"อนุสรณ์" ชี้ "ขึ้นค่าแรง 400 บาท" ดันเศรษฐกิจขยายตัวแน่-ไม่กดดันเงินเฟ้อ

23 ก.ย. 2567 | 03:19 น.
อัพเดตล่าสุด :23 ก.ย. 2567 | 03:19 น.

"อนุสรณ์" ชี้ "ขึ้นค่าแรง 400 บาท" ดันเศรษฐกิจขยายตัวแน่-ไม่กดดันเงินเฟ้อ ระบุช่วยให้การจ้างงาน และเพิ่มคุณภาพชีวิตของแรงงานดีขึ้น เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็นค่าจ้างใกล้เคียงกับค่าจ้างที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า คณะกรรมการไตรภาคีกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำควรมีความชัดเจนในเรื่องการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทภายในไตรมาสสี่ 

หากมีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทได้ภายในไตรมาสสี่ จะส่งผลบวกต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การจ้างงานและเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานให้ดีขึ้น ทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นค่าจ้างใกล้เคียงกับค่าจ้างที่เพียงพอต่อการดำรงชีพมากขึ้น การปรับเพิ่มค่าจ้างเป็นการช่วยทำให้จีดีพี (GDP) เติบโตสูงขึ้นอย่างชัดเจน 

สิ่งนี้มีหลักฐานเชิงประจักษ์ทั้งในสหรัฐอเมริกา จากนโยบายของรัฐบาลโจ ไบเดน ปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 15 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง (ประมาณ 4,000 บาทต่อวัน) หรือ เวียดนามปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ หรือจีนปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำอย่างก้าวกระโดดหลายปีก่อนเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำหลังการเปิดเสรีเศรษฐกิจเติบโตสูงแต่กระจุกตัว 
 

กรณีของไทยการปรับค่าจ้างจะทำให้รายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเพราะค่าจ้างเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดในรายได้ประชาชาติของประเทศ ค่าจ้างจึงเป็นพลังขับเคลื่อนหลักของภาคการบริโภคที่จะส่งต่อภาคธุรกิจในที่สุด ค่าจ้างแรงงานคิดเป็น 39-42% รายได้ประชาชาติ รายได้จากการประกอบการธุรกิจคิดเป็นสัดส่วน 20% รายได้จากทรัพย์สินคิดเป็นสัดส่วน 6% รายได้เกษตรกร 7%

ทั้งนี้ หากคณะกรรมการไตรภาคีปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำภายในปีนี้ จะไม่ส่งผลต่อแรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มสูงมากนัก ยังไม่เห็นสัญญาณใดๆของเงินเฟ้อจากอุปสงค์ภายในร้อนแรง การขึ้นค่าแรงจะทำให้อัตราเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ในกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายเท่านั้น การปรับเพิ่มค่าจ้างยังทำให้เกิดการปรับตัวของภาคการผลิตให้นำเทคโนโลยีเครื่องจักรอัตโนมัติ หุ่นยนต์ หรือเอไอ (AI) มาแทนแรงงานมนุษย์เพิ่มขึ้น การปรับตัวของภาคธุรกิจจะทำให้ผลิตภาพของทุนและระบบเศรษฐกิจดีขึ้น 

ภาวะดังกล่าวจะส่งผลต่ออัตราการว่างงานเล็กน้อยมากเพราะสังคมไทยเผชิญปัญหาการขาดแคลนแรงงานทุกระดับทักษะอยู่ ความไม่สมดุลตลาดแรงงานท้าทายภาคการผลิตไทยมากขึ้น ประชากรในวัยทำงานของไทยลดลงอย่างต่อเนื่องและในอัตราเร่งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 
 

ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว โดยปี 2566 มีผู้สูงวัย 20% วัยแรงงาน 63% และวัยเด็กเพียง 16% ประชากรในวัยทำงานปัจจุบันอยู่ที่ 42 ล้านคน และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง 

ขณะนี้บางกิจการบางอุตสาหกรรมสามารถทำการผลิตต่อไปได้โดยอาศัยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน บางอุตสาหกรรมปรับใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ ระบบหุ่นยนต์และเอไอมากขึ้น พึ่งพิงแรงงานมนุษย์ลดลง และผลิตภาพเพิ่มสูงขึ้น 

จากงานวิจัยของธนาคารโลก เรื่อง Aging and the Labour Market in Thailand พบว่า ภาวะประชากรสูงวัยส่งผลกระทบอย่างมากต่อตลาดแรงงานไทยและการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวม จำนวนประชากรวัยทำงานที่ลดลงของประเทศไทยส่งผลให้รายได้เฉลี่ยของบุคคลในประเทศเติบโตลดลง และหากไม่มีการปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร คาดการณ์ว่าจะส่งผลให้การเติบโตของ GDP ต่อหัวลดลงอีก 0.86% ในทศวรรษ 2020 ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานอย่างมาก 

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยของ David E. Bloom and Jocelyn E. Finlay พบว่า การเกิดสังคมชราภาพในเอเชียและไทยเป็นผลจากอัตราการเกิดต่ำ กรณีของไทย อัตราการเกิดต่ำทำให้สัดส่วนแรงงานที่อยู่ในวัยหนุ่สาวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยสัดส่วนแรงงานในวัยทำงานลดลงในอัตรา 0.05% มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 หรือ พ.ศ. 2548 

ซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะ 25 ปีข้างหน้าเฉลี่ยปีละ 0.45% Robert J. Barro and Salai Martin Xavier ใช้ข้อมูล 102 ประเทศทั่วประเทศรวมทั้งไทย พบว่า ปัจจัยด้านประชากรส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกระหว่างปี ค.ศ. 1965-2005 ผลของการลดลงของสัดส่วนแรงงานวัยทำงานมีผลทางลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน