ฮือฮา ถมทะเลสร้าง 9 เกาะปากอ่าวไทย แนวคิดใหม่กันน้ำทะเลท่วม

09 ก.ย. 2567 | 00:00 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ย. 2567 | 06:09 น.

เปิดแนวความคิด โครงการลงทุนเมกะโปรเจกต์สำคัญของประเทศ หลังทักษิณ แย้ม "ถมทะเล" บางขุนเทียน ปากน้ำ ฟังคำอธิบายย่างเจาะลึกของ “ปลอดประสพ สุรัสวดี” ฮือฮาสร้าง 9 เกาะปากอ่าวไทย กันน้ำทะเลท่วม

KEY

POINTS

  • “ปลอดประสพ สุรัสวดี” อดีตรองนายกรัฐมนตรี เปิดแนวคิดโครงการถมทะเลบางขุนเทียน แก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ เพิ่มพื้นที่เมืองสีเขียว
  • เจาะลึกโครงการถมทะเล สร้าง 9 เกาะ “สร้อยไข่มุกอ่าวไทย” แต่ละเกาะจะพัฒนาเป็นท่าเรือขนส่งสินค้า ท่าเรือยอร์ช สนามบินใหม่ หรือโรงงานอุตสาหกรรม
  • ประเมินโครงการนี้ จะต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ใช้เวลาหลายสิบปีในการพัฒนา และต้องศึกษาแนวคิดให้ละเอียดเพื่อความมั่นคงของชาติ

กลายเป็นประเด็นที่เรียกเสียงฮือฮาในทั้งแวดวงเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม หลังจาก นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศกลางเวที Dinner Talk : Vision for Thailand 2024 เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2567 ที่ผ่านมาถึงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง โดยเปิดประเด็นโครงการ "ถมทะเล" บางขุนเทียน ปากน้ำ 

นับเป็นหนึ่งในโครงการลงทุนเมกะโปรเจกต์สำคัญของประเทศ ซึ่งจะต้องเตรียมความพร้อมเอาไว้ เพื่อช่วยป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ในอนาคต และยังลดความแออัดพื้นที่กรุงเทพฯ แถมยังเพิ่มพื้นที่เมืองใหม่เป้นเมืองสีเขียว ใช้รถไฟฟ้า และมีรถไฟเชื่อมระหว่างกันด้วย

นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการนโยบายสิ่งแวดล้อม พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษ โดยขยายความถึงแนวคิดสำคัญเกี่ยวกับโครงการถมทะเล บางขุนเทียน เพื่อสร้างเมืองใหม่ และแก้ปัญหาน้ำท่วมว่า แนวคิดดังกล่าวมีเหตุผลยืนยันถึงความจำเป็นต้องผลักดันออกมาให้เร็ว เพื่อรองรับปัญหาน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และเป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยได้มีการวางแผนและศึกษาไว้นานแล้ว

โดยเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นจนทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายสูงมาก เป็นเรื่องที่พูดคุยกันในองค์การสหประชาชาติ (UN) มาหลายปีแล้วเกี่ยวกับ โดยมีการประเมินถึงเรื่องที่น้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีพื้นที่จำนวนมากที่จมน้ำ เช่นเดียวกับอ่าวไทยจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน

 

นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการนโยบายสิ่งแวดล้อม พรรคเพื่อไทย

 

ทั้งนี้มีโมเดลเบื้องต้นประเมินว่า จากภาวะโลกร้อนสูงสุด จะทำให้น้ำแข็งละลายสูงสุด ส่งผลถึงน้ำทะเลในอ่าวไทยจะสูงขึ้นมากถึง 5 – 6 เมตร ทำให้น้ำท่วมเข้ามาในพื้นที่ลุ่มภาคกลางของไทยถึง 16,000 ตารางกิโลเมตร นั่นหมายความว่าอ่าวไทยจะอยู่ที่จังหวัดลพบุรี สระบุรีทางตอนเหนือ อุทัยธานี ส่วนกรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปราจีนบุรี ชลบุรีบางส่วน สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชบุรีบางส่วนจะหายไป 

