ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ อดีตนายกสมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจถึงแนวคิดการถมทะเล สร้าง 9 เกาะ “สร้อยไข่มุกอ่าวไทย” ระยะทาง 100-150 กิโลเมตร เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ภาคกลาง และเพิ่มพื้นที่เมืองสีเขียวว่า การผลักดันโครงการใหญ่ขนาดนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำการศึกษาผลกระทบต่าง ๆ ในเชิงลึก
ทั้งนี้มองว่า เครื่องมือสำคัญของการศึกษาผลกระทบของแนวคิดการถมทะเล สร้าง 9 เกาะสร้อยไข่มุกอ่าวไทย ปัจจุบันไม่ใช่แค่การทำการศึกษารายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) เท่านั้น แต่จะต้องทำการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) ซึ่งจะครอบคลุมผลกระทบในหลายมิติมากกว่าการทำ EIA เหมือนในอดีต
โดยการทำการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA มีหมายความว่า กระบวนการที่เป็นระบบ เพื่อใช้สนับสนุนกระบวนการตัดสินใจในการวางแผน โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล รวมทั้งให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส้วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนําไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
“โครงการในลักษณะนี้ปัจจุบันไม่ทำ EIA แล้ว แต่จะทำ SEA ดังนั้นโครงการใหญ่จะทำงานที่เป็นลักษณะโครงการ หรือ Project base ไม่ได้ แต่ต้องทำแบบ Area based ซึ่งเป็นการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ เพราะผลกระทบมันใหญ่มาก หากทำ SEA ก่อน และสามารถตอบโจทย์ด้านต่าง ๆ ได้ก็ค่อยว่ากัน” ศ.ดร.ธงชัย ระบุ
ศ.ดร.ธงชัย ยอมรับว่า ส่วนตัวประเมินผลกระทบของแนวคิดโครงการถมทะเลสร้างเกาะในพื้นที่อ่าวไทยครั้งนี้ มีผลกระทบที่เห็นชัด ๆ นั่นคือ ระบบนิเวศของสามน้ำ ทั้ง น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม หากโครงการเกิดแล้วก่อสร้างประตูกั้นน้ำ จะส่งผลโดยตรงต่อระบบนิเวศบริเวณปากแม่น้ำสำคัญ ทั้ง แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง จะมีความเสี่ยงเกิดความเสียหายหมด
“การผลักดันแนวคิดนี้ออกมาถ้าคิดไม่รอบคอบ โดยถ้าคิดเฉพาะตัวเศรษฐกิจ โดยไม่มอง SD หรือผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม นั่นคือการทำแบบไม่รอบคอบ เพราะความมั่นคงของชาติ ไม่มีแค่ด้านเศรษฐกิจ แต่มีด้านสิ่งแวดล้อม และสังคมด้วย”
อย่างไรก็ตามการผลักดันโครงการยักษ์ครั้งนี้ ถ้าจะตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมาดูแล ส่วนตัวมองว่า ก็มีความจำเป็น เพราะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นมีหลายมิติ ซึ่งการผลักดันก็ต้องทำให้รอบคอบ และเชื่อว่าการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ ซึ่งขั้นตอนต่าง ๆ มีรายละเอียดมากและน่าจะใช้ต้องใช้เวลาอีกระยะในการจัดทำให้เสร็จสิ้น และเกิดข้อสรุปร่วมกัน
สำหรับแนวคิดการถมทะเล สร้าง 9 เกาะ “สร้อยไข่มุกอ่าวไทย” นั้น ที่ผ่านมานายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยแนวความคิดว่า เป็นการถมทะเลเพื่อสร้างหมู่เกาะจำนวน 9 เกาะ โดยครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดสมุทรสงครามไปถึงชลบุรี ระยะทางประมาณ 100-150 กิโลเมตร ถูกตั้งชื่อเบื้องต้นว่า “สร้อยไข่มุกอ่าวไทย” เพราะลักษณะของแต่ละเกาะจะคล้ายไข่มุกที่ร้อยเรียงกัน
ส่วนการเชื่อมต่อระหว่างเกาะเหล่านี้จะใช้ประตูน้ำที่ออกแบบมาเพื่อควบคุมระดับน้ำทะเล การออกแบบเช่นนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากโครงการที่ประสบความสำเร็จในหลายประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์
นอกจากการเชื่อมต่อด้วยถนนและรถไฟฟ้าที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่างจังหวัดสมุทรสงครามและชลบุรีแล้ว เกาะแต่ละแห่งยังมีบทบาทและฟังก์ชันที่แตกต่างกัน เช่น บางเกาะอาจเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าทดแทนท่าเรือเดิมในกรุงเทพฯ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม
ส่วนเกาะอื่นอาจถูกพัฒนาเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมประมง หรือท่าเรือสำหรับยอร์ช อีกทั้งยังมีศักยภาพในการสร้างสนามบินแห่งใหม่ใกล้กับชลบุรี และพัฒนาเป้นเกาะที่สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าอีกด้วย
โดยเกาะแรกอาจจะเริ่มสร้างที่บริเวณบางขุนเทียน ด้วยพื้นที่ประมาณ 50 ตารางกิโลเมตร มีความตั้งใจให้เป็นเกาะสีเขียวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชนที่อยู่อาศัยริมทะเล เช่น บางขุนเทียน จะไม่ได้รับผลกระทบจากโครงการนี้ เนื่องจากจะสร้างเกาะให้อยู่ห่างออกไปจากฝั่ง แต่อย่างไรก็ดีการก่อสร้างจะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมทั้งในด้านวิศวกรรมและสิ่งแวดล้อมอย่างละเอียดด้วย