“แพทองธาร”ประกาศยกระดับทุนมนุษย์ เด็กไทยได้เรียน 2 ภาษา ชาย-หญิงเท่าเทียม

08 ก.ย. 2567 | 02:50 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ย. 2567 | 03:12 น.

รัฐบาล “แพทองธาร” ประกาศยกระดับ “ทุนมนุษย์” ครั้งใหญ่ ชี้รากฐานสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ สั่งลุยสร้างความเท่าเทียม เด็กไทยได้เรียน 2 ภาษา เน้นใช้ประโยชน์ได้จริง 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์สร้างรายได้ 30 บาทรักษาทุกที ส่งเสริมเท่าเทียมชาย-หญิงทั้งในครอบครัวและที่ทำงาน

ในการแถลงนโยบายรัฐบาล “แพทองธาร  ชินวัตร” ในวันที่ 12 กันยายน 2567 นี้ มีประเด็นไฮไลต์ที่จะกล่าวถึง นอกจากเรื่อง 9 ความท้าทายประเทศไทย 10 นโยบายเร่งด่วนที่จะทำทันที และแผนพัฒนาประเทศต่อเนื่องระยะกลาง และระยาว เพื่อผลักดันไทยให้พ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และเป็นผู้เล่นสำคัญทางเศรษฐกิจบนเวทีโลกแล้ว

รัฐบาลเตรียมประกาศผลักดันเรื่อง "ทุนมนุษย์" ที่จะเป็นรากฐานสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ที่จะเร่งส่งเสริมผลักดันให้เกิดการพัฒนาคนไทยทุกช่วงวัยอย่างเต็มกำลังและความสามารถ ได้แก่

1.จะส่งเสริมการเกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพของเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม เด็กไทยทุกคนจะต้องเข้าถึงศูนย์ดูแลเด็กปฐมวัยที่มีมาตรฐาน เมื่อเติบโตได้เรียนหนังสือที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล ส่งเสริมการปลดล็อกศักยภาพทั้งด้านศิลปะ วัฒนธรรม และความสามารถทางกีฬา และพัฒนาระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นทั้งในระบบ นอกระบบตามอัธยาศัย และการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาสนับสนุน ตอบโจทย์ศักยภาพของผู้เรียน ลดภาระ และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ

ส่งเสริมให้เกิดการเรียนสองภาษาโดยใช้ AI เป็นตัวช่วย เน้นการสอนทักษะที่ใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริงเพื่อการสร้างรายได้ (Learn to Earn) ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในการจัด การศึกษาทุกระดับ รวมทั้งการเฟ้นหาและช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา พร้อมทั้งส่งเสริมการปฏิรูประบบอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการแรงงาน ในอนาคตและรองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-Long Learning)

“แพทองธาร”ประกาศยกระดับทุนมนุษย์ เด็กไทยได้เรียน 2 ภาษา ชาย-หญิงเท่าเทียม

2.รัฐบาลจะยกระดับทักษะและปลดล็อกศักยภาพของคนไทยเพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ โดยรัฐบาลจะสนับสนุนการสร้าง Soft Power ของประเทศ ผ่านการส่งเสริม 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (OFOS) จัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบและส่งเสริมวัฒนธรรมในพื้นที่ เช่น ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ (TCDC) สำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (THACCA) เพื่อยกระดับและพัฒนาความสามารถด้านวัฒนธรรมสร้างสรรค์ของคนไทยให้สร้างมูลค่า เสริมทักษะเดิม (Reskill) เพิ่มทักษะใหม่ (Upskill) ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เพื่อให้แรงงานได้รับค่าจ้างที่เหมาะสมกับทักษะที่เพิ่มขึ้น เช่น ทักษะด้านการประยุกต์ใช้ AI รวมทั้ง ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและภาคเอกชนดึงศักยภาพของผู้สูงอายุมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

3.รัฐบาลจะยกระดับระบบสาธารณสุขให้ดียิ่งกว่าเดิม รัฐบาลนี้จะต่อยอดจากรัฐบาลที่แล้วในการยกระดับระบบสาธารณสุขไทย จาก “30 บาทรักษาทุกโรค” จากพื้นฐานความสำาเร็จหลายสิบปีของนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค เป็น “30 บาทรักษาทุกที่” ผ่านการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพในระบบบริการสาธารณสุข และการขยายเครือข่ายการบริการ ระดับปฐมภูมิ พัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine)

ทั้งนี้ เพื่อให้คนไทยเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ ที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ลดเวลาและค่าใช้จ่าย และสามารถรองรับความต้องการใหม่ ๆ จากสถานการณ์สังคมสูงวัย รัฐบาลจะสานต่อโครงการฉีดวัคซีนปากมดลูก (HPV) ให้ครอบคลุม ทุกพื้นที่ และใช้ศักยภาพของเครือข่ายสาธารณสุขในการส่งเสริม ป้องกัน และควบคุมโรคไม่ติดต่อ พร้อมทั้งเพิ่มการเข้าถึงการรักษาและบริการด้านสุขภาพจิตและยาเสพติด โดยเน้นการป้องกัน (Prevention) ให้ความรู้และการสร้างความตระหนัก

 4.รัฐบาลจะส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ โดยเร่งแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศได้เข้าถึงสิทธิที่พึงมี ทั้งการสมรสที่ถูกต้อง ตามกฎหมาย เช่น สิทธิในการตั้งครอบครัว สิทธิในการดูแลระหว่างคู่ชีวิต การเข้าถึงสวัสดิการ โดยเริ่มต้นจากสวัสดิการข้าราชการ

รัฐบาลจะต่อยอดความสำเร็จของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา เพื่อให้กฎหมายสมรสเท่าเทียมถูกบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้ และในฐานะนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย จะส่งเสริมความเท่าเทียมของชายและหญิงทั้งในระดับครอบครัวและในที่ทำงาน เพื่อให้ผู้หญิงทุกคนในประเทศไทย ไม่ต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติ อยู่่ในสังคมที่สามารถเป็นทั้งงแม่และเจริญเติบโตในหน้าที่การงานได้ไม่น้อยไปกว่าผู้ชาย