นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการะทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีที่อันดับความน่าเชื่อถือไทย (Credit Rating) อยู่ที่ระดับ BBB+ ว่า เชื่อว่าอันดับความน่าเชื่อถือไทย สามารถปรับดีกว่านี้ได้
ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันภาระการชำระดอกเบี้ยของรัฐบาลไทย อยู่ที่เพียง 9 % ของรายได้รัฐบาล ซึ่งยังต่ำกว่ากรอบที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กำหนดไว้ที่ 12 % จึงคิดอันดับความน่าเชื่อถือไทยอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งส่วนตัวคิดว่าควรจะอยู่ที่ A-
“สถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่ได้ อันดับความน่าเชื่อถือไทยน่าจะอยู่ที่ A-ได้ เพราะสถานะทางเศรษฐกิจของไทย ไม่แตกต่างจากประเทศที่ได้ A – เท่าไหร่นัก“
ส่วนเสถียรภาพทางการเมืองที่อาจกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศนั้น ตนก็ไม่เห็นความแตกต่างกับประเทศอื่นที่อันดับความน่าเชื่อถือที่ดีกว่าไทย เพราะปัญหาทางการเมืองนั้น ก็มีด้วยกันทุกประเทศ
ขณะที่การลดการชำระหนี้ตามมาตรา 28 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังนั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องต่อสถาบันการเงินของรัฐ ที่ปัจจุบันมีสภาพคล่องส่วนเกินสูง ซึ่งการที่รัฐลดการชำระหนี้ให้กับสถาบันการเงินของรัฐ กลับเป็นผลดีต่อสถาบันการเงิน ที่มีสภาพคล่องส่วนเกินสูงและยังไม่รู้ว่าจะนำเงินไปทำอะไร
”การที่รัฐยังไม่ชำระหนี้ และยังเหลือหนี้ไว้ในสถาบันการเงินของรัฐนั้น สถาบันการเงินก็ยังได้รับดอกเบี้ยจากกระทรวงการคลัง“
ทั้งนี้ ปัจจุบันตามมาตรา 28 ของพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ เป็นมาตราที่ให้อำนาจกระทรวงการคลัง ยืมเงินจากสถาบันการเงินของรัฐ มาทำโครงการที่เป็นนโยบายของรัฐ และค่อยชำระคืนสถาบันการเงินของรัฐในภายหลังนั้น ได้กำหนดกรอบการยืมเงินตามมาตรานี้ไว้ไม่เกิน 32% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีนั้นๆ ซึ่งปัจจุบัน ยังไม่เกินกรอบที่กำหนด
อย่างไรก็ตาม ภาระตามมาตรา 28 นี้ในปัจจุบันอยู่ที่เท่าไหร่นั้น จะต้องพิจารณาในหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นโครงการที่จะขอยืมเงิน เพิ่มเติม และงบชำระหนี้ตามมาตรา 28 เป็นต้น