เงินบาทแข็งขึ้น 3 บาทรอบ 1 เดือน ฉุดมูลค่าส่งออกไทยหายไปกว่า 10%

24 ก.ย. 2567 | 02:19 น.

เงินบาทแข็งขึ้น 3 บาทรอบ 1 เดือน ฉุดมูลค่าส่งออกไทยหายไปกว่า 10% ด้านผู้นำเข้าได้รับสินค้าแพงจากการทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน เผยขาดทุนตั้งแต่ยังไม่เริ่มผลิต จี้ธปท.-กนง. พิจาณาดอกเบี้ยตามเฟด

นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วเกินไป โดยมีการแข็งค่าแล้วเกิน 3 บาท 

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ดังกล่าวยิ่งทำให้ผู้ประกอบการทำธุรกิจด้วยความยากลำบาก โดยเฉพาะประเทศไทยที่ภาคการส่งออกเป็นรายได้หลักกว่า 30% 

เมื่อเงินบาทแข็งขึ้นในระดับดังกล่าว จึงส่งผลทำให้มูลค่าที่เคยส่งออกในปัจจุบันลดไปถึง 10% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา    

ขณะที่ผู้นำเข้าเองก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน จากการทำประกันความเสี่ยงค่าเงินบาท เนื่องจากเกรงว่าจะมีต้นทุนสูงตอนเงินบาทอ่อนค่า เมื่อมีการแข็งค่าดังกล่าวจึงทำให้ตั้งตัวไม่ทัน 

ดังนั้น เมื่อนำเข้าสินค้ามาในราคาที่ประกันความเสี่ยงไว้ แล้วนำมาผลิตสินค้าแข่งกับประเทศเพื่อนบ้านยิ่งสู้ไม่ได้ เพราะเงินบาทแข็งค่าขึ้นทำให้มูลค่าส่งออกลดลง

ตอนทำประกันค่าเงินอยู่ที่ระดบ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 33 บาท โดยที่ต้องจ่ายค่าสินค้านำเข้าราคาเดิมก็เป็นการขาดทุนไปแล้ว ยิ่งนำไปผลิตสินค้าก็ขาดทุนทันทีแบบที่ผู้ประกอบการไม่คาดคิดมาก่อน ซึ่งเสถียรภาพของเงินบาทไม่ควรสวิงแบบนี้

นายอภิชิต กล่าวอีกว่า หากปล่อยเป็นแบบนี้ต่อไปจะส่งกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมอย่างรุนแรง ซึ่งปัจจุบันเผชิญปัญหาหลายด้าน ทั้งปัญหาสินค้าราคาถูกจากทุนข้ามชาติถล่มไทย ต้นทุนดอกเบี้ยที่ยังสูง และนโยบายค่าแรง 400 บาทต่อวันที่รัฐบาลกำลังผลักดัน

อย่างไรก็ดี หากถามว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ควรปรับลดนโยบายของไทยลงหรือไม่ มองว่า ธปท. หรือกนง. ควรจะต้องพิจารณาเอง ในเมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดยังปรับลดดอกเบี้ย 0.50% เพราะเกรงว่าจะเกิดปัญหาสภาวะเงินฝืดในอนาคต 

ด้านผู้ประกอบการเองก็ต้องการสินเชื่อเพื่อนำมาเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจ แต่เมื่อดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงก็ไม่สามารถแบกรับภาระได้ไหว