วันนี้ (11 กันยายน 2567) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet หรือ เงินดิจิทัลวอลเล็ต ของรัฐบาล ว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่รัฐบาลจะดำเนินการนั้น อาจมีความแตกต่างจากช่วงที่เคยหาเสียงไว้ เพราะเมื่อเป็นรัฐบาลและลงมือทำแล้ว จะมีเรื่องของระบบที่ต้องใช้เวลานาน และต้องรอ แต่เศรษฐกิจของประเทศรอไม่ได้ และประชาชนรอไม่ไหว
ดังนั้นจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้กับประชาชนก่อน โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะทำหน้าที่ชี้แจงรายละเอียดทั้งหมดต่อรัฐสภา
น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า เป้าหมายของเราในการทำเงินดิจิทัลวอลเล็ต ก็คือการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระบบ แล้วกระตุ้นไม่พอ เรายังต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในแบบดิจิทัลด้วย แต่มันมาช้ากว่า เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจต้องกระตุ้นก่อน แต่เราไม่ได้มีนโยบายเดียว ยังมีอีกหลาย ๆ อันที่กระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่อันนี้เป็นอันหลักเร่งด่วน เห็นผลทันที ดังนั้นจึงอยากรีบทำ
ส่วนกรณีที่รัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน มีเป้าหมายจะจ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ตเป็นก้อนเดียว เพื่อให้เกิดแรงกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในครั้งเดียว แต่เมื่อการปรับเปลี่ยน จะมีผลกระทบต่อความสามารถในการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่นั้น นายกฯ กล่าวว่า การวางแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมีหลายเฟสที่ต้องกระตุ้น ซึ่งโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต ก็ถือเป็นหนึ่งภาพใหญ่ที่จำเป็นต้องกระตุ้นก่อน แต่ต้องไม่ลืมโครงสร้างดิจิทัลที่ต้องทำต่อด้วย
"ตอนแรก จะไม่ให้เป็นเงินสดเลย จะให้เป็นดิจิทัลทั้งหมด แต่อย่างที่บอก เศรษฐกิจรอไม่ได้ เราจึงต้องแบ่งเฟส และดิจิทัลยังอยู่ แต่อาจเปลี่ยนเป็นว่า 5,000 บาทหรือไม่ เดี๋ยวให้รัฐมนตรีคลังแถลงในรายละเอียด" น.ส.แพทองธาร ระบุ
ส่วนที่ฝ่ายค้านมองว่า หากมีการแบ่งจ่ายเงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ก็อาจไม่ส่งผลให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจอย่างที่รัฐบาลตั้งใจไว้ และอาจเป็นเพียงแค่ดีเปรสชั่น นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแน่นอน แต่รูปแบบเปลี่ยนไป และขอให้ รมว.คลังชี้แจงอีกที
ทั้งนี้มั่นใจว่าไม่กระทบกับเป้าหมายการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตั้งไว้ เพราะมีการแบ่งเฟสแล้ว และย้ำว่า ไม่ได้มีนโยบายเดียวที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดขึ้น การแบ่งทีละเฟส และทำควบคู่นโยบายอื่น ๆ ก็จะทำให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจอยู่ดี
ส่วนการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในพรุ่งวันนี้ (12 กันยายน) ว่า จะเป็นคนแถลงนโยบายในภาพรวม และจะมอบหมายให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในแต่ละนโยบายเป็นผู้ชี้แจงในรายละเอียด เพื่อสามารถให้ข้อมูลต่อประชาชนได้ชัดเจน และจะได้ไม่เกิดข้อสงสัย
น.ส.แพทองธาร ยืนยันว่า ในการชี้แจงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภาพรุ่งนี้จะทำอย่างเต็มที่ แม้ฝ่ายค้านจองคิวที่จะอภิปรายไว้เยอะ แต่หลังจากแถลงนโยบายเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะขอโฟกัสการช่วยเหลือประชาชนเรื่องน้ำท่วมก่อน
ส่วนความจำเป็นที่จะต้องมีองครักษ์พิทักษ์นายกรัฐมนตรีหรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรี ไม่ได้ตอบอะไร เพียงแค่ร้อง "อ๋อ" พร้อมกับหัวเราะ
ขณะที่ข้อครหาว่า "รัฐบาลแพทองธาร" จะไปรอดหรือไม่ ไม่ต้องนับอายุเป็นรายปี แต่ให้นับเป็นรายเดือนนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวสั้น ๆ แค่ว่า "ช่วยกันนับ"