นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.5% จาก 5.3% เหลือ 4.8%นั้น ประเมินว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายโลกอยู่ในทิศทางขาลง ซึ่งไม่ได้เฉพาะอเมริกา ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายประเทศไทย ต้องทำให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจโลก
ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีอิสระเรื่องการกำหนดทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องมีการหารือร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะมีการนัดหารือกับผู้ว่าแบงก์ชาติต่อไป
ขณะที่วานนี้ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงมุมมองแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ว่า ขณะนี้ทั้งประเทศมหาอำนาจได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ซึ่งเดิมประเทศไทยผูกติดการเงินสอดคล้องกับสหรัฐอเมริกามาก เพราะทุกครั้งที่มีการขึ้น หรือลดอัตราดอกเบี้ยจะมีผลกระทบต่อเรา ทั้งในเรื่องเงินทุนไหลเข้าและไหลออก
“เมื่อสหรัฐอเมริกาขึ้นดอกเบี้ย ค่าเงินเราจะอ่อน และเมื่อเขาลง ค่าเงินเราจะแข็ง ซึ่งตอนนี้ค่าเงินบาทแข็ง เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น และเงินทุนจากต่างชาติไหลเขาด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็เชื่อว่าการพิจารณาแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย ธปท.จะดูหลายอย่าง ทั้งเรื่องเงินเฟ้อ การเติบโตเศรษฐกิจ เป็นต้น”
ทั้งนี้ ได้มีการนัดหารือ ธปท. เพื่อพิจารณาปรับกรอบเงินเฟ้อปี 2568 ซึ่งจุดยืนของกระทรวงการคลัง ส่วนตัวมองว่า ขณะนี้สถานการณ์ทุกอย่างดีขึ้น รัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจน ความเชื่อมั่นเริ่มกลับมา และตลาดหุ้นก็เริ่มกลับมา จึงเห็นว่าเป็นจังหวะเหมาะสมที่จะเร่งเครื่องเศรษฐกิจ โดยขณะนี้เศรษฐกิจไทยเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป หากมีความพร้อมเราก็อยากจะไป ฉะนั้น เงินเฟ้อควรขยับขึ้น