กระทรวงอุตสาหกรรมดันสินเชื่อ "SMEs" ใช้รางวัลค้ำประกันที่แรกกว่า 1.9 พันล.

17 ก.ย. 2567 | 06:49 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.ย. 2567 | 06:49 น.

กระทรวงอุตสาหกรรมดันสินเชื่อ "SMEs" ใช้รางวัลค้ำประกันที่แรกกว่า 1.9 พันล. เดินหน้ารับลูก รมว.อุตสาหกรรม ดึงเงินจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ หวังให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินมากขึ้น

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการสั่งการให้เร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของเศรษฐกิจไทย ที่กระทรวงฯต้องการส่งเสริม สร้างโอกาส ให้ความสะดวก เติมทุนหนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ยกระดับธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคง

"จากสภาวะเศรษฐกิจไทยที่กำลังเผชิญความท้าทายรอบด้าน ส่งผลให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับลดการคาดการณ์ GDP ปี 2567 เหลือเพียง 2-3% โดยภาคการท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จึงได้สั่งการดังกล่าว" 

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าว่า กองทุนฯ ได้ออกสินเชื่อ 2 โครงการ เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของ รมว.อุตสาหกรรม ที่ต้องการให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น ประกอบด้วย 
 

โครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถธุรกิจ (เสือติดปีก) เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะด้านการพัฒนานวัตกรรม การปรับปรุงเทคโนโลยีและการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจไทย โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ 

กระทรวงอุตสาหกรรมดันสินเชื่อ "SMEs" ใช้รางวัลค้ำประกันที่แรกกว่า 1.9 พันล.

  • เอสเอ็มอีที่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมดีเด่น หรือผ่านการคัดเลือกรอบที่ 1 ของการประกวดรางวัลอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมดีเด่นจากกระทรวงอุตสาหกรรม ในระยะเวลา 3 ปีย้อนหลัง นับถึงวันที่ยื่นขอเข้าร่วมโครงการ
  • เอสเอ็มอีที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพจากหน่วยงานของรัฐในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยหน่วยร่วมดำเนินการ หรือสถาบันเครือข่ายภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม 
  • เอสเอ็มอีที่ไม่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมดีเด่น หรือการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ แต่มีความประสงค์เข้ารับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพตามที่กองทุนกำหนด 

ด้านซึ่งคุณสมบัติของผู้กู้ ประกอบด้วย 

  • เป็นเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ และมีขนาดของกิจการตามที่กำหนด 
  • เป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย ดำเนินกิจการมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี สามารถนับรวมประสบการณ์การบริหารธุรกิจของผู้บริหารได้
  • ไม่เป็น NPL หรือถูกดำเนินคดี ณ วันที่ยื่นขอเข้าร่วมโครงการ มีประวัติการชำระหนี้ปกติ ณ วันที่ยื่นขอเข้าร่วมโครงการ 
  • ไม่ได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินจากโครงการอื่น ๆ ที่กำหนด 
  • สามารถยื่นความประสงค์ได้ทั้งลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ 

กระทรวงอุตสาหกรรมดันสินเชื่อ "SMEs" ใช้รางวัลค้ำประกันที่แรกกว่า 1.9 พันล.

สำหรับรูปแบบการให้สินเชื่อนั้น จะมีกรอบวงเงินรวม 1,200 ล้านบาท วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 15 ล้านบาทต่อราย และเป็นเงินกู้ระยะยาว อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3-5% ต่อปี (ขึ้นอยู่กับหลักประกัน) ระยะเวลากู้สูงสุด 10 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุด 12 เดือน มีหลักประกัน เช่น ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักร หรือหลักประกันทางธุรกิจหรือมีบุคคลค้ำประกัน 

โครงการสินเชื่อเสริมสภาพคล่องธุรกิจ (คงกระพัน) เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีในการรักษาสภาพคล่องทางธุรกิจ และเสริมความแข็งแกร่งให้สามารถฟันฝ่าวิกฤตทางเศรษฐกิจได้ 

กลุ่มเป้าหมายและคุณสมบัติของผู้กู้ มีลักษณะเดียวกันกับโครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ (เสือติดปีก) ภายใต้กรอบวงเงินรวม 700 ล้านบาท วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย เป็นเงินกู้ระยะยาว อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5-7% ต่อปี (ขึ้นอยู่กับหลักประกัน) ระยะเวลากู้สูงสุด 3 ปี มีหลักประกัน เช่น ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักร หรือหลักประกันทางธุรกิจ หรือบุคคลค้ำประกัน

นายณัฐพล กล่าวอีกว่า สินเชื่อดังกล่าวของกระทรวงถือว่าเป็นที่แรก และที่เดียวที่เปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีที่ได้รับรางวัลสามารถนำมาใช้ในการประกอบการพิจารณาขอสเนชื่อได้ โดยมองว่ากลุ่มธุรกิจดังกล่าวมีความเก่ง และแนวโน้มของธุรกิจน่าจะไปได้ ซึ่งนำมาเป็นตัวอย่างให้กับเอสเอ็มอีรายอื่นในประเทศได้ 

โครงการสินเชื่อเสือติดปีกเปรียบเสมือนการติดปีกให้กับเอสเอ็มอี พัฒนาให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น เป็นสินเชื่อที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจไทย ขณะที่โครงการสินเชื่อคงกระพันเปรียบเสมือนการเสริมเกราะป้องกันให้กับเอสเอ็มอี พัฒนาให้เข้มแข็งและสามารถผ่านพ้นวิกฤตได้ เป็นสินเชื่อที่ซ่อมแซมและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย

นอกจากนี้ ทั้ง 2 โครงการยังมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ คุณสมบัติและหลักประกันให้เอื้อกับเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพบางกลุ่มที่ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนจากสถาบันการเงินปกติ สามารถเข้ามาขอรับสินเชื่อกับกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐได้ง่ายขึ้น รวมทั้งมีกลไกของหน่วยงานของรัฐ และสถาบันเครือข่ายภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม ที่คอยรับรองและสนับสนุนตลอดการขอรับสินเชื่อเพื่อสร้างความมั่นใจในการเติบโตและก้าวไปข้างหน้าของเอสเอ็มอี

นายณัฐพล กล่าวต่อไปอีกว่า กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีฯ มีเงินหมุนเวียนอยู่ประมาณ 20,000 ล้านบาท  โดยปัจจุบันมีการปล่อยสินเชื่อแล้ว 25,400 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 60 ซึ่งสามารถช่วยเอสเอ็มอีได้ 13,670 ราย สร้างมูลค่าเศรษฐกิจ 36,000 ล้านบาท โดยมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล (NPL) ประมาณ 15.8%