นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการ ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากบอร์ดบีโอไอ ได้อนุมัติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตเครื่องปรับอากาศอัจฉริยะ ของบริษัท ไฮเออร์ แอพพลายแอนซ์ แมนูแฟคเจอร์ จำกัด ภายใต้แบรนด์ “Haier” ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่จากประเทศจีน
สำหรับโครงการดังกล่าวนี้จะมีกำลังการผลิตเครื่องปรับอากาศอัจฉริยะที่มีระบบเซ็นเซอร์และอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งตรวจจับและรับข้อมูลได้ และสามารถเชื่อมต่อกับ Smart Phone และอุปกรณ์อื่น ๆ ผ่านเครือข่าย Wi-Fi จำนวน 6 ล้านเครื่องต่อปี มีเงินลงทุนสูงถึง 13,400 ล้านบาท
ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 200 ไร่ ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 3 จังหวัดชลบุรี โดยเฟสแรกจะเร่งลงทุนและติดตั้งกำลังการผลิต 3 ล้านเครื่องให้แล้วเสร็จ พร้อมเริ่มผลิตภายในเดือนกันยายน 2568
และจะเปิดเต็มโครงการภายในปี 2570 มีแผนการจ้างงานบุคลากรไทยกว่า 3,000 คน โครงการนี้จะเป็นการผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก มีมูลค่าการส่งออกกว่า 32,000 ล้านบาทต่อปี
“ไฮเออร์ได้ตัดสินใจลงทุนครั้งใหญ่เพื่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ โดยเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเครื่องปรับอากาศอัจฉริยะที่ใหญ่ที่สุดนอกประเทศจีน เนื่องจากเห็นว่าประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้ามีความเสถียรและเพียงพอต่อความต้องการ ห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง รวมทั้งพื้นที่ตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ที่มีความพร้อมด้านโลจิสติกส์ ทั้งท่าเรือและเส้นทางคมนาคมที่สะดวกเพื่อสนับสนุนการส่งออก"
อีกทั้งมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐ ถือเป็นความสำเร็จในการดึงดูดโครงการลงทุนที่มีคุณภาพ ซึ่งจะช่วยสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทย ทั้งด้านการสร้างงาน การพัฒนาบุคลากร การใช้วัตถุดิบในประเทศ และเพิ่มมูลค่าการส่งออกของไทยในตลาดโลก
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมากลุ่มไฮเออร์ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า หม้อหุงข้าวไฟฟ้า กระติกน้ำร้อนไฟฟ้า คอมเพรสเซอร์สำหรับตู้เย็น เป็นต้น ภายใต้ชื่อบริษัท ไฮเออร์ อีเล็คทริค (ประเทศไทย) จำกัด รวม 9 โครงการ เงินลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่เขตอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมขยายกิจการผลิตตู้เย็นในพื้นที่โรงงานเดิมด้วย
ปัจจุบันประเทศไทยเป็นฐานการผลิตชั้นนำของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน และเป็นสินค้าส่งออกอันดับต้นของไทย โดยผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากพัฒนาการของเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้ง AI, 5G และ IoT ที่เปลี่ยนมาตรฐานการใช้ชีวิตในโลกสมัยใหม่ที่ผู้บริโภคสามารถเชื่อมต่อและควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ภายในบ้านผ่านระบบอินเตอร์เน็ต
การส่งเสริมการยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าไปสู่เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญของบีโอไอ โดยตั้งแต่ปี 2566 – มิถุนายน 2567 มีโครงการในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนยื่นขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอ จำนวน 144 โครงการ เงินลงทุนรวม 98,550 ล้านบาท
โดยกว่า 80% เป็นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ นอกจากไฮเออร์แล้ว ยังมีแบรนด์ชั้นนำต่าง ๆ ที่มีฐานการผลิตในประเทศไทย เช่น มิตซูบิชิ โซนี่ ไดกิ้น ซัมซุง อีเลกโทรลักซ์ ไมเดีย เป็นต้น