“จากปัญหานี้กลัวว่าจะรุนแรงขึ้น ตอนนี้จึงมีหน้าที่ต้องคิดว่า เอาให้แน่ว่าจะเชื่ออะไรบ้าง หรือประเทศไทยจะประกาศว่าไม่เชื่อก็เอาสิ แต่ถ้าเชื่อก็ต้องหาทางป้องกัน และการป้องกันก็มีทางเลือกหลายอย่างที่จะต้องมาคิดกัน” นายปลอดประสพ ระบุ

แนวทางการป้องกันน้ำท่วม

สำหรับทางเลือกในการป้องกันปัญหาน้ำท่วม จากน้ำทะเลขึ้นสูง 5 – 6 เมตร จนท่วมพื้นที่ลุ่มภาคกลาง 16,000 ตารางกิโลเมตร อดีตรองนายกฯ มองถึงแนวทางต่าง ๆ ดังนี้

แนวทางแรก : การสร้างพนังกั้นน้ำ แนวทางนี้ถือเป็นการป้องกันในระยะสั้น 2 – 5 ปี คือการเสริมพนังกั้นน้ำ หรือเขื่อนกั้นน้ำบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง ต้องเร่งทำพร้อมกัน ด้วยการไปอุดรอยรั่วให้สามารถใช้งานได้เต็มศักยภาพ และต้องอยู่ในระดับเดียวกัน

แนวทางต่อมา : การยกถนน เพราะพื้นที่ 16,000 ตารางกิโลเมตร จะถูกน้ำท่วมทั้งหมด เช่น ถนนเพชรเกษม ถนนสุขุมวิท พร้อมทั้งทำประตูน้ำในคลองสำคัญที่มีทางออกสู่ทะเล และต้องสร้างประตูน้ำขนาดใหญ่บริเวณ 4 แม่น้ำสำคัญ คือ  แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณมหาศาล

ทั้งนี้มองว่า การยกถนนคงเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก เพราะที่ผ่านมาถนนพระราม 2 สร้างมาเป็นสิบ ๆ ปีก็ยังไม่เสร็จ ถ้าเราจะยกถนนสองเส้นหลัก ตั้งแต่เพชรบุรียาวไปชลบุรี เพื่อหนี้น้ำท่วมยิ่งโกลาหลมาก ๆ ไปอีก ส่วนพื้นที่ชายน้ำจากแนวถนนไปหาทะเลก็ต้องสูญเสียอยู่ดี

แนวทางสุดท้าย : การทำเขื่อนในทะเล ซึ่งทางเทคนิคถือว่าทำได้ แต่คงใช้งบจำนวนมหาศาล ดังนั้นมีแนวความคิดหนึ่งที่น่าสนใจนั่นคือ การสร้างเกาะขึ้นมาในพื้นที่ปากอ่าวในปัจจุบัน ด้วยการถมทะเล

ถมทะเลสร้าง 9 เกาะ สร้อยไข่มุกอ่าวไทย

แนวคิดในการถมทะเล สร้างเกาะขึ้นมาประมาณ 9 เกาะ ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ทะเลช่วงจังหวัดสมุทรสงคราม ไปถึงจังหวัดชลบุรี ระยะทางประมาณ 100-150 กิโลเมตร โดยตั้งชื่อไว้เบื้องต้นว่า “สร้อยไข่มุกอ่าวไทย” เพราะเกาะแต่ละเกาะจะมีลักษณะเหมือนไข่มุกร้อยกันเป็นเส้น โดยการเชื่อมต่อระหว่างเกาะแต่ละเกาะจะก่อสร้างประตูน้ำเพื่อคอยกั้นน้ำขึ้น-ลง ซึ่งแนวคิดนี้ในปัจจุบันถูกใช้ในหลายประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น

