำชีด้านท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้น จึงขอประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำชี และในพื้นที่ลุ่มต่ำ เฝ้าระวังระดับน้ำจากฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสม อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้
ทั้งนี้กรมชลประทาน ขอให้ติดตามข่าวสารและการแจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำจากทางหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด หากต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ หรือโทร. 1460 สายด่วนกรมชลประทาน
อนึ่งกรมชลประทาน ได้รายงานสถานการณ์ปัจจุบันของการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนต่างๆ (ข้อมูลล่าสุดวันที่ 2 กันยายน 2567) โดยระบุว่า ปริมาณน้ำจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 35 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 435 แห่ง รวมกันทั้งสิ้นประมาณ 48,015 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 28,322 ล้าน ลบ.ม.
เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 13,341 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 10,530 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้นหากฝนตกในพื้นที่เหนือเขื่อน มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนจำนวนมาก จะเป็นผลดีที่จะมีน้ำกักเก็บไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2567/68 เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ หากเกิดปัญหาฝนทิ้งช่วง หรือปริมาณฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ท้ายเขื่อนน้อย ปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนน้อยลง ย่อมส่งผลให้เกิดความเสี่ยงภัยแล้ง