ทั้งนี้ในแต่ละเกาะจะถูกเชื่อมต่อด้วยถนน และรถไฟฟ้า เพื่อให้เกิดการเดินทางเชื่อมต่อกันไปได้ตั้งแต่จังหวัดสมุทรสงครามถึงชลบุรี หรือสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าด้วย โดยเกาะแรกอาจจะสร้างบริเวณบางขุนเทียนก่อน เบื้องต้นจะมีพื้นที่ประมาณ 5x10 ตารางกิโลเมตร หรือ มีขนาดของเกา 50 ตารางกิโลเมตร ความยาวตามชายฝั่ง 10 กิโลเมตร   

“เมื่อพูดถึงการสร้างเกาะขึ้นมาแล้ว ไหน ๆ ก็มีแนวคิดว่าทำให้เป็นเกาะสีเขียวเลย ส่วนคนที่เคยอยู่ริมทะเลอยู่ในตอนนี้ ก็ยังอยู่ริมทะเลเหมือนเดิม ไม่ได้ถมทะเลหรือสร้างแผ่นดินมาเพิ่ม เช่น บางขุนเทียนก็ยังเป็นทะเลบางขุนเทียน ส่วนเกาะจะอยู่นอกฝั่ง แต่การทำจริงจะไกลแค่ไหนก็ค่อยดูความเหมาะสมกันอีกทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและวิศวกรรม” 

 

นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการนโยบายสิ่งแวดล้อม พรรคเพื่อไทย

 

ถมทะเลสร้างเกาะทำอะไรได้บ้าง

เมื่อถมทะเลสร้างเกาะขึ้นมาได้แล้ว แต่ละเกาะนั้นจะต้องวางแผนการใช้พื้นที่ล่วงหน้าว่าจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านอะไร โดยจะมีฟังก์ชันต่างกัน ตัวอย่างเช่น บางเกาะอาจจะใช้เป็นท่าเรือขนส่งสินค้าเพื่อแทนท่าเรือเดิมที่มีอยู่ ทั้งกรุงเทพฯ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม หรืออาจจะให้โรงงานอุตสาหกรรมประมงไปตั้งบริเวณเกาะ หรือพัฒนาเป็นท่าเทียบเรือยอร์ช ก็ได้ หรืออาจจะใช้เกาะใดเกาะหนึ่งที่อยู่ใกล้กับชลบุรี สร้างสนามบินแห่งใหม่ ก็ได้เช่นกัน

“ตอนนี้เทคโนโลยีการทำเกาะมีมาก และหลายประเทศก็ได้ทำแล้ว เช่น ญี่ปุ่น จีน และตะวันออกกลาง หลายประเทศก็มีประสบการณ์ ส่วนเกาะที่สร้างขึ้นเอกชนลงทุนก็อาจจะได้สัมปทานไป แต่ทั้งหมดเป็นแค่แนวคิดส่วนการทำจริงก็ค่อยมาดูความเหมาะสมอีกครั้ง ซึ่งการทำโครงการนี้คิดเล่น ๆ ว่า จะเป็นโครงการลงทุนสิ่งสร้างที่สูงที่สุด ยากที่สุดที่ประเทศไทยเคยมีมา แต่ก็จำเป็นต้องทำเพราะถ้าไม่เร่งทำเราก็ต้องจมน้ำ”

นายปลอดประสพ กล่าวว่า ในขั้นตอนต่อไป หากแนวคิดนี้รัฐบาลหยิบยกไปใช้ก็อาจเริ่มต้นที่การศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อเตรียมความพร้อมเอาไว้ล่วงหน้า เพื่อพิจารณาแนวคิดที่เหมาะสมและถูกต้องตามหลักวิชาการ ใช้องค์ความรู้ต่างๆทั้งทางวิศวกรรมศาสตร์ วิศวกรรมทางทะเล วิศวกรรมสมุทร มาพัฒนา เพราะโครงการนี้ต้องใช้เวลานานหลายสิบปี เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของความมั่นคงของชาติ